ช่วงเวลาและวิธีการที่เหมาะสมในการให้ลูกหย่านมแม่

ช่วงหย่านมแม่อาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับคุณแม่และเจ้าตัวน้อย เพราะทารกจะหงุดหงิดง่ายและอาจรู้สึกว่าตนใกล้ชิดกับแม่น้อยลงกว่าเดิม แต่หากคุณแม่ศึกษาการทำให้ลูกหย่านมได้อย่างถูกวิธี อาจช่วยให้เจ้าตัวน้อยอารมณ์ดีขึ้นและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือห่างเหินเมื่อไม่ได้อยู่ในอ้อมกอดแม่ขณะดื่มนมเหมือนแต่ก่อน

Stop Breastfeeding

ทารกควรหย่านมแม่เมื่อใด ?

โดยปกติ ทารกควรดื่มนมแม่จนมีอายุประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นคุณแม่จึงค่อย ๆ ให้ทารกรับประทานอาหารชนิดอื่นร่วมกับการดื่มนมแม่ โดยทารกอาจยังคงดื่มนมแม่ต่อไปจนกระทั่งอายุ 1-2 ปี หรือนานกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ทารกแต่ละคนอาจหย่านมในช่วงอายุที่แตกต่างกัน ซึ่งบางรายอาจต้องหย่านมตั้งแต่ยังอายุไม่ถึง 6 เดือน

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้คุณแม่อาจต้องเริ่มให้ลูกน้อยหย่านม ได้แก่

  • ทารกเริ่มสนใจอาหารชนิดอื่นมากกว่านมแม่ หรืออาจถูกสิ่งอื่นดึงดูดความสนใจไปมากกว่าการดื่มนมจากเต้า
  • คุณแม่จำเป็นต้องกลับไปทำงานหรือเดินทางไกล ทำให้ไม่สามารถให้นมลูกน้อยได้ แต่คุณแม่ก็สามารถปั๊มนมเพื่อเก็บสำรองเอาไว้ เพื่อให้คุณพ่อหรือผู้ดูแลทำหน้าที่ป้อนนมให้ทารกแทน
  • คุณแม่มีน้ำนมไม่เพียงพอให้ลูกดื่ม ซึ่งหากรู้สึกกังวลใจว่าอาจมีน้ำนมไม่พอ คุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีเพิ่มน้ำนมอย่างเหมาะสม
  • คุณแม่รู้สึกเจ็บหัวนม หัวนมแตก หรือเจ็บหน้าอกขณะให้นม โดยมักเกิดจากลูกน้อยดูดนมผิดวิธี คุณแม่ที่ประสบปัญหานี้ควรไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อเรียนรู้การจัดท่าทางการดูดนมของลูกให้ถูกต้อง
  • คุณแม่ที่เคยมีประวัติแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดอาจต้องงดให้นมทารกอีกคนก่อนวางแผนตั้งครรภ์ทารกคนต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ทั้งนี้ คุณแม่ที่มีปัญหาน้ำนมไม่พอหรือเจ็บหัวนมอาจไม่จำเป็นต้องบังคับให้ลูกหย่านม เพราะจะสามารถกลับมาให้นมลูกได้ตามปกติหากได้รับการรักษาดูแลหรือได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง

เคล็ดลับในการช่วยให้ลูกหย่านมแม่อย่างถูกวิธี

คุณแม่ควรเริ่มให้ลูกหย่านมอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • ลองให้ลูกดื่มนมจากขวดหรือแก้วแล้วสังเกตปฏิกิริยา หากเด็กไม่แสดงท่าทีขัดขืนอาจเป็นสัญญาณว่าลูกพร้อมสำหรับการหย่านมแล้ว
  • ลดความถี่ในการให้นมจากเต้าเหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยสัปดาห์แรกให้ลดการให้นมลง 1 ครั้ง สัปดาห์ต่อมาให้ลดการให้นมลง 2 ครั้ง แล้วลดจำนวนครั้งลงต่อไปเช่นนี้เรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกน้อยค่อย ๆ ปรับตัวและเรียนรู้การดื่มนมจากขวด อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายของคุณแม่ลดการผลิตน้ำนมลงอย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ทำให้เต้านมคัดตึงหรืออักเสบ
  • ลดเวลาในการให้นมจากเต้าลง เช่น จากเคยให้นม 10 นาทีลดลงเหลือเพียง 5 นาที เป็นต้น แล้วให้ลูกน้อยรับประทานอาหารเสริมสำหรับเด็กหรือดื่มนมจากขวดเพิ่มแทน
  • เลื่อนเวลาในการให้นม เช่น จากที่เคยให้นมช่วงเย็นก็เลื่อนไปเป็นช่วงก่อนนอน และพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กด้วยกิจกรรมอื่น ๆ เป็นต้น โดยวิธีนี้เหมาะสำหรับเด็กที่โตพอจะรับฟังเหตุผลของพ่อแม่ได้
  • ในช่วงนี้พ่อแม่ควรกอดลูกให้บ่อยกว่าปกติ พยายามจ้องตาขณะสื่อสารกัน และใช้เวลาร่วมกับลูกมากขึ้น เพื่อให้เด็กอารมณ์ดีและรู้สึกว่าการหย่านมไม่ได้ทำให้ตนใกล้ชิดกับพ่อแม่น้อยลง

ทำไมลูกไม่ยอมหย่านมแม่ ?

หากปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นแล้วลูกยังหย่านมแม่ไม่ได้ อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • ทารกกำลังอยู่ในช่วงปรับตัวจากการดื่มนมจากเต้าเป็นการดื่มนมจากขวดนม แก้ว หรือนมกล่อง
  • ทารกกำลังป่วย เช่น มีไข้ หรือเป็นหวัด เป็นต้น เพราะเด็กอาจต้องการดื่มนมจากเต้ามากกว่า เพื่อช่วยให้ตนเองรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย
  • คุณแม่ต้องย้ายที่อยู่อาศัยหรือเกิดการหย่าร้าง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการหย่านมแม่ได้

หากคาดว่าทารกไม่ยอมหย่านมเพราะเหตุผลข้างต้น คุณแม่ไม่ควรบังคับให้ลูกน้อยหย่านมทันที แต่ควรเว้นระยะไปสักพัก เพื่อรอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมในอนาคต