ซินไบโอติก (Synbiotic) คือ การนำโพรไบโอติก (Probiotics) และพรีไบโอติก (Prebiotics) ผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งโพรไบโอติกนั้นเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ ส่วนพรีไบโอติกเป็นเส้นใยอาหารที่ร่างกายคนเราไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร แต่เป็นแหล่งอาหารของโพรไบโอติก ดังนั้น การรับประทานซินไบโอติกจึงอาจช่วยให้โพรไบโอติกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว โพรไบโอติกและพรีไบโอติกจะพบได้จากแหล่งอาหารคนละประเภท แต่การรับประทานอาหารที่เรียกว่าซินไบโอติกจะช่วยให้ได้รับทั้ง 2 อย่างไปพร้อมกัน หลายคนเชื่อกันว่าโพรไบโอติกช่วยให้ร่างกายขับถ่ายได้ดีขึ้น ซึ่งในงานวิจัยหลายชิ้นก็พบว่าเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้มีส่วนช่วยในการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ภายในลำไส้และเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร รวมทั้งอาจส่งผลให้สุขภาพด้านอื่น ๆ ดีขึ้นด้วย
ทำไม ซินไบโอติก จึงมีประโยชน์ ?
ภายในลำไส้ของมนุษย์นั้นมีแบคทีเรียหรือเชื้อจุลินทรีย์อาศัยอยู่มากถึง 300-500 ชนิด ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคลตามอาหารที่รับประทาน สิ่งแวดล้อม และกรรมพันธุ์ โดยจุลินทรีย์เหล่านี้มีทั้งชนิดไม่ดี และชนิดที่มีประโยชน์นั่นก็คือโพรไบโอติก
จุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ดีนั้นอาจก่อให้เกิดโรคอย่างลำไส้ติดเชื้อ ร่างกายจึงจำเป็นต้องมีจุลินทรีย์ชนิดดีที่ทำหน้าที่เสมือนทหารช่วยปกป้องผนังลำไส้ นอกจากนี้ จุลินทรีย์ชนิดดียังช่วยผลิตวิตามินบางชนิดให้ร่างกาย จึงอาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการของโรคบางโรค และอาจช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายได้ แต่หากจุลินทรีย์ชนิดดีหรือโพรไบโอติกลดลงจะส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารเสียสมดุลและอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย และเจ็บป่วยได้ง่าย เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อโพรไบโอติกได้รับพรีไบโอติกเป็นอาหารไปพร้อมกันในคราวเดียว นั่นก็คือซินไบโอติก จึงคาดว่าน่าจะมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายและเสริมสร้างสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น
ซินไบโอติก โพรไบโอติก เลือกแบบไหนถึงจะดี ?
เดิมทีการจะได้รับโพรไบโอติกจำเป็นต้องรับประทานจากอาหารหมักดองบางชนิด อย่างนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต ส่วนพรีไบโอติกนั้นได้รับจากผักและผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง อย่างฝรั่ง ส้ม และแอปเปิ้ล โดยต้องรับประทานอาหารทั้ง 2 ประเภทเพื่อให้พรีไบโอติกนั้นสามารถเสริมการทำงานโพรไบโอติกได้ แต่ซินไบโอติกนั้นจะเป็นการนำทั้งโพรไบโอติกและพรีไบโอติกมารวมกันในคราวเดียว ซึ่งอาจช่วยให้ปริมาณจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีประโยชน์ในร่างกายสูงขึ้นจากการรับประทานซินไบโอติกเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ สายพันธุ์ของจุลินทรีย์ก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยทั่วไปสายพันธุ์ในผลิตภัณฑ์อาหารที่พบได้บ่อยที่สุด คือ แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และบิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) แต่จุลินทรีย์ทั้ง 2 ชนิดนี้มักไม่ทนต่อความร้อนและลดจำนวนลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ทั้ง 2 ชนิดจะต้องอยู้ในสภาวะแวดล้อมที่อุณหภูมิต่ำหรือเย็นอยู่เสมอ
ในปัจจุบันจึงได้มีการนำจุลินทรีย์สายพันธุ์ บาซิลลัส โคแอกกูแลน (Bacillus Coagulans) เข้ามาทำเป็นซินไบโอติก เพราะเป็นจุลินทรีย์ที่มีความแข็งแรงทนทานต่อความร้อนและกรดภายในทางเดินอาหารได้ดี จึงอาจมีอายุที่ยืนยาวกว่าโพรไบโอติกสายพันธุ์อื่น ๆ ในท้องตลาด ดังนั้น การบริโภคโพรไบโอติกทีมีจุลินทรีย์สายพันธุ์บาซิลลัส โคแอกกูแลนหรือชนิดอื่น ๆ ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกและในทางเดินอาหาร ก็อาจช่วยให้ร่างกายได้ประโยชน์สูงกว่าการได้รับโพรไบโอติกแบบเดิม โดยปกติแล้วจุลินทรีย์บาซิลลัส โคแอกกูแลนสามารถพบได้ในอาหารทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นโยเกิร์ต กิมจิ ของหมักดองบางชนิด หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผลิตมาโดยเฉพาะ
ในปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณของซินไบโอติกและโพรไบโอติกหลายสายพันธุ์ รวมถึงบาซิลลัส โคแอกกูแลน ซึ่งพบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้าน ดังนี้
ระบบขับถ่ายที่ดีขึ้น
หลายคนทราบกันดีว่าโพรไบโอติกมีส่วนช่วยในการขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็นอาการท้องผูกหรือท้องเสีย โดยมีการศึกษาที่รวบรวมการทดลองสรรพคุณของโพรไบโอติกกับโรคในทางเดินอาหาร เช่น ภาวะไม่ทนทานต่อแลคโตส โรคลำไส้แปรปรวน และโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น ผลพบว่าการใช้โพรไบโอติกต่อเนื่องกันในระยะหลายสัปดาห์อาจช่วยบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงของอาการท้องเสีย ท้องอืด และปวดท้องที่เกิดจากโรคเหล่านี้ได้
สำหรับคุณสมบัติบรรเทาอาการท้องผูกของโพรไบโอติก มีงานวิจัยที่ศึกษาประโยชน์ของโพรไบโอติกต่ออาการท้องผูกในเด็ก พบว่าโพรไบโอติกช่วยเพิ่มความถี่ในการขับถ่ายของเด็กได้ ขณะเดียวกัน ยังมีการศึกษาอื่น ๆ รายงานว่าโพรไบโอติกอาจช่วยรักษาและลดความเสี่ยงในการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งลำไส้ แต่ผลของการรักษาอาจแตกต่างไปตามระยะเวลา ปริมาณ และชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้
เสริมภูมิคุ้มกัน
ระบบภูมิคุ้มกันเป็นเสมือนป้อมปราการช่วยป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อ จากงานวิจัยหลายงานที่ศึกษาความสัมพันธ์ของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายกับการได้รับโพรไบโอติกสายพันธุ์ Bacillus coagulans GBI-30, 6086 (GanedenBC30) กับพรีไบโอติก พบว่าหากร่างกายได้รับในปริมาณที่เหมาะสม อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิกันให้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดได้ อีกทั้งการศึกษาบางชิ้นยังพบว่า การบริโภคโพรไบโอติกและพรีไบโอติกอาจมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันหลังจากรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย
เพิ่มการดูดซึมสารอาหาร
โพรไบโอติกและพรีไบโอติกอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ทำงานที่ต้องใช้แรง หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะมีการศึกษาที่พบว่าจุลินทรีย์สายพันธุ์ Bacillus coagulans GBI-30, 6086 (GanedenBC30) อาจมีส่วนช่วยในการดูดซึมและนำโปรตีนไปใช้ได้ดีขึ้น จึงอาจส่งผลต่อการฟื้นฟูร่างกาย ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาการดูดซึมโปรตีนระหว่างผงโปรตีนธรรมดากับผงโปรตีนที่มีโพรไบโอติก พบว่าผงโปรตีนที่มีโพรไบโอติกช่วยเพิ่มระดับกรดอะมิโน ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของโปรตีนสูงกว่าผงโปรตีนแบบปกติ
อย่างไรก็ตาม โพรไบโอติกหรือพรีไบโอติกเหล่านี้ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต เพราะงานวิจัยแต่ละชิ้นมีระยะเวลาในการทดลอง ปริมาณและชนิดของจุลินทรีย์ที่แตกต่างกัน อีกทั้งบางงานมีผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวนน้อย บางงานทำวิจัยเฉพาะในห้องปฏิบัติการ อีกทั้งมีระยะเวลาการศึกษาที่จำกัด จึงอาจส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ของงานวิจัยได้ ดังนั้น การศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้จุลินทรีย์เหล่านี้จึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะการใช้ในระยะยาว
นอกจากการเลือกสายพันธุ์ของจุลินทรีย์แล้ว ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่อาจช่วยให้ผลิตภัณฑ์อาหารซินไบโอติกหรือโพรไบโอติกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย เช่น
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้การรับรองความปลอดภัย
- รับประทานซินไบโอติกหรือโพรไบโอติกอย่างต่อเนื่องในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม
- รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกสูง อย่างกระเทียม หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย หรือแอปเปิ้ล เพราะพรีโอไบติกจะช่วยเสริมการทำงานของโพรไบโอติกได้ดี อีกทั้งผักและผลไม้ยังมีวิตามินต่าง ๆ ที่ช่วยให้สุขภาพด้านอื่นดียิ่งขึ้น
- ควรศึกษาข้อจำกัดของสารอาหารประเภทนี้ เพราะแม้ว่าซินไบโอติกหรือโพรไบโอติกส่วนใหญ่จะปลอดภัยในการใช้ แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดใดก็ตาม
- เก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การรับประทานซินไบโอติกเป็นตัวช่วยเพิ่มจำนวนและเสริมการทำงานของจุลินทรีย์ภายในลำไส้เมื่อรับประทานอย่างต่อเนื่องในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสมเท่านั้น ไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรค แต่อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคหรือใช้เป็นส่วนเสริมจากการรักษาโรคหรือภาวะบางอย่างได้ สิ่งสำคัญ คือ การรับประทานอาหารที่หลากหลาย มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หากไม่แน่ใจว่า ผลิตภัณฑ์อาหารซินไบโอติกจะเป็นประโยชน์หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อรับคำแนะนำเป็นรายบุคคลต่อไป