ดนตรีบำบัด ส่งผลทางการรักษาได้จริงหรือ

ดนตรีบำบัด เป็นศาสตร์ในการบำบัดแขนงหนึ่งที่เชื่อว่า การใช้เสียงเพลงและท่วงทำนองดนตรีมาบรรเลงขับกล่อมจะทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย หรือกระทั่งอาจส่งผลในทางบำบัดรักษาจิตใจและสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ด้วย

ดนตรีบำบัด

ดนตรีและเสียงเพลงกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนมานาน บางคนฟังเพลงแล้วเกิดความรู้สึกสนุกสนานมีชีวิตชีวา บางคนฟังเพลงแล้วเกิดความผ่อนคลาย หรือบางคนก็ฟังเพลงแล้วอาจทำให้นึกย้อนไปถึงช่วงเวลาเก่า ๆ ได้ นักบำบัดหลายคนจึงทำการทดลองนำเสียงดนตรีมาใช้ในเชิงการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการต่าง ๆ บ้าง เช่น ใช้เสียงเพลงหันเหความสนใจจากคุณแม่ที่กำลังปวดท้องคลอด หรือเปิดเพลงให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายฟัง เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายและบรรเทาจากความรู้สึกเจ็บปวด

ความเชื่อและข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

ดนตรีบำบัด กับ การบำบัดภาวะซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้า เป็นสภาวะทางอารมณ์ที่บ่งบอกถึงอาการป่วยทางจิตใจ ซึ่งเป็นมากกว่าความเศร้าเสียใจ แต่เป็นความรู้สึกซึมเศร้าที่คงอยู่ ไม่ดีขึ้น หรือไม่หายไป โดยที่ความรู้สึกหรืออาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาจรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้ เช่น รู้สึกโศกเศร้า ว่างเปล่า สิ้นหวัง เหน็ดเหนื่อย หมดแรง รู้สึกผิด วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย ปวดหัว ปวดเมื่อย ไม่อยากอาหาร ขาดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ หรือกระทั่งมีความคิดฆ่าตัวตาย

ในแง่ของการบำบัด ดนตรีหรือการแสดงดนตรีสด อาจกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวและตอบสนองต่อเสียงเพลงเหล่านั้น ซึ่งอาจมีส่วนช่วยบรรเทาหรือช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับภาวะซึมเศร้าได้ดีขึ้น รวมไปถึงการบรรเทาความเจ็บปวด และอาจมีส่วนในการฟื้นฟูร่างกายจากอาการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นการปรับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

แต่เมื่อวิเคราะห์วิจัยตามหลักวิทยาศาสตร์ มีงานทดลองที่ใช้ดนตรีบำบัดในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) แล้วพบว่า ผลจากการทำแบบประเมินอาการซึมเศร้า (Montgomery and Asberg Depression Rating Scale: MADRS) ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ดนตรีบำบัด กับกลุ่มผู้ป่วยที่บำบัดด้วยการให้คำปรึกษาเพียงอย่างเดียวนั้น ทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย และความแตกต่างที่มีก็ไม่มีนัยสำคัญที่มากพอจะชี้ชัดได้ว่าดนตรีบำบัดมีผลทางการรักษาต่ออาการซึมเศร้าได้จริง

ดนตรีบำบัดกับการบำบัดความทุกข์ ความเครียด ความวิตกกังวล

ความทุกข์ ความเครียด และความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากอาการเจ็บป่วยและการเข้ารับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ไม่มีความสุข เป็นทุกข์ในระหว่างการรักษา ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่ออาการป่วยที่เผชิญอยู่ และอาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการรักษาของแพทย์ได้

มีความเชื่อที่ว่า การฟังเพลงและท่วงทำนองดนตรีต่าง ๆ อาจมีอิทธิพลต่อผู้ป่วย ด้วยการช่วยบรรเทาความตึงเครียด ความวิตกกังวล ความทุกข์ และความเจ็บปวดในขณะเข้ารับการการรักษาได้

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการทดลองถึงประสิทธิผลของการใช้ดนตรีบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความผ่อนคลายจากภาวะต่าง ๆ หนึ่งในการทดลองแบบสุ่มพบว่า เมื่อนำการแสดงดนตรีสดตามทฤษฎีการปรับความคิดและพฤติกรรมเข้ามาใช้ในกลุ่มเด็กเล็กที่ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน พ่อแม่ของเด็กในกลุ่มทดลองที่ใช้ดนตรีบำบัดรายงานว่าลูกมีความทุกข์และความตึงเครียดในขณะฉีดวัคซีนน้อยลงกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา ในขณะที่พ่อแม่เด็กในกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้ใช้เทคนิคดนตรีบำบัดรายงานว่าเด็กมีความทุกข์ทรมานเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จึงอาจเป็นไปได้ว่าการบำบัดด้วยการแสดงดนตรีสดมีประสิทธิผลที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กเล็กและผู้ปกครองในระหว่างขั้นตอนการฉีดวัคซีน

ดนตรีบำบัดกับภาวะความผิดปกติทางพัฒนาการ

ภาวะความผิดปกติทางพัฒนาการ เป็นภาวะอาการป่วยที่มักพบได้ในวัยเด็ก โดยเด็กอาจมีความผิดปกติด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลาย ๆ ด้าน ซึ่งทำให้เด็กไม่สามารถมีพัฒนาการที่เป็นไปตามวัยได้อย่างเหมาะสม เช่น ออทิสติก สมาธิสั้น เรียนรู้ช้า บกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นต้น ซึ่งอาการของเด็กในกลุ่มเหล่านี้ สามารถรักษาได้ยาก เด็กควรได้รับการบำบัดรักษาและปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสมด้วยวิธีต่าง ๆ

ส่วนบทบาทของดนตรีบำบัดในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางพัฒนาการนั้น ผู้ป่วยออทิสติกมักมีความสนใจและตอบสนองต่อเสียงดนตรีอยู่แล้ว ดังนั้น การใช้ดนตรีจึงอาจช่วยกระตุ้นทักษะการสื่อสารของเด็ก ทั้งทางการพูด การใช้ท่าทาง และอาจเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้พัฒนาในด้านอื่น ๆ ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีงานค้นคว้าที่มีกรณีศึกษาเป็นกลุ่มพ่อแม่และเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้หรือเด็กเรียนรู้ช้าพบว่า เมื่อดนตรีบำบัดเข้ามาใช้ส่งเสริมในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งพ่อแม่และตัวเด็กเองก็มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน แต่ปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายของเด็กยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า ดนตรีบำบัดมีอิทธิพลส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กที่มีภาวะความผิดปกติทางพัฒนาการได้ทั้งหมด

ดนตรีบำบัดกับการรักษาภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อม เป็นอาการที่เกิดจากการเจ็บป่วยซึ่งส่งผลกระทบต่อสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน จนทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการคิด ตัดสินใจ ควบคุมอารมณ์ หรือสั่งการให้ร่างกายทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยที่ภาวะสมองเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือฟื้นฟูสมองส่วนที่เสียหายให้กลับมาเป็นปกติได้

ดนตรีบำบัดถูกคาดว่าอาจมีผลต่อสมอง ซึ่งอาจช่วยลดอาการต่าง ๆ ของภาวะสมองเสื่อมลงได้ รวมไปถึงลดพฤติกรรมก้าวร้าว กระวนกระวาย ปรับอารมณ์ และช่วยให้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

ในงานวิจัย มีการศึกษาถึงประสิทธิผลของดนตรีบำบัดต่อภาวะสมองเสื่อมมากมาย ทั้งในด้านอารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันค้นพบว่า ดนตรีบำบัดมีผลต่อการปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นและลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลงได้ในชั่วระยะเวลาสั้น ๆ แต่ยังไม่มีงานค้นคว้าใดที่มีหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจนถึงผลทางการรักษาในระยะยาวจากการรักษาด้วยดนตรีบำบัด

อีกหนึ่งในงานวิจัยที่ทดลองใช้ดนตรีบำบัดเพื่อหาประสิทธิผลของดนตรีบำบัดต่อสมองส่วนการรู้คิดในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีระดับความรุนแรงของอาการสมองเสื่อมแตกต่างกันไป ผลการทดสอบพบว่า ผู้ป่วยมีอารมณ์ดีขึ้นหลังจากได้รับดนตรีบำบัดแบบกลุ่ม แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังรับการบำบัด และการแสดงออกทางอารมณ์ของผู้ป่วยก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ดนตรีบำบัดกับการบรรเทาความเจ็บปวด

เมื่อมีปัญหาสุขภาพ หรือมีปัจจัยที่สำคัญทางสุขภาพ ผู้ป่วยมากมายต้องเผชิญกับอาการเจ็บปวดอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ในเชิงการรักษา แพทย์อาจให้ยาระงับหรือบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยอาจมีอาการป่วยที่เรื้อรังและสร้างความเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลกระทบต่อจิตใจร่วมด้วย สิ่งเหล่านี้อาจเป็นที่มาของการค้นหาวิธีการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยหลุดพ้นหรือบรรเทาจากความเจ็บปวดลง และหนึ่งในวิธีการที่นักบำบัดนำมาทดลองใช้ คือ ดนตรีบำบัดนั่นเอง

นักบำบัดคาดว่า ดนตรีเปรียบเสมือนเครื่องมือทางการรักษาหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลช่วยให้ผู้ป่วยที่กำลังกระวนกระวาย ทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด ได้หลุดพ้นออกไปจากจุดนั้นด้วยการผ่อนคลายและนึกถึงเรื่องอื่น ๆ ในขณะที่ได้ยินเสียงดนตรีขับกล่อม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีงานค้นคว้าที่ใช้ดนตรีบำบัดในขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง พบว่าดนตรีบำบัดจะมีประสิทธิผลทางการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะตัวของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย เช่น มุมมองที่มีต่อชีวิตของผู้ป่วย ความพร้อมหรือการยอมรับที่จะแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

ดนตรีบำบัดกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

คุณภาพชีวิต คือ สภาวะความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ และด้านต่าง ๆ ที่สำคัญในการดำเนินชีวิต สุขภาพเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะไม่ว่าใครก็ย่อมต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ป่วยที่ต้องทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ และกำลังเข้ารับการรักษา

ดนตรีบำบัดถูกเชื่อว่าอาจมีส่วนช่วยในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ด้วยการส่งเสริมความรู้สึกผ่อนคลาย กระตุ้นอารมณ์และสภาพจิตใจ จนอาจส่งผลต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายจากอาการป่วยได้ด้วย

ดังนั้น จึงมีนักวิจัยพยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการใช้ดนตรีบำบัดในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และมีงานวิจัยหนึ่งได้ทดลองใช้ดนตรีบำบัดร่วมกับการบำบัดด้วยการออกกำลังแบบแอโรบิกในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อไฟโบรมัยอัลเจีย ซึ่งผลก็คือ การบำบัดด้วยการออกกำลังแบบแอโรบิกร่วมกับการใช้ดนตรีบำบัดมีประสิทธิผลกับผู้ป่วยสูงกว่าการบำบัดด้วยการออกกำลังแบบแอโรบิกเพียงอย่างเดียว ซึ่งดนตรีบำบัดอาจนำไปสู่การปรับปรุงสมดุลและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในอนาคตได้อีกด้วย

ดนตรีบำบัด สามารถนำมารักษาเยียวยาผู้ป่วยได้หรือไม่

ดนตรีบำบัดเป็นการนำศาสตร์แห่งศิลปะมาประยุกต์ใช้ในเชิงการรักษา ซึ่งนับเป็นหัวข้อการค้นคว้าที่น่าสนใจถึงประสิทธิผลทางการรักษา และผลกระทบใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าดนตรีและเสียงเพลงสามารถส่งผลทางการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือฟื้นฟูสภาวะร่างกายหรือจิตใจได้จริง แม้ดนตรีบำบัดจะเป็นศาสตร์การบำบัดที่เป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง และถูกนำมาใช้บ้างแล้วในสถานพยาบาลต่างประเทศบางแห่ง แต่ในส่วนของประเทศไทย ยังคงไม่มีการนำมาใช้ประกอบการรักษาอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า อาจมีงานวิจัยค้นคว้าที่สามารถยืนยันถึงประโยชน์และประสิทธิผลของดนตรีบำบัดได้อย่างชัดเจนในอนาคตอันใกล้ต่อไป