ประโยชน์ของแอลกอฮอล์ต่อหัวใจและร่างกาย

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยชี้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ในทางกลับกัน เครื่องดื่มอย่างเหล้า เบียร์ หรือไวน์ก็อยู่ในวิถีชีวิตมนุษย์มานาน เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานเลี้ยงสังสรรค์ ช่วยเพิ่มสีสันและความสนุกให้กับผู้ดื่มอยู่ไม่น้อย แม้ว่าจะทำให้มึนเมา แต่ยังมีการศึกษาที่พูดถึงประโยชน์ของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพหัวใจไว้อยู่บ้าง

แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์โดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเป็นประสาทที่ควบคุมความคิด การเคลื่อนไหว อารมณ์ ความรู้สึก ที่ส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมรูปแบบต่าง ๆ มีฤทธิ์กดประสาท หากดื่มเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้ผู้ดื่มมีอาการง่วงซึม หรือขาดสติได้ แต่หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ ทำให้สนุกสนานอารมณ์ดี และช่วยให้เราลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย บทความได้รวมเอาประโยชน์ของแอลกอฮอล์ต่อหัวใจและสุขภาพ ความเสี่ยงจากการดื่ม รวมไปถึงวิธีการดื่มอย่างเหมาะสมมาให้ได้อ่านกัน

Benefits of Alcohol

แอลกอฮอล์ส่งผลต่อหัวใจ หลอดเลือด และร่างกายอย่างไร ?

แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม คือ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) หรือ เอทานอล (Ethanol) เป็นสารที่ได้มาจากการแปรรูปด้วยการกลั่นและหมักจากข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือผลไม้ ส่วนดีกรีหรือความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มแต่ละประเภทก็แตกต่างกันไป โดยความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเบียร์ อยู่ที่ประมาณ 5% ไวน์ประมาณ 12% และสุรากลั่นประมาณ 40%

แอลกอฮอล์ที่เราดื่มจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านเยื่อบุบริเวณช่องปาก ลำคอ และมากที่สุดที่ผนังกระเพาะอาหาร และจะเริ่มส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดความรู้สึกและพฤติกรรมที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในเวลาเฉลี่ยประมาณ 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ระยะเวลาในการแสดงอาการอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณในการดื่มและความสามารถในการดูดซึมสารของร่างกายแต่ละบุคคล

ประโยชน์ของแอลกอฮอล์

การศึกษาหลายชิ้นพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลดีต่อทั้งร่างกายและหัวใจ ดังนี้

  1. ป้องกันโรคหัวใจ

เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย แอลกอฮอล์จะถูกลำเลียงไปตามกระแสเลือด กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจ จากการวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา (Harvard T.H. Chan School of Public Health) พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะหัวใจขาดเลือดกะทันหัน โรคหลอดเลือดในสมองตีบตัน โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ได้ถึง 25-40% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ 

นอกจากนี้ แอลกอฮอล์อาจช่วยเพิ่มระดับไขมันดี หรือ HDL (High-density Lipoproteinl) ในเลือด ซึ่งจะลดระดับและแปรสภาพไขมันชนิดเลว LDL ในผนังเซลล์เลือดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ แอลกอฮอล์ยังช่วยลดการแข็งตัวและความเข้มข้นของเลือด ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ จึงส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภาวะหัวใจขาดเลือดกะทันหัน และโรคหลอดเลือดในสมองตีบตันลดลง

  1. ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย โดยภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ภาวะดื้อต่ออินซูลินจะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง จากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนดื่มไวน์ขาว 250 มิลลิลิตรต่อวันติดต่อกัน 6 สัปดาห์ อีกกลุ่มหนึ่งดื่มน้ำองุ่นขาวในปริมาณและระยะเวลาเดียวกัน พบว่ากลุ่มที่ดื่มไวน์ขาวมีการตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น จึงอาจลดความเสี่ยงของภาวะดื้อต่ออินซูลินและโรคเบาหวานลงได้ นอกจากนี้ งานวิจัยขนาดใหญ่อีกชิ้นก็พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณดังกล่าวอาจลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน

  1. ดีต่อใจ

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวเลือกสำหรับหลายคน เมื่อต้องเผชิญกับความเครียดหรือความเศร้า ซึ่งหลายครั้งที่เครื่องดื่มเหล่านี้ทำหน้าเป็นเพื่อนคอยปลอบใจได้เป็นอย่างดี เพราะว่าฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้เกิดอาการมึนเมา ลดประสาทการรับรู้ จึงอาจช่วยคลายความรู้สึกเหล่านั้นลงได้ชั่วคราว สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการสังสรรค์คงทราบดีว่าความมึนเมานี้สามารถเพิ่มความสนุกในการสนทนาและการเข้าสังคมได้ไม่น้อย ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ รวมไปถึงโอกาสทางสังคมในด้านอื่น ๆ ด้วย

แต่อย่างที่รู้กันว่าการดื่มในปริมาณมากส่งผลให้ขาดสติสัมปชัญญะและความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุ การสูญเสีย หรืออาชญากรรมได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องเผชิญความเครียดหรือความเศร้าเป็นประจำอาจมีแนวโน้มที่จะได้รับผลเสียมากกว่าผลดีจากการดื่มสุรา

อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยในช่วงหลังพบว่าประโยชน์ของแอลกอฮอล์เหล่านี้อาจแตกต่างกันไปตามพันธุกรรม โรค หรือพฤติกรรมอื่นในชีวิตประจำวันของแต่ละคน

ดื่มแอลกอฮอล์อย่างไรให้เกิดผลดี

ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่พอเหมาะพอดีซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจที่แนะนำ คือ ผู้ชายควรดื่มไม่เกิน 2 หน่วย และผู้หญิงไม่เกิน 1 หน่วยบริโภคต่อวัน โดยปริมาณบริโภคต่อหน่วยจำแนกตามประเภทของเครื่องดื่ม คือ

  • เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5% = 360 มิลลิลิตร
  • ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 12% = 150 มิลลิลิตร
  • สุราที่มีแอลกอฮอล์ 40% = 45 มิลลิลิตร

คนบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการได้รับโทษมากกว่าประโยชน์จากแอลกอฮอล์ จึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกลุ่มดังกล่าว ได้แก่

  • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี
  • ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอ มีโรคประจำตัว และมีภูมิคุ้มกันต่ำ
  • ผู้ที่อยู่ในระหว่างการพักรักษาตัว หรือต้องใช้ยารักษาอาการป่วย
  • ผู้ที่เคยผ่านการบำบัดการเสพติดสุราและสารเสพติด
  • ผู้ที่ไม่สามารถควบคุมตนเองและไม่สามารถควบคุมปริมาณในการดื่มได้
  • ผู้ที่ต้องทำงานด้วยการใช้ทักษะและสมาธิ รวมทั้งต้องขับขี่ยานพาหนะ

ประโยชน์ของแอลกอฮอล์ที่มาพร้อมกับโทษ

แม้จะมีผลวิจัยมากมายถึงประโยชน์ในบางด้านของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่แอลกอฮอล์ก็สามารถส่งผลในทางลบได้ หากดื่มมากเกินไปอาจทำให้ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ วู่วาม เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมทางเพศ การทะเลาะวิวาท และการเกิดอุบัติเหตุ

จากการศึกษาพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลดีต่อระบบเลือดและหัวใจในผู้ชายช่วงวัย 60 ปีที่ดื่มประมาณวันละ 1 หน่วยบริโภค แต่ในผู้หญิงวัยเดียวกันกลับพบความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่า และการดื่มแอลกอฮอล์ในผู้ชายช่วงวัย 30 ปี กลับเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการที่ไม่สามารถควบคุมสติได้มากกว่าผลดีที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ ดังนั้น การจะตัดสินใจดื่มแอลกอฮอล์ ควรคำนึงถึงข้อจำกัดของร่างกายและผลกระทบในหลาย ๆ ด้านที่อาจเกิดขึ้นตามมาด้วย

ส่วนการบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานานหรือสม่ำเสมอ นอกจากจะเสี่ยงต่อการเสพติดแอลกอฮอล์หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ยังส่งผลกระทบต่อระบบประสาทด้านความคิด ความจำและการรับรู้ อาจทำให้สมองเสื่อม ความจำเลอะเลือน รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพอย่างภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม โลหิตจาง ภาวะไขมันพอกตับ ตับแข็ง ตับอักเสบ มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม เป็นต้น

เช่นเดียวกันกับการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ หากดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ก็อาจเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวม แต่หากบริโภคเกินพอดี ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายอย่างเลี่ยงไม่ได้ นักดื่มทั้งหลายจึงควรรู้รอบถึงผลและภัยของแอลกอฮอล์ และรู้จักการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างมีสติ