Dulaglutide

Dulaglutide

Dulaglutide (ดูลากลูไทด์) เป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ออกฤทธิ์ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แพทย์มักให้ยานี้ในกรณีที่ยาชนิดอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผล ทั้งนี้ ไม่สามารถนำยาดูลากลูไทด์ มาใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจใช้ยานี้ในการรักษาความผิดปกติอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

Dulaglutide

เกี่ยวกับยา Dulaglutide

กลุ่มยา ยาเบาหวาน (Antidiabetic Agents)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ใช้รักษาโรคเบาหวาน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์
และผู้ให้นมบุตร
Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิด
ความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์
หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์
ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้สามารถส่งผ่านทางน้ำนมและเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่ดังนั้น ผู้ที่ตั้งครรภ์ กำลังวางแผนตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา

คำเตือนในการใช้ยา Dulaglutide

การใช้ยาดูลากลูไทด์มีข้อควรระวัง ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติการแพ้ยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ เพราะยานี้อาจมีส่วนผสมของสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อมารับประทานเอง สมุนไพร รวมถึงอาหารเสริมที่ใช้เป็นประจำ
  • แจ้งให้แพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัวและประวัติการรักษา โดยเฉพาะโรคตับอ่อนอักเสบ โรคตับ โรคไต โรคกรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้ รวมทั้งผู้ที่กำลังใช้อินซูลินในการรักษาโรคเบาหวาน
  • ไม่ควรใช้ยานี้ หากตนเองหรือครอบครัวได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งของต่อมไทรอยด์ชนิดเมดูลลารี ภาวะน้้าตาลในเลือดสูงชนิด Diabetic ketoacidosis และโรค Multiple Endocrine Neoplasia syndrome type 2 หากพบว่ามีอาการผิดปกติของเนื้องอกต่อมไทรอยด์ อย่างมีก้อนบริเวณลำคอ คอบวม กลืนลำบาก เสียงเปลี่ยน หายใจลำบาก ควรแจ้งแพทย์ทันที
  • ยา Dulaglutide อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติได้ หากเกิดสัญญาณของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อย่าง ปัสสาวะบ่อย การมองเห็นเปลี่ยนไป ปวดศีรษะ และเหนื่อยล้า หรือหากมีสัญญาณของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อย่างเวียนศีรษะ หิว เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน หรือตัวสั่น ควรไปพบแพทย์หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามคำแนะนำของแพทย์ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพกลูกอม ผลไม้อบแห้ง หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสำหรับรับประทานเมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ นอกจากนี้ ในผู้ที่เป็นเบาหวานแพทย์อาจสั่งจ่ายเข็มฉีดยากลูคากอนสำเร็จรูปกรณีเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงและไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้
  • ยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะ ง่วงซึม ตาพร่า เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดไม่ปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ และหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความตื่นตัวหรือความแม่นยำ อย่างงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรืองานบนที่สูงซึ่งอาจเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้
  • แจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการใช้ยา หากมีสัญญาณของภาวะระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ อย่างรู้สึกไม่สบาย เครียด เพิ่งดื่มแอลกอฮอล์ หรือลืมรับประทานอาหาร เพื่อให้แพทย์ช่วยปรับปริมาณยา และแผนการรักษาให้ตรงกับความต้องการของร่างกาย 
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากแพทย์
  • การตั้งครรภ์อาจส่งผลให้อาการของโรคเบาหวานรุนแรงขึ้น ผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยง
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้ส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้หรือไม่
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้ส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้หรือไม่

ปริมาณการใช้ยา Dulaglutide

ปริมาณการใช้ยาดูลากลูไทด์ อาจแตกต่างกันไปตามอาการของโรคและการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดปริมาณในการใช้ยา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคเบาหวานชนิดที่ 2

ตัวอย่างการใช้ยาดูลากลูไทด์ในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ผู้ใหญ่ ระยะแรกใช้ยาดูลากลูไทด์ ปริมาณ 0.75 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนึ่งครั้ง/สัปดาห์ หากค่าน้ำตาลในเลือดยังไม่ปกติ อาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 1.5 มิลลิกรัม/สัปดาห์ 

การใช้ยา Dulaglutide

ยาดูลากลูไทด์มีวิธีการใช้ ดังนี้

  • อ่านใบกำกับยาโดยละเอียดก่อนใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยให้ถามแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น
  • ตรวจสอบยาก่อนใช้ทุกครั้ง ทั้งวันหมดอายุ และสภาพของยาว่ามีตะกอน มีสีที่เปลี่ยนไป หรือเป็นน้ำแข็ง หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นห้ามนำกลับมาใช้อีก
  • ใช้แอลกอฮอล์เช็ดบริเวณผิวหนังก่อนฉีดยาทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • เปลี่ยนตำแหน่งการฉีดทุกครั้งเพื่อให้แผลจากรอยเข็มฟื้นตัวและหลีกเลี่ยงภาวะบาดเจ็บรุนแรง
  • เข้ารับการฉีดยาตามวันและเวลาที่กำหนดเพื่อผลการรักษาสูงสุด
  • ยานี้สามารถใช้พร้อมกับมื้ออาหารหรือไม่ก็ได้
  • แพทย์อาจปรับปริมาณยาตามอาการหรือปัจจัยบางอย่างของผู้ป่วย ดังนั้น ควรใช้ยาในปริมาณที่แพทย์กำหนดเท่านั้น
  • ยานี้ใช้ฉีดบริเวณต้นขา หน้าท้อง และต้นแขนด้านบน 
  • ยา Dulaglutide ใช้ฉีดใต้ผิวหนังเท่านั้น ห้ามฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือด
  • ผู้ที่ใช้อินซูลินร่วมกับยานี้ ควรแบ่งฉีดแบบแยกตัวยา ห้ามนำมารวมกันและฉีดครั้งเดียวเด็ดขาด โดยยาทั้งสองชนิดสามารถฉีดบริเวณเดียวกันได้ แต่ไม่ควรฉีดในตำแหน่งเข็มเดียวกันหรือใกล้กัน
  • แพทย์อาจแนะนำให้ออกกำลังกายและควบคุมอาหารควบคู่ไปกับการใช้ยา
  • หากลืมฉีดยา ควรฉีดยาทันทีที่นึกได้ภายใน 3 วันหลังกำหนด หากเกิน 3 วันให้ข้ามไปใช้ยาในครั้งถัดไปได้เลยโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา อย่างไรก็ตาม ควรรายงานแพทย์หากลืมฉีดยา
  • ห้ามใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ควรเก็บอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีดยาให้เหมาะสม 
  • แพทย์อาจจ่ายฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ในรูปแบบปากกาฉีดยา สำหรับใช้ในกรณีที่น้ำตาลในเลือดต่ำมากและทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ ดังนั้น ผู้ป่วย คนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทควรศึกษาวิธีการฉีดฮอร์โมนกลูคากอนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
  • หากได้รับยาเกินขนาดและเกิดอาการผิดปกติขึ้น ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • หากใช้ยาแล้วอาการไม่ทุเลา อาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่นเกิดเพิ่มขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อปรับรูปแบบการรักษา
  • ควรเก็บยาในตู้เย็น ห้ามแช่ช่องแข็ง เก็บให้พ้นจากแสงแดด ความร้อน เด็ก และสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Dulaglutide

ยาดูลากลูไทด์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนี้

  • ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป
    ยานี้อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร รู้สึกไม่สบาย ท้องเสีย อุจจาระบ่อย คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย อาหารขึ้นคอคล้ายอาเจียน ปวดท้อง หน้าท้องไวต่อสัมผัส เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงที่พบได้น้อย
    ผลข้างเคียงจากยานี้ที่พบได้น้อย เช่น รู้สึกไม่สบายตัว ไม่มีแรง ปวดท้อง กรดในกระเพาะ กรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงที่พบได้ยาก
    ผลข้างเคียงที่พบได้ยากของยาดูลากลูไทด์ เช่น เลือดไหล เป็นแผล ผิวหนังเปลี่ยนสี ลมพิษ รู้สึกหนาว ติดเชื้อ อักเสบ ปวดตัว รู้สึกชา เป็นเหน็บ มีผื่น หรือรู้สึกอุ่นในผิวบริเวณที่ฉีด
  • อาการแพ้ยา
    อาการแพ้ยาจากยานี้ อาจพบได้ยาก แต่ถ้าหากเกิดอาการต่อไปนี้ให้นำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที ได้แก่ อาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลำคอ ผื่นขึ้นตามร่างกาย ลมพิษ หายใจไม่ออก เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงอันตราย
    หากผู้ป่วยมีอาการปากแห้ง ปัสสาวะมากหรือน้อยผิดปกติ กระหายน้ำ เวียนศีรษะ หัวใจเต้นช้า เต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ มีอาการของโรคไต อย่างปัสสาวะเปลี่ยนสีหรือปริมาณปัสสาวะที่มากหรือน้อยผิดปกติ อาเจียนหรือท้องเสียต่อเนื่อง ปวดท้องหรือปวดหลังอย่างรุนแรง สับสน ง่วงซึม ตัวแดง หายใจมีกลิ่นหวาน ให้นำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด