การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19) ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนในสังคมให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก แม้ว่าเด็กจะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหลักของโรค แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ปกครองต้องเรียนรู้และเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลเด็กอย่างถูกวิธีมากขึ้น
ในปัจจุบันมีข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 ออกมามากมาย รวมไปถึงข่าวลือและข้อมูลเท็จที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ทำให้เกิดความสับสนในการดูแลลูกน้อยหรือเด็กเล็กให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส ดังนั้น การทำความเข้าใจโรคอย่างถูกต้องถือเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องตนเองและครอบครัว
เด็กและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19
จากผลการศึกษาในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่าเด็กมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 สูงกว่าวัยอื่น ๆ โดยผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ส่วนมากพบว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ส่วนสาเหตุของการติดเชื้อในเด็กที่มีจำนวนน้อยนั้นคาดว่าเด็กทำกิจกรรมนอกบ้าน เดินทางไปที่ต่าง ๆ หรือเดินทางไปต่างประเทศน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้โอกาสในการสัมผัสเชื้อไวรัสก็น้อยลงตามไปด้วย ถึงแม้ว่าเด็กจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 น้อยกว่าวัยอื่น ๆ แต่ผู้ปกครองยังจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับบุตรหลานและสอนวิธีป้องกันการติดเชื้อด้วยเช่นกัน
การป้องกันเด็กจากเชื้อไวรัสโควิด-19
สิ่งแรกที่ผู้ปกครองควรปฏิบัติ คือ การทำให้เด็กเข้าใจถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และพูดคุยเกี่ยวกับข้อมูลของโรคในรูปแบบและภาษาที่เด็กสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังควรเปิดโอกาสให้เด็กตั้งคำถามและผู้ปกครองทำหน้าที่ในการตอบคำถามเหล่านั้นด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง หากหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยในประเด็นดังกล่าว อาจทำให้เด็กเกิดความวิตกกังวลและไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ถึงแม้ว่าในขณะนี้ยังไม่สามารถผลิตยารักษาหรือวัคซีนที่ช่วยป้องกันการการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่
- เพื่อลดการสัมผัสและการแพร่กระจายเชื้อไวรัส ผู้ปกครองควรสอนให้เด็กล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอด้วยสบู่และน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที หากไม่สะดวกในการล้างมือด้วยสบู่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่า 60% ทำความสะอาดแทนได้
- หลีกเลี่ยงให้บุตรหลานเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ ในช่วงที่หยุดการเรียนการสอน หากต้องออกไปเล่นนอกบ้าน ควรให้เด็กอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
- ผู้ปกครองควรทำกิจกรรมในบ้านหรือนอกบ้านร่วมกันกับเด็ก ๆ ในช่วงที่มีอยู่บ้านเป็นเวลานาน อย่างขี่จักรยาน เต้น หรือเดินเล่น เพื่อให้เด็กมีสุขภาพกายและใจแข็งแรง มีจิตใจจดจ่อต่อสิ่งที่กำลังทำ
- เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ควรใส่หน้ากากอนามัยโดยให้คลุมปากหรือจมูกเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะหรือในพื้นที่ที่ไม่สะดวกต่อการเว้นระยะห่างในสังคม เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อจากผู้ที่เป็นพาหะ
- สอนให้เด็กปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจามด้วยทิชชู่ แล้วทิ้งทิชชู่ทันทีหลังการใช้ แต่หากไม่มีทิชชู่ควรบอกให้เด็กไอหรือจามใส่ข้อพับหรือต้นแขนด้านในแทนการใช้มือ
- ผู้ปกครองควรทำความสะอาดพื้นผิวของอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านอยู่เสมอ เช่น โต๊ะ ลูกบิดประตู รีโมต ราวจับ และห้องน้ำ
- สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสโดนบริเวณใบหน้า รวมถึงไม่ให้อยู่ใกล้ชิดหรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ลูกมีอาการไม่สบายที่อาจคล้ายคลึงกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ผู้ปกครองไม่ควรตื่นตระหนกไปก่อน เพราะอาจเป็นอาการไม่สบายทั่วไป หากคาดว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าว ควรพาเด็กไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งอาการหรือประวัติต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการไม่สบาย โดยแพทย์จะประเมินเบื้องต้นว่าเป็นอาการที่ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กได้ด้วยตนเองหรือไม่ แต่หากเด็กมีอาการหายใจลำบาก หอบอย่างรุนแรงเมื่อเดินหรือพูด มีอาการสับสนหรือกระสับกระส่าย เจ็บหน้าอก มีอาการหน้าซีดหรือปากเขียวร่วมด้วย ควรนำเด็กส่งโรงพยาบาลทันที