ตกขาวสีขาวขุ่น หรือตกขาวที่มีสีออกเทา เป็นตกขาวที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผิดปกติ โดยโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายที่เป็นสาเหตุของตกขาวชนิดนี้สามารถเป็นได้หลายอย่าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ
ตกขาวเป็นของเหลวที่ร่างกายผลิตขึ้นมาตามธรรมชาติเพื่อช่วยรักษาสุขภาพช่องคลอดให้สะอาด ชุ่มชื้น มีค่าความเป็นกรดและด่างที่เหมาะสม และปลอดเชื้อโรค แต่สีของตกขาวที่ดีควรจะเป็นสีขาวใส มีลักษณะเป็นน้ำหรือบางครั้งอาจมีความข้นได้บ้างเล็กน้อย และที่สำคัญ แม้บางครั้งตกขาวอาจมีกลิ่นได้บ้าง แต่กลิ่นของตกขาวไม่ควรเป็นกลิ่นที่เหม็นผิดปกติ
4 สาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการตกขาวสีขาวขุ่น
ตกขาวสีขาวขุ่น หรือตกขาวสีออกเทาสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุก็จะมีลักษณะอาการร่วมที่แตกต่างกันไป โดยสาเหตุที่มักพบได้ก็เช่น
1. หนองในแท้ (Gonorrhea)
หนองในแท้ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง โดยตัวเชื้อที่เป็นสาเหตุจะมีชื่อว่า ไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria gonorrhoeae) โดยโรคนี้อาจสังเกตได้ยาก เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคนี้มักไม่มีอาการผิดปกติทางร่างกายใด ๆ ที่เห็นได้ชัด แต่ในรายที่เกิดอาการ อาการที่ผู้ป่วยมักจะพบได้ก็เช่น
- ตกขาวสีขาวขุ่น หรือตกขาวสีเหลือง
- ตกขาวมามากผิดปกติ
- มีเลือดที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือนไหลออกมาจากช่องคลอด โดยผู้ป่วยอาจสังเกตได้จากการที่ช่องคลอดจะมีเลือดไหลออกมาแม้จะยังไม่ถึงช่วงรอบเดือน
- รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ
- ปวดท้องบริเวณใต้สะดือ
- รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
นอกจากนี้ นอกจากบริเวณช่องคลอดแล้ว เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้ยังอาจไปเติบโตที่บริเวณอื่นได้ด้วย ได้แก่ รูทวาร คอ ดวงตา และข้อต่อ ซึ่งแต่ละบริเวณก็จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติแตกต่างกันไป เช่น คันบริเวณรูทวาร มีหนองหรือเลือดไหลออกมาจากรูทวาร เจ็บดวงตา ตาไวต่อแสง ดวงตามีหนอง เจ็บคอ และปวดบวมบริเวณข้อต่อ
2. หนองในเทียม (Chlamydia)
หนองในเทียม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับโรคหนองในแท้ แต่ตัวเชื้อที่เป็นสาเหตุจะมีชื่อว่า คลามัยเดียทราโคมาติส หรือ Chlamydia trachomatis โดยลักษณะการเกิดอาการของโรคนี้จะคล้าย ๆ กับโรคหนองในแท้ ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ป่วยมักไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ที่เห็นได้ชัด หรือแม้แต่ผู้ที่มีอาการ อาการที่เกิดก็จะไม่ค่อยรุนแรง
โดยอาการที่พบก็จะคล้าย ๆ กับโรคหนองในแท้ เช่น ตกขาวสีขาวขุ่น ตกขาวสีเหลือง เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกทางช่องคลอดแม้จะยังไม่ถึงช่วงรอบเดือน แสบขณะปัสสาวะ ปวดท้องบริเวณใต้สะดือ รวมไปถึงอาการตามอวัยวะอื่นที่เชื้ออาจไปเติบโต เช่น มีหนองหรือเลือดไหลออกมาจากรูทวาร ตาแดง และเจ็บคอ
อย่างไรก็ตาม โรคหนองในเทียมก็อาจมีบางอาการที่แตกต่างไปจากหนองในแท้บ้าง ซึ่งผู้ป่วยสามารถใช้สังเกตได้ในเบื้องต้น เช่น คันหรือแสบร้อนช่องคลอด ตกขาวมีกลิ่นเหม็นรุนแรง ปวดปัสสาวะบ่อย และมีหนองปนออกมากับน้ำปัสสาวะ
3. พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis)
พยาธิในช่องคลอดก็เป็นอีกโรคที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นกัน โดยตัวเชื้อที่เป็นสาเหตุจะมีชื่อว่า ทริโคโมแนส วาจินาลิส หรือ Trichomonas vaginalis
ส่วนลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคนี้ก็ได้แก่ ตกขาวมีสีขุ่น ตกขาวมีกลิ่นเหม็น ตกขาวเป็นฟอง บริเวณช่องคลอดบวมแดง คันช่องคลอด และรู้สึกแสบร้อนบริเวณช่องคลอด โดยเฉพาะขณะปัสสาวะและมีเพศสัมพันธ์
4. ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis)
โดยปกติแล้ว ภายในช่องคลอดจะมีแบคทีเรียอยู่ ซึ่งมีทั้งแบคทีเรียชนิดทีดีและชนิดที่ไม่ดี ซึ่งในกรณีที่ร่างกายมีภาวะที่ปกติ ปริมาณของเชื้อแบคทีเรียสองกลุ่มนี้จะมีความสมดุลและไม่ส่งผลให้เกิดสิ่งผิดปกติใด ๆ
แต่เมื่อความสมดุลของแบคทีเรียนี้เกิดความผิดปกติไป จนแบคทีเรียชนิดไม่ดีมีจำนวนที่มากเกิน ความผิดปกตินี้ก็อาจนำไปสู่ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียได้ โดยปัจจัยกระตุ้นที่มักพบได้บ่อยหรืออาจมีส่วนเกี่ยวข้องก็เช่น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ และการฉีดน้ำสวนล้างช่องคลอด
โดยอาการที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักพบก็เช่น ตกขาวขุ่น ตกขาวมีกลิ่นเหม็น ตกขาวเหลว ตกขาวเป็นฟอง คันช่องคลอด เจ็บบริเวณปากช่องคลอด ปากช่องคลอดแดง และรู้สึกแสบขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์
วิธีรับมือเมื่อมีอาการตกขาวสีขาวขุ่น
เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาตกขาวสีขาวขุ่นมักเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ ผู้ที่มีปัญหานี้จึงควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจสาเหตุที่แน่ชัด เนื่องจากในกระบวนการรักษาโรคติดเชื้อ แพทย์มักจำเป็นต้องตรวจหาชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุให้พบก่อน เพื่อที่แพทย์จะได้เลือกชนิดของยาที่เหมาะสำหรับการรักษาเชื้อนั้น ๆ อย่างตรงจุด
ทั้งนี้ สาเหตุของปัญหาตกขาวสีขาวขุ่นที่ได้กล่าวไปเป็นเพียงตัวอย่างที่อาจเป็นไปได้เท่านั้น ซึ่งผู้ที่มีปัญหานี้อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตกขาว ไม่ว่าจะเป็นตกขาวสีขาวขุ่นหรือสีใด ๆ จึงควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ และควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มพบปัญหา โดยเฉพาะผู้ที่พบอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ ไข้ขึ้น น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลีย และปัสสาวะบ่อย