ตกงานกะทันหัน รับมืออย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพ

การเผชิญกับสภาวะตกงานเป็นเหมือนฝันร้ายของมนุษย์เงินเดือน เพราะการทำงานถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลครอบครัวและจัดการภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน แต่ในยุคที่สังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งด้านการเมืองและการเกิดโรคระบาด ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา หลายบริษัทอาจต้องปิดตัวลงหรือปลดพนักงานบางส่วน อัตราการว่างงานจึงยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

ผลการสำรวจภาวะการว่างงานของประชากรไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงานสูงถึง 4.19 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนคนเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 การตกงานที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัวมักทำให้เกิดความเครียดและอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา บทความนี้จะแนะนำวิธีรับมือเมื่อตกงานกะทันหัน เพื่อช่วยให้คุณเตรียมความพร้อมในการกลับเข้าสู่เส้นทางการทำงานได้ดียิ่งขึ้น

ตกงานกะทันหัน รับมืออย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพ

ตกงานกับผลกระทบต่อสุขภาพ

หลายคนอาจมองว่าการทำงานไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่เรื่องค่าตอบแทนที่ได้รับเท่านั้น แต่ถือเป็นปัจจัยบ่งบอกถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ความมั่นคงในชีวิต และบันไดสู่ความสำเร็จที่คาดหวังไว้ การตกงานจึงทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลได้ง่าย และอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ อย่างการสูบบุหรี่หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่ตกงานมักรู้สึกอับอายและกลัวถูกเยาะเย้ยหรือต่อว่า จึงไม่กล้าเล่าเรื่องการตกงานของตัวเองให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนฟัง การแบกรับความรู้สึกเครียดไว้โดยลำพังอาจนำไปสู่การสูญเสียความมั่นใจหรือคุณค่าในตัวเอง โรคซึมเศร้า และการแยกตัวจากสังคมได้

ความเครียดจากการตกงานเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้เช่นกัน งานวิจัยหนึ่งระบุว่าการตกงานเป็นเวลานานกว่า 2 ปีขึ้นไปอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เทโลเมียร์ (Telomeres) ที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของโครโมโซมหดสั้นลงเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ก่อนวัย เช่น การทำงานของสมองเสื่อมถอยลง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจ 

รับมืออย่างไรในวันที่ตกงาน

การตกงานอาจทำให้รู้สึกเสียใจ ท้อแท้ หมดหวัง หรืออิจฉาคนรอบตัวที่ยังมีหน้าที่การงานให้รับผิดชอบ หลายคนอาจรู้สึกหนักใจเมื่อคิดถึงภาระค่าใช้จ่ายในบ้านที่ต้องรับผิดชอบ และกังวลว่าตนเองจะไม่สามารถดูแลคนในครอบครัวได้ดีเช่นเดิม หากคุณเผชิญกับภาวะตกงานและไม่รู้จะจัดการอย่างไร เทคนิคเหล่านี้อาจช่วยคุณได้

1. ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น

การตกงานและเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน การยอมรับว่าตัวเองกำลังเสียใจ วิตกกังวล หรือท้อแท้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากตกงาน และจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หากเพิ่งตกงานได้ไม่นาน ควรให้เวลากับตัวเองจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น แล้วจึงค่อย ๆ เริ่มมองหางานใหม่

2. จัดการกับภาระค่าใช้จ่าย

การตกงานอย่างกะทันหันทำให้รายรับที่เคยได้เป็นประจำหดหายไป จึงควรหาวิธีรับมือกับสถานะการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยอาจเริ่มจากการตรวจสอบหลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม เพื่อลงทะเบียนรับเงินชดเชยในกรณีเลิกจ้างหรือลาออกได้ที่เว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน นอกจากนี้ ควรปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายโดยตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก เพื่อสำรองเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นระหว่างการสมัครงานใหม่

3. พูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท

การพูดคุยกับผู้อื่นจะช่วยลดความรู้สึกเสียใจหรือความเครียดจากการตกงานได้ ควรนึกไว้เสมอว่าคุณไม่ได้พบเจอความยากลำบากโดยลำพัง แม้บางครั้งคนในครอบครัวหรือเพื่อนอาจแสดงท่าทีตกใจเมื่อได้ฟัง แต่การได้เล่าหรือระบายความไม่สบายใจให้คนที่สนิทฟัง จะช่วยให้คุณไม่รู้สึกเศร้าหรือโดดเดี่ยวในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

นอกจากนี้หากคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่เคยผ่านสถานการณ์นี้มาก่อน อาจช่วยแนะนำวิธีรับมือกับการตกงานและการเตรียมความพร้อมเพื่อสมัครงานใหม่ให้คุณได้อีกด้วย

4. ใช้เวลาว่างที่มีในการดูแลตัวเอง

การทำงานหนักในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้คุณไม่มีเวลาได้พักผ่อนและดูแลตัวเองเท่าที่ควร ลองใช้ช่วงเวลาว่างในช่วงนี้หันมาใส่ใจสุขภาพร่างกายและจิตใจของตัวเองให้มากขึ้น ด้วยการจัดตารางเวลาในการตื่นนอน เข้านอน และรับประทานอาหารให้เป็นเวลา แบ่งเวลาสำหรับออกกำลังกายในแต่ละสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ และออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน อย่างการไปพักผ่อนที่สวนสาธารณะ หรือไปทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ

5. เตรียมตัวสมัครงานใหม่

ก่อนที่จะเริ่มสมัครงานใหม่ ควรค้นหาสิ่งที่ตัวเองสนใจ สิ่งที่ถนัด และสิ่งที่ยังขาดหรือบกพร่อง โดยทบทวนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาและจดบันทึกเป็นข้อ ๆ จะช่วยให้คุณวางแผนเส้นทางที่ควรเดินต่อไปในอนาคตได้ดีขึ้น หากยังขาดความรู้หรือทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในตำแหน่งนั้น อาจศึกษาเพิ่มเติมจากการลงคอร์สเรียน ซึ่งในปัจจุบันสามารถลงเรียนได้สะดวกขึ้นผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา 

นอกจากนี้ควรปรับเรซูเม่ (Resume) หรือเอกสารสรุปประวัติการทำงานให้เป็นปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์งานใหม่อยู่เสมอ ทั้งนี้ หากได้รับการเรียกให้ไปสัมภาษณ์งาน ควรตอบตกลงเข้าสัมภาษณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการสัมภาษณ์งานในแต่ละครั้งถือเป็นโอกาสในการฝึกฝนและเรียนรู้ความแตกต่างของตำแหน่งงานนั้น ๆ ในแต่ละองค์กร

6. จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม

ในช่วงระหว่างการเตรียมตัวสมัครงานอาจทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย จึงอาจนำไปสู่การใช้วิธีแก้เครียดที่ทำลายสุขภาพ อย่างพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติด แม้วิธีเหล่านี้อาจช่วยกำจัดความเครียดได้อย่างชั่วขณะนั้น แต่มักส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว 

หากเกิดความเครียด ควรหาวิธีผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น ออกกำลังกาย บอกเล่าความไม่สบายใจกับคนที่สนิท และแบ่งเวลาพักผ่อนในแต่ละวัน ซึ่งช่วยให้คุณได้ผ่อนคลายความเครียดโดยไม่เสียสุขภาพ

7. ตระหนักในคุณค่าของตัวเองอยู่เสมอ

ผู้ที่มองเห็นคุณค่าในตัวเองจะเข้าใจถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง ไม่โทษตัวเองจากความผิดพลาดในอดีต และกล้าตัดสินใจทำสิ่งใหม่ ๆ โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ในภาวะที่ต้องตกงานอย่างกะทันหันอาจทำให้เราโทษตัวเอง และยิ่งทำให้การมองเห็นคุณค่าในตัวเองลดลง 

หากเริ่มรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง อาจเขียนประโยคให้กำลังใจและพูดกับตัวเองบ่อย ๆ เช่น “ฉันมีความสามารถที่เหมาะสมกับองค์กร” “ฉันมีพลังที่จะค้นหางานใหม่” และ “ฉันเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองที่จะได้ทำงานในตำแหน่งที่คาดหวัง” ประโยคเหล่านี้จะช่วยเรียกความมั่นใจที่หายไปให้กลับคืนมาได้

ความรู้สึกเสียใจ ท้อแท้ และผิดหวังในตัวเองเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เมื่อต้องเผชิญกับภาวะตกงานอย่างกะทันหัน สิ่งสำคัญคือควรให้เวลาตัวเองทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองและเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยให้คุณหางานใหม่ที่เหมาะสมกับตัวเองได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกเครียด กังวล นอนไม่หลับ หรือมีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป