ตรวจมะเร็งเต้านม การตรวจคัดกรองเพื่อสุขภาพทรวงอก

การตรวจมะเร็งเต้านมเป็นการคัดกรองสุขภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับคุณผู้หญิง เนื่องจากจะช่วยให้ผู้หญิงสามารถป้องกันหรือตรวจพบมะเร็งเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทว่าการตรวจมะเร็งเต้านมนั้นควรเริ่มเมื่อใด และตรวจอย่างไรได้บ้างนั้น เป็นเรื่องที่ผู้หญิงควรทราบก่อนตัดสินใจเข้ารับการตรวจ

1540 ตรวจมะเร็งเต้านม Resized

การตรวจมะเร็งเต้านมเป็นอย่างไร ?

การตรวจมะเร็งเต้านม คือ การคัดกรองสุขภาพของผู้หญิง เพื่อตรวจหาสัญญาณของมะเร็งเต้านมที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการตรวจมะเร็งเต้านมเป็นประจำจะช่วยให้แพทย์สามารถป้องกันและรับมือกับโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะยิ่งตรวจพบเร็วก็จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการตรวจขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าวิธีใดเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้เข้ารับการตรวจมากที่สุด

วิธีการตรวจมะเร็งเต้านม

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมสามารถทำได้ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การตรวจด้วยตัวเองและการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นวิธีการตรวจคัดกรองเบื้องต้นที่ไม่ทำให้เกิดบาดแผลและสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยการตรวจจะเป็นการคลำหาความผิดปกติของเต้านม ซึ่งควรคลำตรวจด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือน และเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างน้อยทุก 1 - 3 ปีด้วย ขึ้นกับอายุของผู้เข้ารับการตรวจ ทว่าวิธีนี้ไม่สามารถให้ผลที่ชัดเจนได้ จึงควรใช้การตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย
  • การตรวจแมมโมแกรม เป็นการเอกซเรย์บริเวณเต้านมเพื่อตรวจหาความผิดปกติ ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์นิยมใช้มากที่สุดวิธีหนึ่งที่ช่วยตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้นหากตรวจพบได้เร็ว
  • การอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจที่ช่วยให้แพทย์เห็นความเปลี่ยนแปลงของเต้านม เช่น ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปของเนื้อเยื่อเต้านม หรือก้อนเนื้อที่ผิดปกติที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยการตรวจแบบเมมโมแกรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้แพทย์แยกแยะความแตกต่างระหว่างซีสต์และก้อนเนื้อที่เต้านม ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อไปตรวจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
  • การสแกนเอ็มอาร์ไอ หากการตรวจมีข้อจำกัดจนไม่สามารถตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ อย่างเช่นแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวด์ได้ แพทย์อาจเลือกใช้การสแกนเอ็มอาร์ไอเพื่อตรวจหามะเร็งเต้านมแทน โดยวิธีนี้เป็นการตรวจที่ใช้กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงหรือผู้หญิงที่มีอายุน้อย
  • การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ หากพบก้อนเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์อาจนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจ เพื่อช่วยให้ระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นก้อนเนื้อหรือเนื้อเยื่อมะเร็ง

การตรวจมะเร็งเต้านมมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง ?

หากต้องการตรวจมะเร็งเต้านมจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เนื่องจากทุกวิธีการล้วนมีข้อดีข้อเสียที่ต้องชั่งน้ำหนักและเลือกวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้เข้ารับการตรวจมากที่สุด เพื่อให้การตรวจมีประสิทธิภาพ

ข้อดี การตรวจมะเร็งเต้านมจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รักษาได้ถูกจุดและรวดเร็ว

ข้อเสีย ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากการตรวจ โดยเฉพาะการตรวจด้วยรังสีอย่างแมมโมแกรม และในบางกรณีผลที่ได้อาจไม่ชัดเจนหรืออาจต้องทำการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ด้วย ซึ่งสิ้นเปลืองทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา อีกทั้งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลได้

นอกจากนี้ อาจมีภาวะวินิจฉัยเกินที่ทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาเกินกว่าภาวะที่เป็นอยู่ เนื่องจากแพทย์ตรวจพบก้อนเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่ดูผิดปกติ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่มะเร็งเต้านม และอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสี่ยงจากการรักษา เช่น การผ่าตัด หรือรังสีบำบัด เป็นต้น

ควรเริ่มตรวจมะเร็งเต้านมตั้งแต่เมื่อไร ?

มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่พบได้ในคนทุกวัย และความเสี่ยงจะสูงขึ้นเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ผู้หญิงควรเริ่มตรวจมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยตรวจด้วยตัวเองทุก ๆ เดือนและควรไปตรวจกับแพทย์ทุก ๆ 3 ปี หากมีอายุ 40 ปีขึ้นไปก็ควรไปตรวจเต้านมทุกปีโดยตรวจกับแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนร่วมกับการตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปีด้วย

ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็ง ควรเริ่มตรวจหามะเร็งในช่วงอายุลบจากอายุของญาติคนนั้น 10 ปี เช่น หากญาติใกล้ชิดป่วยด้วยมะเร็งเต้านมตอนอายุ 45 ปี ก็ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุ 35 ปี เป็นต้น ส่วนผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ความถี่ในการเข้ารับการตรวจจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

คนท้องตรวจมะเร็งเต้านมได้หรือไม่ ?

สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ แม้จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้น้อย แต่หากคลำเจอก้อนเนื้อหรือเกิดความผิดปกติที่หน้าอกก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ ซึ่งระหว่างที่ตั้งครรภ์แพทย์จะหลีกเลี่ยงการตรวจมะเร็งเต้านมบางวิธี เช่น การตรวจแบบเมมโมแกรม เป็นต้น เนื่องจากอาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ทั้งนี้ หากพบว่าคนท้องเป็นโรคมะเร็งเต้านม ก็ต้องประเมินและทำการรักษาด้วยวิธีที่ปลอดภัยมากที่สุดต่อไป