ตรวจไข้หวัดใหญ่ วิธีวินิจฉัยที่ควรรู้

ตรวจไข้หวัดใหญ่เป็นวิธีที่ใช้วินิจฉัยเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ของผู้ป่วย ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อาจตรวจเบื้องต้นด้วยตัวเอง โดยใช้ชุดตรวจไข้หวัดใหญ่ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมที่สถานพยาบาล

ไข้หวัดใหญ่มักทำให้เกิดอาการที่คล้ายกับโควิด-19 และโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ จึงอาจทราบได้ยากว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไม่ หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตัวเอง หรือรู้สึกกังวลกับอาการเนื่องจากมีโรคประจำตัวใด ๆ ควรไปตรวจไข้หวัดใหญ่กับแพทย์เพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัด และรับคำแนะนำในการรักษา

Flu Diagnosis

วิธีการตรวจไข้หวัดใหญ่

การตรวจไข้หวัดใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. การตรวจไข้หวัดใหญ่ด้วยตัวเอง

หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการไข้หวัดใหญ่ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดตามตัว หนาวสั่น และมีไข้ สามารถซื้อชุดตรวจไข้หวัดใหญ่จากร้านขายยามาทดสอบด้วยตัวเองได้ที่บ้าน ซึ่งใช้ตรวจการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้หลายประเภทในชุดตรวจเดียวกัน เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B โควิด-19 และไวรัส RSV

ชุดตรวจไข้หวัดใหญ่ด้วยตัวเองเป็นการทดสอบด้วยการใช้ไม้พันสำลีสอดเข้าไปภายในโพรงจมูกทั้ง 2 ข้าง เพื่อเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งตามคำแนะนำที่ชุดตรวจระบุ จากนั้นนำไม้พันสำลีไปจุ่มในหลอดที่มีน้ำยาเคมี แล้วนำน้ำยาไปหยดในตลับทดสอบ แล้วรอประมาณ 10–15 นาทีจึงอ่านผลการตรวจ หากผลการตรวจออกมาเป็นบวก (Positive) แสดงว่ามีการติดเชื้อ

ทั้งนี้ การตรวจไข้หวัดใหญ่ด้วยตัวเองเป็นเพียงวิธีตรวจเบื้องต้นเท่านั้น บางครั้งผลการตรวจอาจคลาดเคลื่อนจากการตรวจไม่ถูกวิธีหรือชุดตรวจไม่ได้มาตรฐาน หากผู้ป่วยไม่มั่นใจในผลตรวจ ควรไปตรวจยืนยันผลที่แน่ชัดกับบุคลากรทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลเพิ่มเติม

2. การตรวจไข้หวัดใหญ่กับแพทย์

โดยส่วนใหญ่แล้ว การตรวจไข้หวัดใหญ่กับแพทย์ที่สถานพยาบาลจะประกอบด้วยการสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพ และตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยใช้หูฟังทางการแพทย์ (Stethoscope) ในการฟังเสียงปอด 

แต่แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับการตรวจไข้หวัดใหญ่ด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้ป่วยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากไข้หวัดใหญ่ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ตั้งครรภ์ และผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งวิธีการตรวจไข้หวัดใหญ่ที่อาจแพทย์ใช้ ได้แก่

  • Rapid Influenza Diagnosis Tests (RIDTs) หรือการเก็บตัวอย่างในโพรงจมูก โดยการตรวจหาแอนติเจน (Antigen) หรือสารในเชื้อโรคที่กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยสามารถทราบผลตรวจภายใน 10–15 นาที
  • Rapid Molecular Assays เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมในเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสารคัดหลั่งจากเยื่อบุด้านหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal Swab) ใช้เวลารอผลการตรวจไม่เกิน 30 นาที วิธีนี้จะมีความแม่นยำกว่าการตรวจแบบ RIDTs
  • การตรวจ RT-PCR (Reverse-Transcription Polymerase Chain Reaction) เป็นการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในโพรงจมูกหรือลำคอ และส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง โดยอาจใช้เวลาหลายวันจึงจะทราบผลตรวจ

ในระหว่างการตรวจไข้หวัดใหญ่ด้วยการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกระคายเคืองในโพรงจมูกหรือลำคอได้ แต่อาการจะเกิดขึ้นไม่นานและหายไปเอง โดยไม่มีอาการเจ็บปวดตามมา 

หลังตรวจไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยการดูแลตัวเองที่บ้านอย่างเหมาะสม เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไอ ยาอมแก้เจ็บเพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ รวมทั้งงดการออกไปในที่สาธารณะ และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก มีไข้สูงมาก หรือมีภาวะขาดน้ำ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป