ตอบข้อสงสัย หลังแท้งลูกควรดูแลตัวเองอย่างไร

การแท้งลูกเป็นความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ที่พบได้บ่อยประมาณ 10–20 เปอร์เซ็นต์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ หลังแท้งลูกเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องรับมือกับอาการทางร่างกายและจิตใจที่เกิดจากความสูญเสีย เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องและหลัง รู้สึกเศร้า หดหู่ โกรธตัวเอง การรู้วิธีรับมือกับอาการเหล่านี้จะช่วยให้คุณแม่กลับมามีความสุขและมีสุขภาพที่ดีได้อีกครั้ง

การดูแลตัวเองหลังแท้งอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการตั้งครรภ์และสุขภาพของคุณแม่ คุณแม่คงสงสัยว่าควรดูแลตัวเองอย่างไรให้ร่างกายและจิตใจฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ อาการผิดปกติใดบ้างที่ควรระวัง และหลังแท้งลูกสามารถตั้งครรภ์ใหม่ได้เมื่อไร บทความนี้ได้รวบรวมคำตอบเอาไว้แล้ว

ตอบข้อสงสัย หลังแท้งลูกควรดูแลตัวเองอย่างไร

ถาม-ตอบข้อสงสัยหลังแท้งลูก

คุณแม่หลายคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ การดูแลตัวเองหลังแท้งลูก และการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป ซึ่งข้อสงสัยเหล่านี้มีคำตอบ 

อาการหลังแท้งลูกมีอะไรบ้าง

อาการของคุณแม่แต่ละคนแตกต่างกัน บางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลย แต่โดยส่วนใหญ่มักมีเลือดออกทางช่องคลอด โดยอาจมีเลือดออกเล็กน้อยหรือเป็นหยด ๆ คล้ายประจำเดือน ซึ่งอาจเกิดขึ้นนานถึงประมาณ 1 สัปดาห์หลังแท้งลูก หรือมีเนื้อเยื่อและเมือกถูกขับออกมาทางช่องคลอด 

นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ปวดเกร็งช่องท้องส่วนล่างคล้ายกับอาการปวดประจำเดือน ซี่งอาจมีอาการประมาณ 1–2 วันหลังแท้งลูก ปวดหลัง อ่อนเพลีย ท้องอืด คลื่นไส้ หน้าอกบวม รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสบริเวณหัวนม ลานนมมีสีเข้มขึ้น มีน้ำนมไหล

ด้านสภาวะจิตใจ คุณแม่มักมีอารมณ์แปรปรวน เช่น รู้สึกทำใจไม่ได้ เศร้า ร้องไห้บ่อย โกรธ รู้สึกผิด โทษตัวเอง ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ความอยากอาหารลดลง มีปัญหาด้านการนอนหลับ ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด และบางคนอาจมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย 

ทั้งนี้ คุณแม่ควรระวังภาวะแทรกซ้อนหลังแท้งลูก หากมีอาการใด ๆ ที่เข้าข่ายภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • แท้งไม่สมบูรณ์ (Incomplete Miscarriage) ซึ่งเป็นภาวะที่เนื้อเยื่อบางส่วนของการตั้งครรภ์ยังตกค้างอยู่ในมดลูก ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมาก ปวดเกร็งท้องน้อยและอุ้งเชิงกราน และอาจปวดลามไปถึงหลัง อวัยวะเพศ และสะโพกเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์หลังการแท้ง ซึ่งแพทย์จะทำการขูดมดลูก เพื่อนำชิ้นส่วนที่ค้างอยู่ในมดลูกออก
  • เลือดออกมากผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้มีอาการซีด ตัวเย็น เวียนศีรษะ และหัวใจเต้นเร็ว
  • ติดเชื้อหลังแท้งลูก โดยอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดและปวดเกร็งท้องนานกว่า 2 สัปดาห์ ตกขาวมีกลิ่น มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส และหนาวสั่น แพทย์อาจรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ
  • ภาวะแท้งซ้ำ (Recurrent Miscarriages) คือการแท้งลูกติดต่อกันตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติของฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกัน และโรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ
  • โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล เช่น รู้สึกเศร้า อ่อนเพลียตลอดเวลา ไม่มีสมาธิ ไม่สนใจสิ่งที่เคยชอบทำ พฤติกรรมการรับประทานอาหารและการนอนหลับเปลี่ยนไป และมีความคิดฆ่าตัวตาย

ดูแลสุขภาพอย่างไรหลังแท้งลูก

ฮอร์โมนในร่างกายคุณแม่จะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติหลังแท้งลูก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการทางร่างกายมักหายได้เร็ว คุณแม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติโดยใช้เวลาไม่เกิน 2–3 วัน

คุณแม่ควรพักผ่อนมาก ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ธัญพืชขัดสีน้อย ผักผลไม้ และอาหารที่มีน้ำตาลต่ำ ดื่มน้ำให้เพียงพอ เช่น เครื่องดื่มแบบไม่มีคาเฟอีน ชา หรือซุปอุ่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น 

หากมีอาการปวดหลังแท้งลูก อาจประคบร้อนด้วยกระเป๋าน้ำร้อน หรือรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยา ในกรณีที่แพทย์สั่งยาปฏิชีวนะ คุณแม่ควรรับประทานให้ครบถ้วนโดยไม่หยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม 

สิ่งที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงหลังการแท้งลูก มีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ใช้แรงหักโหม หรือทำงานหนักในช่วง 7 วันแรกหลังแท้งลูก
  • งดการมีเพศสัมพันธ์หลังการแท้ง 1–2 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะไม่มีเลือดออกทางช่องคลอดแล้ว
  • งดการสวนล้างช่องคลอด การใส่ผ้าอนามัยแบบสอด การอาบน้ำในอ่างอาบน้ำ การใช้บ่อน้ำร้อนหรือสระว่ายน้ำรวมหลังการแท้ง 2 สัปดาห์ เพื่อป้องการติดเชื้อหลังแท้ง
  • ในช่วงที่ยังมีเลือดออกทางช่องคลอด ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์

นอกจากดูแลร่างกาย คุณแม่ควรใส่ใจเรื่องการดูแลสภาพจิตใจเช่นกัน ความรู้สึกเสียใจและผิดหวังเป็นเรื่องปกติหลังการสูญเสีย แต่ไม่ควรจมกับความรู้สึกดังกล่าวนานเกินไป และไม่ควรโทษตัวเอง เพราะการแท้งลูกไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้คุณแม่จะดูแลตนเองแล้วก็ยังอาจเกิดการแท้งได้

คุณแม่ควรให้เวลาตัวเองปรับความรู้สึกในแง่ลบให้กลับมาเป็นปกติ โดยอาจทำงานอดิเรกที่ชอบ พูดคุยกับเพื่อนและคนในครอบครัวเพื่อระบายความรู้สึกเศร้า หรือปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้คำแนะนำในการปรับความคิด อารมณ์ และการปฏิบัติตัวเพื่อให้คุณแม่กลับมามีความสุขได้อีกครั้ง

หลังแท้งลูกสามารถมีเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ได้เมื่อไร

โดยปกติแล้ว แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการหลังแท้งลูกของคุณแม่จะดีขึ้น หรืออย่างน้อย 1–2 สัปดาห์หลังการแท้ง ในช่วงแรกคุณแม่อาจรู้สึกปวดเกร็งท้องขณะมีเพศสัมพันธ์ แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น หากมีอาการของการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ หรือมีเนื้อเยื่อและลิ่มเลือดออกจากช่องคลอด ควรไปพบแพทย์ทันที

โดยทั่วไป ประจำเดือนของคุณแม่จะกลับมาเป็นปกติภายใน 3–8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับรอบเดือนของคุณแม่ แต่จะเริ่มตกไข่ภายใน 2 สัปดาห์หลังการแท้ง จึงมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ หากยังไม่ต้องการตั้งครรภ์สามารถคุมกำเนิดได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอประจำเดือนมา ซึ่งวิธีคุมกำเนิดมีหลายวิธี เช่น การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดแบบฉีด ยาคุมกำเนิดแบบฝัง และยาคุมกำเนิดแบบแผ่นแปะ 

คุณแม่ที่ต้องการตั้งครรภ์ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพของคุณแม่ เช่น ตรวจเลือด ตรวจคัดกรองโครโมโซม และวิธีอื่น ๆ เพื่อดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในร่างกายของคุณแม่และให้คำแนะนำในการเตรียมตัวตั้งครรภ์

ผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่กับวิตามินบำรุงครรภ์ตามคำแนะนำของแพทย์ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดขณะตั้งครรภ์ เพราะอาจมีโอกาสแท้งซ้ำได้ การดูแลตัวเองอาจช่วยป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ได้

การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจหลังแท้งลูกไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม การสูญเสียลูกไปไม่ใช่ความผิดของคุณแม่ เพราะไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันการแท้งได้อย่างสมบูรณ์ หากดูแลตัวเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการของโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดการแท้งซ้ำได้