ลมหนาวในช่วงสิ้นปีเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวมักจะคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการได้สัมผัสกับธรรมชาติพร้อมอากาศที่เย็นสบายตามภูเขาและยอดดอยในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เพื่อให้การท่องเที่ยวเต็มไปด้วยความสุข สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการใส่ใจด้านสุขภาพในระหว่างการเดินทาง
หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับอากาศหนาวจัดในระหว่างการท่องเที่ยว ทำให้ไม่สบายตัวหรือป่วยจนอาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง เรามาดูกันว่าการจะท่องเที่ยวในช่วงหน้าหนาวนั้น ควรเตรียมตัวอย่างไรถึงจะปลอดภัยต่อสุขภาพมากที่สุด
สุขภาพและความปลอดภัยในการเดินทางช่วงหน้าหนาว
การท่องเที่ยวในช่วงหน้าหนาวอาจทำให้หลายคนต้องประสบกับปัญหาด้านสุขภาพบางอย่าง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิที่ลดต่ำลง โดยปัญหาสุขภาพที่มักเจอในช่วงหน้าหนาว เช่น
- ภาวะจมูกอักเสบมักจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในอากาศหนาว โดยส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจแห้งและระคายเคืองจนอาจก่อให้เกิดอาการไอ คัดจมูก น้ำมูกไหลหรือคอแห้ง อีกทั้งการเดินทางท่องเที่ยวในหุบเขาสูงที่มีดอกไม้นานาพรรณ ยังอาจเสี่ยงต่อการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ด้วยเช่นกัน
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอย่างโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ มักแพร่กระจายในหน้าหนาวและอาจแพร่กระจายในพื้นที่ท่องเที่ยว รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจทำงานได้น้อยลงเมื่ออยู่ท่ามกลางอากาศหนาวจนทำให้ติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจมักจะมีอาการไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อหรือปวดหัว
- โรคทางผิวหนัง ผิวแห้ง แตก หรือระคายเคืองเนื่องจากอากาศที่แห้งขึ้นในหน้าหนาว โดยเฉพาะการอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ นอกจากนี้ การไม่รักษาความสะอาดอย่างเหมาะสมก็อาจส่งผลให้เกิดกลากหรือเกลื้อนได้เช่นเดียวกัน
นอกจากปัญหาสุขภาพแล้ว อุบัติเหตุบนท้องถนนมักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุแบ่งออกได้เป็นหลายสาเหตุ ทั้งการทำงานที่ผิดปกติของเครื่องยนต์ ความประมาทของผู้ขับขี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออุบัติเหตุจากทางคดเคี้ยวของถนนเอง
ดังนั้น ก่อนการเดินทางจึงควรให้ความสำคัญสมรรถภาพของรถยนต์ สมรรถภาพร่างกายของผู้เดินทาง และสำรวจอันตรายหรืออุบัติเหตุอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการท่องเที่ยวอยู่เสมอ
ท่องเที่ยวหน้าหนาวอย่างไรจะปลอดภัยต่อสุขภาพ
เคล็ดลับในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยระหว่างการเที่ยวช่วงหน้าหนาว ได้แก่
1. ศึกษาเส้นทางและสถานที่ท่องเที่ยว
การศึกษาเส้นทางและสถานที่ท่องเที่ยวทุกครั้งก่อนออกเดินทาง จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากพื้นที่ภูเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็นมักมีหมอกหนา อาจทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ลดลง ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะคนที่ไม่คุ้นเคยกับเส้นทาง
นอกจากนี้ การศึกษาเส้นทางและสถานที่ท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้าก่อนเดินทางยังเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ที่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยวในสถานที่นั้น ๆ ด้วย
2. เช็คความพร้อมของรถยนต์
การตรวจสอบความพร้อมของรถยนต์หรือพาหนะในการเดินทางเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยตลอดการเดินทางเมื่อต้องเดินทางไกลหรือเดิมทางในเส้นทางที่สูงชัน โดยควรเช็คการทำงานของเครื่องยนต์ ระบบเบรก น้ำมันเครื่อง น้ำกลั่น เกียร์ เข็มขัดนิรภัย เบาะนั่งนิรภัยเด็ก ลมยาง ไฟเลี้ยว ไฟส่องสว่าง และควรพกเครื่องมือหรืออะไหล่รถยนต์สำรองไว้ด้วย
3. จัดเตรียมเสื้อผ้าที่เหมาะต่อสถานที่
การสวมเสื้อผ้าที่ไม่เหมาะสมเมื่ออยู่ท่ามกลางอากาศหนาวและในหุบเขาที่มีอากาศเย็นกว่าปกติ หรือสวมเสื้อผ้าที่ไม่ช่วยให้เกิดความอบอุ่นอาจทำให้เกิดอาการป่วยในระหว่างการท่องเที่ยวได้ จึงควรเตรียมเสื้อผ้าที่มีความหนาเพียงพอ เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เสื้อกันหนาวหรือ หน้ากาก ผ้าพันคอ และหมวก
รวมทั้งอาจเตรียมถุงมือและถุงเท้าเพื่อให้มือและเท้าอบอุ่นอยู่เสมอ และหากต้องเดินป่าหรือปีนเขา ควรเตรียมเสื้อผ้าหรือรองเท้าที่เหมาะสมต่อกิจกรรมที่ทำเพื่อความปลอดภัยในระหว่างการท่องเที่ยวหน้าหนาวด้วยเช่นกัน
4. จัดเตรียมอาหาร เครื่องดื่ม และของที่จำเป็น
นอกจากของใช้ส่วนตัวและเสื้อผ้า การจัดเตรียมข้าวของที่จำเป็นจะช่วยให้คุณและครอบครัวเดินทางไกลได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น บางคนอาจจะพกขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มชูกำลังที่ช่วยให้ตื่นตัว
รวมทั้งควรพกเจลล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ และทิชชู่เปียก เพื่อความสะอาดและป้องกันการติดเชื้อในระหว่างเดินทาง สำหรับคนที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ปีนเขาหรือเดินป่า ควรเตรียมไม้เท้าเดินป่าและอุปกรณ์สำคัญอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยของเข่า สะโพก และร่างกายช่วงล่างในระหว่างการทำกิจกรรม
5. จัดเตรียมชุดปฐมพยาบาล
ชุดปฐมพยาบาล ยาโรคประจำตัวและยาสามัญประจำบ้าน เป็นสิ่งสำคัญที่ควรพกติดตัวไว้ตลอดเมื่อต้องเดินทางไกลหรือเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยในชุดปฐมพยาบาลและยาสามัญประจำบ้านมักจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ทำแผล ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด ผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) นอกจากนี้ อาจเตรียมยาที่ซื้อได้เองตามร้านขายยาเพิ่มเติมไปได้ อาทิ ยาแก้เมารถ ยาลดกรด ยาแก้แพ้ ยาทาแก้คันหรือยาทาแก้ปวด
6. ดูแลสุขภาพผิว
เนื่องจากอากาศที่แห้งกว่าปกติในหน้าหนาวอาจทำให้ผิวแห้ง แตก หรือระคายเคือง จึงควรจัดเตรียมครีม โลชั่น น้ำมันทาผิวหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในกับผิว พกครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดด (Sun Protection Factor: SPF) สูงกว่า 30 และทาก่อนออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันแสงแดดและรังสียูวีที่อาจทำร้ายผิว
7. ปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทาง
คนที่มีโรคประจำตัวบางชนิดและต้องกินยาเป็นประจำทุกวัน เช่น โรคหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการกำเริบหรือเสี่ยงติดเชื้อจากการที่มีภูมิต้านทานต่ำ สำหรับบุคคลทั่วไปควรตรวจสุขภาพร่างกาย ช่องปาก และรับการฉีดวัคซีนที่จำเป็นก่อนออกเดินทางเพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้ ควรใส่ใจและสังเกตสุขภาพของสมาชิกที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในระหว่างเดินทางอย่างใกล้ชิด อาทิ เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคประจำตัวที่กล่าวไปข้างต้น เนื่องจากเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายและไวต่อการติดเชื้อ อ่อนเพลีย หรือไวต่อแสงแดดมากกว่าคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการเดินทางในช่วงหน้าหนาวก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ผู้ที่ต้องเดินทางไกลควรพักผ่อนให้เพียงพอ วางแผนการแวะพักระหว่างทางเพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ ขับขี่อย่างระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดตลอดการเดินทาง และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกินยาที่ทำให้รู้สึกง่วง อย่างยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้ไอ