การตั้งครรภ์ในช่วงแรกนั้น นอกจากจะประจำเดือนไม่มา คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแล้ว คุณแม่บางรายอาจเสี่ยงเผชิญปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายหรืออารมณ์จนเป็นอันตรายต่อตนเองและทารกในครรภ์ได้
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ช่วงแรก ได้แก่
แท้ง
แท้งเป็นการสูญเสียทารกในครรภ์ขณะเป็นตัวอ่อน ซึ่งประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์จะเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนหรือในช่วงไตรมาสแรก มักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางโครโมโซมของทารก เนื่องจากเซลล์ไข่หรือเซลล์อสุจิมีความผิดปกติ หรือเกิดปัญหาระหว่างกระบวนการแบ่งตัวของตัวอ่อนเอง
แต่การแท้งก็อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพของมารดาได้ ทั้งจากการติดเชื้อหรือความผิดปกติของมดลูก รวมถึงผู้เป็นแม่ตั้งครรภ์ขณะอายุมาก โดยมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
นอกจากนี้ พฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ก็อาจทำให้เสี่ยงแท้งบุตรมากขึ้น และหากพบว่ามีสัญญาณของการแท้ง เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดเกร็งช่องท้อง หรืออ่อนเพลีย ควรรีบไปพบแพทย์
ท้องนอกมดลูก
โดยปกติไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่เพื่อไปฝังตัวบริเวณผนังมดลูก แต่การท้องนอกมดลูกเกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ปฏิสนธิแล้วไม่สามารถเคลื่อนตัวไปยังมดลูกได้ จึงมักฝังตัวบริเวณท่อนำไข่หรือในบริเวณอื่น ๆ เช่น รังไข่ ปากมดลูก หรือในช่องท้องส่วนอื่น ๆ ซึ่งทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไปได้
ทั้งนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการท้องนอกมดลูกได้ เช่น ตั้งครรภ์ตอนอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ท่อนำไข่ได้รับความเสียหาย ติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน มีประวัติการท้องนอกมดลูกมาก่อน เคยทำหมันหญิงหรือใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด เคยรักษาภาวะมีบุตรยาก เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ระดับฮอร์โมนในกระบวนการตั้งครรภ์ไม่สมดุล เป็นต้น
โดยการท้องนอกมดลูกในระยะแรกมักไม่ปรากฏสัญญาณสำคัญใด ๆ หรืออาจมีอาการคล้ายการตั้งครรภ์ตามปกติในช่วงสัปดาห์ที่ 4‒12 ของการตั้งครรภ์ เช่น ประจำเดือนไม่มา คลื่นไส้ หรือเจ็บหน้าอก แต่ควรไปพบแพทย์หากมีเลือดไหลออกทางช่องคลอดปริมาณมาก ปวดท้องน้อย หน้ามืด เป็นลม วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง เพราะภาวะนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา
ครรภ์ไข่ปลาอุก
ครรภ์ไข่ปลาอุกเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์ไข่และเซลล์อสุจิในระหว่างการปฏิสนธิซึ่งเกิดขึ้นได้ไม่มากนัก แต่ส่งผลให้เนื้อเยื่อเจริญเติบโตผิดปกติและกลายเป็นก้อนเนื้อภายในมดลูกโดยมีลักษณะคล้ายพวงองุ่น
ซึ่งคุณแม่ที่ยังเป็นวัยรุ่นหรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปอาจเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุกได้มากกว่า โดยในช่วงแรกอาจมีอาการคล้ายการตั้งครรภ์ตามปกติ แต่อาจแพ้ท้องอย่างรุนแรงหรือครรภ์โตเร็วกว่าปกติ และหากมีเลือดสีน้ำตาลเข้มหรือสีแดงสดไหลออกจากช่องคลอดในช่วงไตรมาสแรก ควรรีบไปพบแพทย์
แพ้ท้องอย่างรุนแรง
แม้อาการคลื่นไส้และอาเจียนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับการตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก แต่คุณแม่บางรายอาจพบว่าตนเองมีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง ซึ่งมักจะมีอาการดีขึ้นหลังผ่านช่วงสัปดาห์ที่ 16‒20 ไปแล้ว แต่ก็อาจเป็นอยู่จนถึงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน
โดยอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงจะทำให้น้ำหนักตัวลดลง เบื่ออาหาร เกิดภาวะขาดน้ำเนื่องจากอาเจียนมากกว่าปกติ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ และอาจเป็นลมได้
ส่วนบางรายที่มีอาการไม่รุนแรงมากอาจพักผ่อนหรือปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารเพื่อช่วยให้อาการทุเลาลงได้ แต่หากมีอาการรุนแรงมากมักต้องรับการให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ผู้ที่แพ้ท้องอย่างรุนแรงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการด้วยตนเอง
โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
ผู้ที่ตั้งครรภ์ต้องการธาตุเหล็กมากกว่าปกติ โดยต้องใช้ธาตุเหล็กประมาณวันละ 27 มิลลิกรัม เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของรกและการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ และเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการคลอดด้วย
ซึ่งผู้ที่ตั้งครรภ์อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้มากกว่า หากตั้งครรภ์แฝดหรือมีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป ตั้งครรภ์หลังเพิ่งคลอดบุตรไปไม่นาน มีภาวะโลหิตจางหรือมีประจำเดือนมามากก่อนตั้งครรภ์ แพ้ท้องบ่อยหรือได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอในระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น
ซึ่งหากมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอย่างรุนแรง อาจทำให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย หรือเมื่อยล้ามากกว่าปกติ หายใจหอบเหนื่อย วิงเวียน ปวดศีรษะ หน้าซีดหรือปากซีด เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
แม้โดยปกติคุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะเป็นคนอารมณ์ดีและสดใสร่าเริง แต่การตั้งครรภ์อาจส่งผลให้กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ ขี้หงุดหงิด ฉุนเฉียว โมโหง่าย หรือมีอาการซึมเศร้าที่แม้แต่เจ้าตัวเองก็ไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆที่ส่งผลต่ออารมณ์ของคุณแม่ เช่น ความเครียดหรือความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตครอบครัว ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่งผลต่อการทำงานของสมองในการควบคุมอารมณ์ สภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงไป โดยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น รู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกาย ไม่สบายตัวจากการแพ้ท้อง นอนไม่หลับ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
แม้ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่างไม่สามารถป้องกันได้ แต่การฝากครรภ์แล้วไปพบแพทย์ตามนัดหมาย การทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตน เพื่อจัดการกับปัญหาสุขภาพที่มี รับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และส่งเสริมสุขภาพที่ดีของทั้งคุณแม่เองและทารกในครรภ์ด้วย