ตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี เสี่ยงหรือไม่ เตรียมความพร้อมอย่างไร ?

ปัจจุบันสังคมไทยมีค่านิยมในการแต่งงานหรือมีครอบครัวในช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายคนที่วางแผนมีบุตรกังวลว่า การตั้งครรภ์ขณะอายุมากอาจส่งผลต่อสุขภาพครรภ์และการคลอดบุตร โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป แต่การมีลูกช้าหรือเป็นคุณแม่ในวัยนี้ใช่จะมีแต่ข้อเสียเสมอไป การศึกษาความเสี่ยงและเคล็ดลับบำรุงสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรงจะช่วยเตรียมความพร้อมในการเป็นคุณแม่ให้สมบูรณ์ได้ ทั้งทางกาย ใจ และวัยวุฒิ

1597 Resized ตั้งครรภ์ อายุ 35

อายุมากส่งผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร ?

อายุที่มากขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์ได้ โดยผู้หญิงจะมีลูกยากขึ้นหลังจากเลยวัย 30 ปีไปแล้ว เนื่องจากจำนวนไข่และคุณภาพของไข่จะค่อย ๆ ลดน้อยลง หากต้องการมีบุตรในช่วงวัยดังกล่าวจึงอาจต้องใช้เวลานานกว่าผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า บางรายอาจต้องเข้ารับการรักษาหรือใช้เทคนิคทางการแพทย์เพื่อช่วยให้ตั้งครรภ์

นอกจากนี้ ยิ่งอายุมากเท่าไร ผู้หญิงก็ยิ่งมีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ มากขึ้นเท่านั้น ทั้งเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง และเนื้องอกที่มดลูก ซึ่งการเจ็บป่วยเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดได้ โดยหญิงที่มีอายุไม่เกิน 29 ปี มีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพร้อยละ 5.5 และเมื่อมีอายุ 35 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงถึงร้อยละ 12

มีงานวิจัยบางชิื้นชี้ว่า หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อย และพบว่าจากที่หญิงในวัย 20-29 ปีมีความเสี่ยงร้อยละ 10 ก็เพิ่มเป็นร้อยละ 19 ในช่วงวัย 35-39 ปี โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • ความดันโลหิตสูง สูติแพทย์จำเป็นต้องตรวจวัดความดันโลหิตของคุณแม่ที่มีอายุมากบ่อยครั้งกว่าคุณแม่อายุน้อย รวมทั้งต้องตรวจดูการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ หากมีความเสี่ยง แพทย์อาจเร่งให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนด
  • เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะนี้อาจทำให้ทารกมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติและทำให้คุณแม่เสี่ยงเป็นอันตรายขณะคลอด ทั้งยังอาจทำให้มีความดันโลหิตสูงระหว่างคลอด ต้องคลอดก่อนกำหนด หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกหลังคลอดด้วย
  • มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากขึ้นและเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายผลิตไข่ออกมา 2 ใบพร้อมกัน ซึ่งการตั้งครรภ์แฝดนั้นเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าตั้งครรภ์ลูกเพียงคนเดียว
  • เสี่ยงต่อการแท้งบุตรและภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก โดยคุณแม่จะเสี่ยงแท้งลูกถึงร้อยละ 50 หากตั้งครรภ์ตอนอายุ 45 ปี ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งคุณภาพของไข่และความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอย่างเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงของตัวคุณแม่
  • ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ภาวะรกเกาะต่ำ และรกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นต้น

ความเสี่ยงในการคลอดลูกเมื่อมีอายุมาก

หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากอาจต้องได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ในการคลอดบุตรมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ แพทย์อาจต้องใช้วิธีกระตุ้นให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนด โดยหากมีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาจต้องเร่งคลอดตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์ที่ 39-40
  • ทารกไม่กลับหัวเมื่อใกล้คลอด หรือทารกอยู่ในภาวะเครียดระหว่างการคลอด โดยเฉพาะในหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก
  • ใช้เวลาคลอดนานกว่าปกติ เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณครรภ์ของคุณแม่จะทำงานได้น้อยลงเมื่อมีอายุมากขึ้น

จากความเสี่ยงดังข้างต้น แพทย์จึงอาจแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ที่ค่อนข้างมีอายุมากเข้ารับการผ่าคลอด เพื่อให้แม่และเด็กได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในกรณีที่เกิดปัญหาใด ๆ ขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเสี่ยงมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อย แต่ไม่ใช่คุณแม่อายุมากทุกคนที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเหล่านี้ คุณแม่จึงไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไปนัก

ความเสี่ยงต่อลูกน้อยในครรภ์

คุณแม่ที่มีอายุมากก็สามารถคลอดเจ้าตัวน้อยที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ได้เช่นเดียวกับคุณแม่ที่ยังสาว เพียงแต่มีความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดความผิดปกติของโครโมโซมเพิ่มมากขึ้น อย่างกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมที่มีอัตราการเกิดขึ้นได้ 1:1,500 ในหญิงตั้งครรภ์อายุ 20 ปี 1:900 ในหญิงตั้งครรภ์อายุ 30 ปี 1:100 ในหญิงตั้งครรภ์อายุ 40 ปี และ 1:50 ในหญิงตั้งครรภ์อายุ 50 ปี ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ทุกคนจึงควรได้รับการตรวจความผิดปกติของโครโมโซมแต่เนิ่น ๆ

นอกจากความผิดปกติเกี่ยวกับโครโมโซมแล้ว ทารกที่คลอดจากมารดาอายุมากยังเสี่ยงเกิดปัญหาอื่น ๆ ได้ เด็กบางคนอาจมีหัวใจผิดปกติ ในขณะที่เด็กบางคนอาจมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติเนื่องจากเกิดภาวะโตช้าในครรภ์ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กหลังคลอดออกมา และจะเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้สูงขึ้นหากคุณแม่มีอายุมากกว่า 35 ปี

ประโยชน์ของการเป็นคุณแม่อายุมาก

การมีลูกตอนอายุมากไม่ได้มีผลเสียหรือความเสี่ยงเพียงอย่างเดียว แต่ในช่วงอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปนั้น ผู้หญิงมักเริ่มดูแลสุขภาพโดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น และออกกำลังกายบ่อยกว่าในช่วงวัยหนุ่มสาว ทั้งยังมีแนวโน้มสูบบุหรี่น้อยลงหรือเลิกบุหรี่เมื่อตั้งครรภ์มากกว่า ซึ่งจะทำให้มีสุขภาพที่ดีในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้ครรภ์แข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ไปด้วย

ในด้านการดูแลลูก คุณแม่วัยประมาณ 35 ปีมักมีเวลาว่างดูแลลูกน้อยมากกว่าคุณแม่วัยสาว เนื่องจากหน้าที่การงานลงตัวมากขึ้น อีกทั้งอาจมีความรับผิดชอบและความอดทนเมื่อต้องดูแลลูกน้อย ด้วยประสบการณ์และการมองโลกอย่างเป็นผู้ใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีสติรับมือต่อปัญหาต่าง ๆ และเลี้ยงดูลูกอย่างใจเย็น

นอกจากนี้ คุณแม่หลายคนมีความมั่นคงทางการเงินและการงานเพิ่มมากขึ้นตามอายุ การเลี้ยงดูลูกจึงไม่เป็นภาระทางการเงินมากนัก ในขณะที่คุณแม่ยังสาวนั้นอาจหาเงินได้น้อยกว่าและอาจยังเผชิญปัญหาความขัดสนได้

เคล็ดลับบำรุงครรภ์สำหรับคุณแม่มือใหม่

การรักษาสุขภาพและอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกและตัวคุณแม่เอง ซึ่งทำได้ดังนี้

  • ปรึกษาแพทย์ก่อนวางแผนตั้งครรภ์ เพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพให้แน่ใจว่าพร้อมต่อการมีบุตร และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ขณะอายุมากก็จะได้สอบถามแพทย์เพื่อคลายความวิตกกังวลไปด้วย
  • เข้ารับการฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ เพราะช่วง 8 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์นั้นเป็นช่วงที่สำคัญต่อพัฒนาการของทารก ยิ่งฝากครรภ์เร็วเท่าไรก็ยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพครรภ์มากเท่านั้น โดยแพทย์จะตรวจคัดกรองเบื้องต้น ตรวจร่างกาย รวมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองของคุณแม่ และให้คุณแม่เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อย่างเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง โดยการตรวจวัดความดันโลหิตและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ
  • หากมีโรคประจำตัว ควรเข้ารับการตรวจติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมอาการของโรคให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยก่อนตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และลูกน้อย
  • รับประทานวิตามินเสริมที่จำเป็น หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับกรดโฟลิกอย่างน้อยวันละ 400 ไมโครกรัม เพื่อป้องกันภาวะพิการทางสมองของทารก โดยเฉพาะในคุณแม่ที่มีอายุค่อนข้างมาก เพราะมีความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดภาวะดังกล่าวได้สูง แต่ไม่ควรรับประทานเกินกว่า 1,000 ไมโครกรัมโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ ส่วนหญิงที่เคยให้กำเนิดบุตรที่มีภาวะพิการทางสมองมาก่อนนั้น ควรได้รับกรดโฟลิกถึงวันละ 4,000 ไมโครกรัม
  • เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายและมีสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี พืชตระกูลถั่ว และผลิตภัณฑ์จากนม
  • เพิ่มน้ำหนักให้เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าและคลอดก่อนกำหนด ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และภาวะความดันโลหิตสูง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยให้คุณแม่แข็งแรงและมีน้ำหนักตัวไม่มากเกินพอดี ทั้งยังช่วยผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตกกังวลที่อาจเกิดจากการอุ้มท้อง แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมก่อนเสมอ
  • งดสูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะการสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่าปกติ ส่วนพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของคุณแม่นั้นอาจส่งผลให้ทารกเกิดความพิการทางร่างกายหรือความผิดปกติทางจิตได้

นอกจากนี้ คุณแม่ควรสอบถามแพทย์ให้แน่ใจทุกครั้งก่อนรับประทานยา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ เพื่อป้องกันอันตรายต่อครรภ์และทารก เพราะมียาหลายชนิดที่ไม่แนะนำให้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรใช้