ติดเกม (Game Addiction) เป็นพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์หรือวิดีโอเกมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สามารถควบคุมตัวเองให้เลิกเล่นได้ ไม่สนใจทำกิจกรรมอื่น และอาจแยกตัวจากสังคม การติดเกมมักส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต การใช้ชีวิตประจำวัน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
การเล่นเกมในระยะเวลาที่พอเหมาะเป็นวิธีผ่อนคลายความเครียดและให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่หากหมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจเป็นสัญญาณของอาการติดเกมได้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้การติดเกมเป็นโรคทางจิตที่ควรได้รับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม
พฤติกรรมที่เข้าข่ายการติดเกม
อาการติดเกมพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยผู้ป่วยมักมีอาการคล้ายกับติดสารเสพติด คือจะไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดเล่นได้และหมกมุ่นกับการกลับไปเล่นต่อ จนละเลยการทำกิจกรรมอื่นในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการที่อาจพบได้ มีดังนี้
- รู้สึกไม่พอใจ โกรธ หงุดหงิด กระสับกระส่ายเมื่อไม่ได้เล่นเกมหรือเมื่อมีคนบอกให้เลิกเล่นเกม
- เล่นเกมเพื่อบรรเทาความเครียด ความรู้สึกหมดหวัง และความวิตกกังวลในชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาเรื่องการเรียน การทำงาน และครอบครัว
- ต้องการใช้เวลาเล่นเกมเวลานานขึ้นเรื่อย ๆ และใช้จ่ายเงินในเกมเพิ่มขึ้น
- คิดหมกมุ่นกับการเล่นเกม รู้สึกอยากเล่นเกมตลอดเวลา และไม่มีความคิดเรื่องอื่น
- พยายามลดเวลาการเล่นเกมลง แต่ทำไม่สำเร็จ แม้จะรู้ว่าเกิดผลเสียต่อสุขภาพ
- ละเลยการเรียน การทำงาน ไม่พูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ไม่การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยชอบทำ
- ไม่สนใจการดูแลความสะอาดและสุขภาพของตัวเอง
- โกหกหรือปิดบังคนในครอบครัวเกี่ยวกับการใช้เวลาเล่นเกม อาจขโมยเงินหรือหนีเรียนเพื่อไปเล่นเกม
คนที่ติดเกมอาจมีอาการทางสุขภาพอื่น ๆ เช่น ปวดตา ปวดคอ ไหล่ และหลังจากการนั่งเล่นเกมเป็นวลานาน และอาจนำไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น ขาดสารอาหารจากการไม่ได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โรคอ้วนจากการไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย และการรับประทานขนมขบเคี้ยวหรืออาหารขยะ (Junk Food) รวมทั้งโรคนอนไม่หลับ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying)
เด็กและผู้ใหญ่ที่ติดเกมอาจส่งผลให้ความสามารถในการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ผลการเรียนและการทำงานแย่ลง เป็นโรคสมาธิสั้น บางคนอาจมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ โมโหร้ายและใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ผู้ที่เป็นโรคลมชัก (Epilepsy) อาจมีอาการกำเริบจากการเห็นแสง สี และภาพเคลื่อนไหวในเกมได้
สาเหตุของการติดเกม
สมองจะหลั่งสารสื่อประสาทโดพามีน (Dopamine) ออกมาขณะที่เจอเหตุการณ์ที่มีความสุขหรือน่าตื่นตัว โดยขณะที่เล่นเกม สมองจะหลั่งโดพามีนออกมามากกว่าขณะที่ไม่ได้เล่นเกมถึง 2 เท่า คนที่ติดเกมจึงมักจะอยากเล่นเกมต่อเรื่อย ๆ เนื่องจากเสพติดความรู้สึกตื่นตัวและมีความสุขจากการเล่นเกม ทั้งนี้ โดพามีนเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดโรคเสพติดอื่น ๆ เช่น การติดสารเสพติด ติดสุรา และติดการพนัน
นอกจากนี้ การติดเกมอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น
- นิสัยส่วนตัว เช่น หุนหันพลันแล่น ขาดความสามารถในการควบคุมตัวเองและการรับมือกับความเครียดอย่างเหมาะสม คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะติดเกมได้ง่าย
- เด็กที่พ่อแม่ปล่อยปละละเลย ไม่มีเวลาดูแล หรือเลี้ยงแบบตามใจ ไม่กำหนดเวลาเล่นเกม
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น ความผิดปกติด้านการนอนหลับ โรคอ้วน โรคเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า
แนวทางการรักษาการติดเกม
แม้ว่าอาการติดเกมจะยังไม่จัดเป็นโรคในคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 5 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM-5) แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการติดเกมเป็นโรคที่ควรได้รับการรักษาตามบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (ICD)
หากสังเกตว่าตัวเอง ลูกหลาน หรือคนอื่น ๆ ในครอบครัวเริ่มมีอาการติดเกมหรือมีอาการไม่รุนแรงมากนัก ในเบื้องต้นสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันการติดเกมรุนแรง เช่น
- กำหนดเวลาในการเล่นเกมของตัวเองหรือของเด็กอย่างชัดเจน เช่น เล่นได้ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมงหลังทำการบ้านเสร็จ โดยตั้งนาฬิกาปลุกเตือนเมื่อถึงเวลาเลิกเล่น หรือใช้แอปพลิเคชั่นจำกัดเวลาการใช้งานคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ
- ผู้ปกครองควรเลือกเกมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก โดยอาจดูจากการจัดเรตวิดีโอเกมตามช่วงอายุ
- ไม่ตั้งคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เล่นเกมในห้องนอน และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน
- แบ่งเวลาไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ให้เด็กไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ทำงานบ้านหรือทำสวนกับคนในครอบครัว อ่านหนังสือที่สนใจ และออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้ใช้เวลากับการเล่นเกมมากเกินไป
- พยายามห้ามตัวเองไม่ให้ไปเล่นเกมเมื่อเกิดความเครียด โดยอาจทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ เช่น เล่นโยคะ นั่งสมาธิ ฝึกหายใจ
หากพบว่าอาการรุนแรงและใช้การปรับพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผล ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา โดยแพทย์อาจใช้วิธีการบำบัดต่าง ๆ เช่น
- การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เป็นการบำบัดกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้และเข้าใจระบบความคิดที่เป็นสาเหตุของการติดเกม และปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น
- การบำบัดแบบกลุ่ม (Group Therapy) โดยรวมกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการติดเกมเพื่อรับการบำบัดกับนักจิตวิทยา การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนที่มีอาการคล้ายกันจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วย และช่วยเพิ่มทักษะการเข้าสังคม
- การบำบัดครอบครัวหรือการบำบัดคู่สมรส (Family or Marriage Counseling) ใช้บำบัดกรณีที่คนในครอบครัวมีอาการติดเกม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวหรือความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส
ผู้ป่วยที่มีโรคทางจิตอื่น ๆ ร่วมกับอาการติดเกม เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคสมาธิสั้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยารักษาอาการทางจิตควบคู่กับการบำบัด เพื่อให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น
การเล่นเกมในระยะเวลาที่เหมาะสมจะช่วยผ่อนคลายความเครียดและให้ความเพลิดเพลิน ทั้งนี้ ควรแบ่งเวลาในการดูแลสุขภาพร่างกาย เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ตรงเวลา ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท ซึ่งจะทำให้มีสุขภาพที่ดีและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข