ตุ่มใสที่มือ คือตุ่มของเหลวหรือตุ่มน้ำสีใสที่เกิดขึ้นบริเวณนิ้วมือหรือฝ่ามือ โดยของเหลวภายในตุ่มใสมักประกอบไปด้วยเซรุ่ม (Serum) ซึ่งส่วนประกอบของเลือดที่เป็นของเหลว โดยตุ่มใสที่มือมักเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การเสียดสี โรคผิวหนังบางชนิด หรือการติดเชื้อ และอาจนำมาสู่อาการเจ็บหรือคันบริเวณตุ่มใสที่มือได้
ตุ่มน้ำพองหรือตุ่มพองสามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณของร่างกาย โดยของเหลวภายในตุ่มอาจเป็นเลือด หรือหนองขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ เมื่อเวลาผ่านไป ของเหลวภายในตุ่มอาจถูกดูดซึมเข้าผิวหนัง ยุบลง และหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อย่างไรก็ตาม หากมีตุ่มใสที่มือ ไม่ควรบีบหรือเจาะด้วยตนเอง เพราะอาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดตุ่มใสที่มือ
ตุ่มใสที่มืออาจเกิดขึ้นเพียงตุ่มเดียว หรืออาจเกิดขึ้นเป็นผื่นทั่วทั้งมือขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ โดยตุ่มใสที่มือมักเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. การเสียดสี
ตุ่มใสที่มืออาจเกิดจากการเสียดสีของผิวหนังที่มือ เมื่อมือเกิดการเสียดสีกับวัตถุอย่างต่อเนื่องจากการทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกายโดยการโหนบาร์ การยกของหนัก อาจทำให้เกิดตุ่มใสหรือตุ่มแดงที่มือ และอาจทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสได้
2. โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic eczema)
ตุ่มใสที่มืออาจเกิดจากโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสโลหะต่าง ๆ เช่น นิกเกิลหรือโคบอลต์ การมีเหงื่อออกที่มือหรือการทำงานที่ทำให้มือเปียกบ่อย ๆ เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการภูมิแพ้ เช่น โรคหืด (Asthma) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
โดยตุ่มใสที่มือจากโรคผิวหนังชนิดนี้มักก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น คัน แดง แสบบริเวณตุ่มใสที่มือ ซึ่งตุ่มใสชนิดนี้มักดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2–3 สัปดาห์
3. โรคผื่นระคายสัมผัส
ตุ่มใสที่มืออาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคผื่นระคายสัมผัส ซึ่งเกิดจากการอาการแพ้สารเคมีหรือสารก่อภูมิแพ้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สบู่ น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า เครื่องประดับ ถุงมือยาง โดยตุ่มใสที่มืออาจเกิดขึ้นโดยทันที หรือเกิดหลังจากสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ภายใน 48 ชั่วโมง นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมบนมือ เช่น คัน ผิวแห้ง เจ็บหรือแสบบริเวณตุ่มใสที่มือ
4. การใช้ยาบางชนิด
ยาบางชนิดอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาตอบสนอง และเกิดเป็นตุ่มใสที่มือได้ โดยตัวอย่างยาที่อาจก่อให้เกิดตุ่มใสที่มือหลังจากการใช้ เช่น
- กรดนาลิดิซิก (Nalidixic acid)
- ยาปฏิชีวะนะบางชนิด เช่น ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ยาไตรเมโทพริม ซัลฟาเมทอกซาโซล (TMP-sulfamethoxazole)
- ยาในกลุ่มยา NSAIDs บางชนิด เช่น ยานาพรอกเซน (Naproxen)
- ยารักษาโรคลมชัก เช่น กรดวาลโปรอิก (Valproic Acid)
อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ และแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง หากรับประทานหรือใช้ยาใดแล้วพบตุ่มใสเกิดขึ้นที่มือ
5. แมลงกัด
การถูกแมลงกัดที่มืออาจทำให้เกิดตุ่มใส และทำให้รู้สึกคันได้ เช่น การถูกโลนกัด โดยโลนเป็นแมลงขนาดเล็กที่มักพบได้ในบริเวณอวัยวะเพศ แต่อาจสามารถพบได้บริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น มือ เท้า เอว ซึ่งโลนสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เมื่อถูกโลนกัดที่มือ อาจก่อเกิดอาการคันอย่างรุนแรงและเกิดตุ่มใสที่มือ
นอกจากนี้ การถูกตัวเรือดกัดก็อาจก่อให้เกิดตุ่มใสที่มือเช่นกัน โดยตัวเรือดเป็นแมลงขนาดเล็ก มักอาศัยอยู่ตามเตียงนอนหรือเครื่องนอน เมื่อโดนตัวเรือดกัดที่มือ อาจทำให้บริเวณที่ถูกกัดบวม แดง คัน แสบ มีตุ่มใสที่มือ และมีจุดสีดำอยู่ตรงกลางรอยกัด
6. รอยแผลไหม้
เมื่อเกิดแผลไหม้ระดับสองบริเวณมือ เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ผิวไหม้แดดอย่างรุนแรง การสัมผัสโดนความร้อน การอยู่ใกล้ไฟมากเกินไป การสัมผัสโดนสารเคมี หรือการสัมผัสโดนความเย็นจัด (Frostbite) อาจทำให้ผิวหนังที่เกิดแผลไหม้มีอาการแดง เจ็บ บวม ลอกออก และมีตุ่มใสที่มือ โดยตุ่มใสที่เกิดขึ้นอาจเป็นหนึ่งในกลไกของร่างกายเพื่อปกป้องแผลรอยไหม้จากการติดเชื้อ
7. การติดเชื้อไวรัส
โรคบางชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอาจก่อให้เกิดตุ่มใสบริเวณร่างกาย โดยตุ่มใสที่มืออาจเกิดจากโรคมือเท้าปาก ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่มักพบบ่อยในเด็ก ซึ่งโรคนี้อาจส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เจ็บคอ มีไข้ รวมไปถึงตุ่มใสหรือผื่นบริเวณมือ เท้า ใบหน้า และภายในปาก
นอกจากนี้ ตุ่มใสที่มืออาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น แผลพุพอง โรคอีสุกอีใส โรคงูสวัด และโรคเริม หากสังเกตเห็นตุ่มใสที่มือ และสงสัยว่าอาจเกิดจากโรคเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันทีเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
8. โรคซิฟิลิส (Syphilis)
ตุ่มใสที่มืออาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคซิฟิลิส ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยในช่วงระยะที่ 2 ของโรคอาจทำให้เกิดผื่นลักษณะต่าง ๆ เช่น ตุ่มใส ตุ่มนูน ตุ่มแบนสีน้ำตาลเข้มหรือสีแดง บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย นอกจากผื่นแล้ว อาจมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร มีหูดหรือตุ่มน้ำเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ปาก ข้อพับ
ตุ่มใสที่มือกับสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์
ตุ่มใสที่มือเป็นอาการมักหายได้เอง โดยสามารถบรรเทาอาการของตุ่มใสที่มือได้โดยการรักษาความสะอาดบริเวณตุ่มใส ประคบเย็นเพื่อลดอาการเจ็บหรือบวม ไม่ควรบีบหรือเจาะตุ่มน้ำด้วยตนเอง หากตุ่มใสที่มือแตก ควรรีบทำความสะอาดแผล และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์ หากตุ่มใสที่มือที่อาการรุนแรง ตุ่มใสมีขนาดใหญ่ รู้สึกเจ็บบริเวณตุ่มใสอย่างรุนแรง หรือมีตุ่มใสที่มือร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น
- มีไข้ หนาวสั่น
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น ตุ่มใสที่มือเจ็บ บวม และแดงมากขึ้น เกิดรอยแดงเป็นเส้นยาวบริเวณผิวหนังใกล้ตุ่มใส ตุ่มที่มือมีเลือดหรือหนองไหลซึมออกมา
การรักษาตุ่มใสที่มือมักรักษาตามโรคหรืออาการที่เป็นสาเหตุ นอกจากนี้ แพทย์เจาะระบายของเหลวภายในตุ่ม และจ่ายยาต่าง ๆ เช่น ยาแก้แพ้ (Antihistamines) ยาแก้คัน เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับตุ่มใสที่มือ