ถอดเล็บ (Nail Avulsion) คือ ขั้นตอนทางการแพทย์ที่แพทย์จะใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อดึงหรือถอดเล็บมือ หรือเล็บเท้าออกมา เนื่องจากปัจจัยทางสุขภาพที่ต้องรักษาให้หาย เช่น การเกิดเล็บขบ เล็บฉีกขาด หรือเล็บบางส่วนหลุดออกจากเนื้อเยื่อฐานเล็บ เพื่อเปิดโอกาสให้เล็บมือหรือเล็บเท้างอกขึ้นมาใหม่ตามกระบวนการทางธรรมชาติ ซึ่งเล็บมักใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการงอกขึ้นมาใหม่ แต่ในกระบวนการงอกใหม่ของเล็บไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดแต่อย่างใด
ทำไมต้องถอดเล็บ ?
การถอดเล็บเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญสำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยบริเวณเล็บ เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีอื่น อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยเจ็บปวดมากขึ้น หรือเล็บอาจผิดรูปไปอย่างถาวร
สาเหตุส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยมักต้องเข้ารับการถอดเล็บจากแพทย์ ได้แก่
- เล็บขบ
- ประสบอุบัติเหตุจนเล็บบางส่วนหลุด หรือฉีกขาด
- การติดเชื้อบริเวณเล็บหรือเนื้อเยื่อใต้เล็บ เช่น การติดเชื้อราจนเล็บได้รับความเสียหายมาก และแพทย์ลงความเห็นว่าผู้ป่วยควรถูกถอดเล็บ
- เล็บหนา อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติแต่กำเนิด ป่วยด้วยโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) อายุที่เพิ่มมากขึ้น สวมใส่รองเท้าที่คับแน่นเกินไปบ่อย ๆ
ถอดเล็บ ทำอย่างไร ?
- เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจอาการ แล้วพิจารณาว่าผู้ป่วยควรถอดเล็บหมดทั้งนิ้ว หรือตัดดึงเล็บออกเพียงบางส่วน
- ผู้ป่วยอาจนอนหงายบนเตียงคนไข้ หรืออยู่ในท่านั่ง แล้ววางมือหรือเท้าลงในแนวราบ จากนั้น แพทย์จะให้สารละลายโพวิโดน ไอโอดีน (Povidone-Iodine Solution) หรือยาชาเพื่อระงับความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณนิ้วที่จะถูกถอดเล็บ โดยรอประมาณ 5-10 นาทีให้ยาออกฤทธิ์ ในบางรายแพทย์อาจทายาฟีนอล (Phenol) ลงไปด้วย เพื่อป้องกันการเกิดเล็บขบซ้ำอีก
- ในกรณีที่มีการติดเชื้อ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วย แล้วนำหนองใต้เล็บออกก่อน
- แพทย์อาจใช้ยางรัดบริเวณโคนนิ้วส่วนที่แห้ง แล้วบีบหรือกดข้างนิ้วในขณะถอดเล็บ เพื่อไม่ให้เลือดไหลออกมาก
- แพทย์จะล้างทำความสะอาดนิ้วอีกครั้ง ก่อนจะใช้เครื่องมือดึงถอดเล็บส่วนที่มีปัญหาออกมาจนหมด หรืออาจใช้กรรไกรผ่าตัดตัดตกแต่งเล็บส่วนที่มีปัญหาออก โดยแพทย์อาจถอดเล็บออกทั้งหมด ตัดออกเพียงบางส่วน หรืออาจเหลือโคนเล็บไว้ประมาณ 1/4 หรือ 1/5 ส่วนของเล็บทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- หากเนื้อเยื่อบริเวณใต้เล็บเสียหายมาก แพทย์อาจใช้เครื่องมือจี้ด้วยไฟฟ้า เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อเหล่านั้น แล้วเช็ดออกด้วยผ้าก๊อซ จนกว่าจะเหลือเนื้อเยื่อสุขภาพดีอยู่ใต้เล็บ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเล็บงอกใหม่
- หลังจากนั้น แพทย์อาจทายาปฏิชีวนะในรูปครีมขี้ผึ้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แล้วพันด้วยผ้าพันแผลที่สะอาดปลอดเชื้อ หากเป็นการถอดเล็บเท้า ผู้ป่วยอาจต้องสวมรองเท้าแตะ และต้องรักษาความสะอาดบริเวณบาดแผล ดูแลให้ผิวหนังบริเวณที่ถอดเล็บแห้งอยู่เสมอ รับประทานยาตามแพทย์สั่ง และมาพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามผลการรักษาต่อไป
การพักฟื้นหลังถอดเล็บ
- ผู้ป่วยกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ โดยควรเปลี่ยนผ้าพันแผลทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อและสิ่งสกปรกสะสมในแผล ไม่ใช้พลาสเตอร์เหนียวปิดรอบแผล เพราะกาวเหนียวของพลาสเตอร์อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดและความเสียหายแก่แผลขณะลอกออก
- ผู้ป่วยต้องกลับมาให้แพทย์ล้างแผลภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์อาจใช้ยาฆ่าเชื้อ (Antiseptic) หรือสารละลายน้ำเกลือล้างทำความสะอาดแผล จากนั้น ผู้ป่วยจึงพักฟื้นได้ตามปกติ โดยระมัดระวังไม่ให้บาดแผลได้รับการกระทบกระเทือน เปียกชื้น สกปรก หรือติดเชื้อ
- แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และยาบรรเทาปวดอย่างพาราเซตามอล ซึ่งควรใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือบนฉลากยา และยาอื่น ๆ ในกลุ่ม NSAIDs อย่างไอบูโพรเฟน แต่ยาชนิดนี้อาจกระทบต่อการรักษาและสุขภาพของผู้ที่กำลังใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ที่สำคัญ ประวัติการแพ้ยา รวมถึงอาการป่วยและยารักษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันด้วย เพราะการใช้ยาบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ระมัดระวังในการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม และสอบถามแพทย์เมื่อมีปัญหาหรือข้อสงสัยใด ๆ
- ยกมือหรือเท้าที่ถอดเล็บออกให้อยู่สูงกว่าหัวใจเสมอในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังการถอดเล็บ หรือใช้หมอนรองช่วยยกอวัยวะเหล่านั้นให้สูงขึ้น เพื่อช่วยลดอาการบวมและบรรเทาความเจ็บปวด
- ห่อน้ำแข็งด้วยถุงพลาสติกหรือผ้าขนหนู แล้วประคบรอบ ๆ บาดแผลเป็นเวลา 15-20 นาที ทุก ๆ ชั่วโมง เพื่อป้องกันเนื้อเยื่อบริเวณนั้นเสียหาย ช่วยลดอาการบวม และบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น
- ไม่สวมรองเท้าที่คับแน่นจนเกินไป รองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้า หรือถุงน่องที่รัดแน่น ควรสวมถุงเท้าผ้าฝ้ายที่มีเนื้อนุ่มสบายแทน
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่พักฟื้น ผู้ป่วยควรสังเกตตัวเอง หากมีอาการต่อไปนี้ควรรีบไปพบแพทย์
- มีเลือดไหลออกมาจนชุ่มผ้าพันแผล
- มีเส้นสีแดงเป็นจ้ำตามแขนหรือขา
- มีไข้ หรือหนาวสั่น
- แผลบวมแดง หรือมีหนองไหลออกมา
- มีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น หรืออาการปวดไม่ทุเลาลงแม้รับประทานยาแก้ปวดไปแล้ว
- มีข้อสงสัย ไม่สบายใจ เกี่ยวกับการป่วยและการรักษา
ข้อจำกัดของการถอดเล็บ
เมื่อถอดเล็บแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าเล็บจะงอกขึ้นมาใหม่ ผู้ป่วยสุขภาพดีทั่วไปอาจใช้เวลาถึง 9 เดือน กว่าเล็บมือจะงอกขึ้นมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ในขณะที่การงอกใหม่อย่างสมบูรณ์เต็มที่ของเล็บเท้าอาจใช้เวลาถึง 18 เดือน หากผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุหรือเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพต่าง ๆ การงอกใหม่ของเล็บอาจใช้เวลานานกว่านั้น ดังนั้น หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการถอดเล็บ จึงควรวางแผนการทำงาน การเรียน หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องไว้ให้ดี เพื่อเตรียมความพร้อมในขณะที่ต้องพักฟื้นตัว
แม้การถอดเล็บจะช่วยกำจัดเล็บที่เสีย แต่ในบางกรณี การถอดเล็บก็ไม่ได้ช่วยรักษาอาการป่วยที่เป็นสาเหตุออกไปได้ทั้งหมด อย่างผู้ที่ติดเชื้อราในเล็บ เชื้อราอาจเจริญเติบโตอยู่ในผิวหนังใต้เล็บบริเวณโคนเล็บที่ลึกลงไป หรือแม้แต่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน การถอดเล็บไม่ได้มีผลต่อการรักษาภาวะอักเสบของเล็บได้ และในบางครั้ง ผู้ป่วยอาจต้องถูกถอดเล็บซ้ำ ๆ ตามที่แพทย์พิจารณา เพื่อป้องกันและรักษาบางอาการป่วยด้วยเช่นกัน
ภาวะแทรกซ้อนของการถอดเล็บ
ผู้ป่วยควรดูแลรักษาความสะอาดและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น
- ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic Contact Dermatitis) อาจเกิดจากการใช้ยาทิงเจอร์หรือสารละลายเบโซอิน (Benzoin) ซึ่งมีส่วนผสมของสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นยางไม้และยางสนปนอยู่ด้วย หากผู้ป่วยแพ้สารในกรณีนี้ แพทย์อาจต้องใช้พลาสเตอร์แบบกาวปิดแผลแทน
- การติดเชื้อแบคทีเรียทุติยภูมิ (Secondary Bacterial Infection) เป็นการติดเชื้อที่เกิดขึ้นหลัง หรือระหว่างการรักษาการติดเชื้อที่เป็นเหตุทำให้ต้องถอดเล็บในตอนแรก