การทำกิ๊ฟ หรือ GIFT (Gamete Intrafallopian Transfer) เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ เนื่องจากเหตุผลจำกัดทางด้านร่างกาย โดยถือเป็นการรักษาแบบทางเลือกและเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคู่รักที่มีปัญหาในการมีลูก
GIFT เป็นการปฏิสนธิภายในร่างกายด้วยการฉีดไข่ที่สุกแล้วกับอสุจิและเข้าไปในร่างกายของฝ่ายหญิงเพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ แต่ในอีกทางหนึ่ง วิธีการนี้ยังมีข้อจำกัดและข้อมูลที่คู่รักควรศึกษาก่อนตัดสินใจอยู่เช่นกัน
ใครสามารถทำ GIFT ได้บ้าง ?
ผู้ที่เข้ารับการทำ GIFT ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่ประสบปัญหากับภาวะมีลูกยาก (Infertility) จากสาเหตุหรือเงื่อนไขต่าง ๆ โดยอาจเป็นไปได้ทั้งจากฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย เช่น ฝ่ายหญิงมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีปัญหาการตกไข่ มีโรคเกี่ยวกับระบบและอวัยวะสืบพันธุ์อื่น ๆ ฝ่ายชายมีจำนวนอสุจิต่ำหรืออสุจิไม่แข็งแรง รวมไปถึงคู่รักที่มีลูกยากโดยไม่ทราบสาเหตุ คู่รักที่ไม่ประสบความสำเร็จในการมีบุตรจากการทำ IVF (In-vitro Fertilization) หรือเด็กหลอดแก้ว
อย่างไรก็ตาม อย่างที่กล่าวไปว่าวิธีนี้มีข้อจำกัด คือ ฝ่ายหญิงต้องมีท่อนำไข่ (Fallopian Tube) ที่ยังใช้งานได้อย่างน้อยหนึ่งข้าง ขณะที่ฝ่ายชายต้องมีจำนวนอสุจิไม่อยู่ในระดับต่ำมากจนเกินไป
การทำ GIFT มีวิธีการอย่างไร ?
เมื่อคู่รักตัดสินใจที่จะเข้ารับการทำ GIFT และผ่านการประเมินเงื่อนไขจากแพทย์แล้ว โดยก่อนหน้าการผสมไข่ ฝ่ายหญิงจะได้รับการฉีดยาหรือจ่ายยาเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตกและเตรียมพร้อมกับการปฏิสนธิ เมื่อเตรียมร่างกายพร้อมแล้ว แพทย์จะทำการผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปยังถุงไข่ของฝ่ายหญิงเพื่อเก็บไข่ที่สุกแล้วออกมาราว 8-15 ใบ ซึ่งไข่ส่วนหนึ่งนำมาผสมกับอสุจิของฝ่ายชายที่คัดเลือกตัวที่แข็งแรงไว้แล้ว และไข่อีกส่วนหนึ่งจะเก็บรักษาไว้ด้วยการแช่แข็งสำหรับใช้ในกรณีที่การตั้งครรภ์ครั้งนี้ไม่สำเร็จ จากนั้นแพทย์ก็จะนำไข่ทีสุกแล้วและอสุจิฉีดเข้าไปยังท่อนำไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิต่อไป
ภายหลังจากการผ่าตัดนี้ แพทย์จะสั่งจ่ายยาให้กับฝ่ายหญิงเพื่อรักษาสภาพของเยื่อบุผนังมดลูกและท่อนำไข่ให้เหมาะสมกับการตั้งครรภ์ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นแพทย์จะนัดเพื่อเข้ารับการตรวจการตั้งครรภ์อยู่เสมอ
ความสำเร็จในการทำ GIFT นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยทางร่างกาย อย่างอายุและความพร้อมของร่างกาย โดยการทำกิ๊ฟ 1 ครั้ง อาจใช้เวลาราว 6 สัปดาห์ เมื่อเทียบอัตราความสำเร็จต่อรอบแล้ว หญิงที่อายุ 38 ปี หรือต่ำกว่านั้นมีโอกาสที่ตั้งครรภ์ด้วยวิธีนี้ประมาณ 37 เปอร์เซ็นต์ต่อรอบ ส่วนผู้ที่อายุ 39 ปีขึ้นไป อัตราความสำเร็จอาจอยู่ที่ประมาณ 29 เปอร์เซ็นต์ต่อรอบ ซึ่งค่าเฉลี่ยจากทุกกลุ่มอัตราการตั้งครรภ์สำเร็จจนคลอดทารกจะอยู่ที่ ประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ อัตราความสำเร็จเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยส่วนบุคคล
ข้อเสียและความเสี่ยงจากการทำ GIFT
การทำกิ๊ฟเป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่ายา ค่าแพทย์ ค่าผ่าตัด และต้องเข้ารับการตรวจอยู่เป็นประจำ เพราะการผ่าตัดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างอาการปวด มีแผลและมีเลือดไหล อีกอย่างหนึ่ง คือ แพทย์ไม่สามารถยืนยันแน่นอนได้ว่าการทำกิ๊ฟในแต่ละครั้งจะเกิดการตั้งครรภ์หรือไม่ นอกจากนี้ แม้ว่าจะตั้งครรภ์สำเร็จก็ยังเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูกและการตั้งท้องแฝด ตั้งแต่สองขึ้นไป ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะแท้งหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นระหว่างตั้งครรภ์ได้สูงกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม การทำกิ๊ฟนั้นเป็นเพียงวิธีทางการแพทย์ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์เท่านั้น ซึ่งความแข็งแรงของสุขภาพก็อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกิ๊ฟหรือการรักษาภาวะมีลูกยากแบบอื่น ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้น ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังประสบปัญหานี้ ควรดูแลตนเองเป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือการรักษาโรคประจำตัวที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาเหล่านี้ เพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์
สุดท้ายนี้ หากพยายามมีลูกต่อเนื่องกันหลายเดือนจนถึงหนึ่งปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ นี่อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของภาวะมีลูกยากได้ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาโดยเร็วที่สุด