ฟันสบลึกเป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลให้มีการสบฟันที่ผิดปกติ โดยฟันบนด้านหน้าจะคร่อมปิดฟันล่างด้านหน้ามากผิดปกติขณะกัดฟัน หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของฟัน ซึ่งการรักษาในปัจจุบัน ทันตแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ หรือภาวะผิดปกติทางร่างกายที่อาจเกี่ยวข้อง
แม้ฟันสบลึกอาจจะดูเป็นปัญหาที่ไม่รุนแรงหรือเพียงส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของบางคน แต่บางกรณีการสบฟันที่ผิดปกติและไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ได้ เช่น ฟันล่างด้านหน้าเกิดการสึกกร่อนหรือผิดรูป เกิดแผลบริเวณเพดานปาก รับประทานอาหารลำบาก หรือเกิดความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาฟันสบลึกควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม
สาเหตุของฟันสบลึก
ฟันสบลึกเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับขากรรไกรในลักษณะที่ขากรรไกรล่างมีขนาดเล็กกว่าขากรรไกรบนมากผิดปกติ อาจส่งผลให้การเจริญเติบโตของฟันผิดปกติ ฟันหน้าด้านบนจึงยื่นลงมาคร่อมฟันหน้าด้านล่าง ส่วนฟันหน้าด้านล่างก็จะยืดขึ้นจนชนบริเวณหลังฟันหน้าด้านบนหรือบริเวณเพดานปาก
อย่างไรก็ตาม ฟันสบลึกยังอาจเกี่ยวข้องหรือเกิดได้จากปัจจัยอื่น ๆ เช่น
- พันธุกรรม
- ฟันบางซี่หลอ โดยเฉพาะฟันกรามด้านล่าง
- เกิดความเสียหายบริเวณขากรรไกร
- พื้นที่ของกระดูกขากรรไกรไม่เพียงพอให้ฟันแท้ขึ้น
- พฤติกรรมบางอย่างที่อาจมีส่วนทำให้เกิดฟันสบลึก เช่น การกัดฟันหรือเคี้ยวแรง ๆ เป็นประจำ การกัดเล็บ หรือพฤติกรรมที่มักพบได้ในเด็ก อย่างการอมนิ้ว ติดขวดขม หรืออมจุกนมยางบ่อย ๆ เป็นต้น
การรักษาฟันสบลึก
ทันตแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ หรือสาเหตุที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะฟันสบลึกของผู้ป่วย
ในกรณีที่เป็นเด็ก ทันตแพทย์อาจเลือกรักษาฟันสบลึกโดยการใช้เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิดเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรล่าง
ส่วนในกรณีผู้ใหญ่ ทันตแพทย์มักรักษาด้วยการใส่อุปกรณ์จัดฟัน ร่วมกับวิธีการรักษาอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เช่น การถอนฟันบางซี่ การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ยืดฟันกรามขึ้นเพื่อช่วยให้ฟันหน้าด้านบนหรือฟันหน้าด้านล่างเคลื่อนเข้าสู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง หรือการผ่าตัดขากรรไกร หากปัญหาฟันสบลึกมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของกระดูก
สำหรับการจัดฟัน ทันตแพทย์จะพิจารณาวิธีที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งมีทั้งแบบลวดปกติและแบบใส ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะฟันสบลึกและดุลยพินิจของทันตแพทย์ผู้รักษา
โดยการจัดฟันแบบลวดปกติจะเป็นวิธีที่ทันตแพทย์ติดอุปกรณ์บนผิวฟันและใช้ลวดยึดกับอุปกรณ์เพื่อเคลื่อนฟันไปในทิศทางที่ทันตแพทย์ต้องการ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องติดอุปกรณ์เอาไว้ตลอดเวลา
ส่วนการจัดฟันแบบใส ทันตแพทย์จะออกแบบอุปกรณ์จากรูปฟันของผู้ป่วยแต่ละคน และให้ผู้ป่วยสวมอุปกรณ์ไว้ตลอดเวลาเพื่อเคลื่อนฟัน แต่สามารถถอดออกได้ตอนรับประทานอาหารและตอนแปรงฟัน การจัดฟันแบบใสจึงอาจช่วยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้สะดวก และสามารถทำความสะอาดฟันได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้น เนื่องจากอุปกรณ์จัดฟันชนิดนี้เป็นพลาสติกใสซึ่งจะสังเกตเห็นได้ค่อนข้างยาก จึงอาจทำให้ผู้ที่จัดฟันแบบใสยิ้มหรือพูดได้อย่างมั่นใจมากกว่า รวมทั้งยังไม่ต้องกังวลกับปัญหาอุปกรณ์จัดฟันหลุด หรือถูกอุปกรณ์จัดฟันเกี่ยวขณะเคี้ยวอาหารเหมือนการจัดฟันแบบลวดปกติอีกด้วย
การรักษาฟันสบลึกเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน จึงควรไปพบทันตแพทย์ตามนัดและทำตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และอีกสิ่งที่สำคัญเช่นกันก็คือการเลือกสถานพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยควรเลือกสถานพยาบาลที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามแผนที่กำหนดและป้องกันปัญหาด้านสุขภาพในช่องปากที่อาจเกิดขึ้น
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 23 กันยายน 2565
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ.นิลวรรณ นิมมานวรวงศ์
เอกสารอ้างอิง
- Fattahi, et al. (2014). Skeletal and dentoalveolar features in patients with deep overbite malocclusion. Journal of dentistry (Tehran, Iran), 11 (6), pp. 629–638.
- พงศธร พู่ทองคำ. มหาวิทยาลัยมหิดล. คณะทันตแพทยศาสต ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน. ความผิดปกติของการสบฟันในผู้ป่วยวัยเด็ก.
- American Association of Orthodontists (2019). What is a Deep Bite?
- Larson, J. Healthline (2021). What to Know About Invisalign and Its Effectiveness.
- Silver, N. Healthline (2020). Deep Bite: More Than a Cosmetic Issue.
- Norris, T. Healthline (2018). How Much Does Invisalign Cost and How Can I Pay for It?.
- Bansal, M. WebMD. What is an Overbite?