ทำความรู้จักฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนสำคัญสำหรับเพศหญิง

ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงทั้งหมด ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงวัยรุ่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ไปจนถึงการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และมีความสำคัญต่อระบบอื่นภายในร่างกายด้วย นอกจากนี้ ยังมีการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในรูปแบบของฮอร์โมนทดแทนเพื่อรักษาหรือป้องกันอาการบางอย่าง 

ฮอร์โมนเอสโตรเจนส่วนใหญ่จะผลิตจากรังไข่ บางส่วนผลิตจากต่อมหมวกไตและเนื้อเยื่อไขมัน หากเป็นช่วงที่มีช่วงตั้งครรภ์ รกจะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนชนิดนี้ด้วย แม้ว่าเอสโตรเจนจะถูกเรียกเป็นฮอร์โมนเพศหญิง แต่เพศชายก็มีฮอร์โมนนี้เช่นกัน เพียงแค่มีในปริมาณที่น้อยกว่า 

Estrogen

ความสำคัญของฮอร์โมนเอสโตรเจน

เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายของเพศหญิงจะเพิ่มขึ้น ทำให้สภาพร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เช่น หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น มีขนขึ้นบริเวณหัวหน่าวและใต้วงแขน มีสิวขึ้น รวมถึงมีประจำเดือนและเตรียมพร้อมต่อการตั้งครรภ์ 

โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนมีบทบาทหลายอย่างที่ช่วยให้สภาพร่างกายของเพศหญิงพร้อมในการตั้งครรภ์ เช่น หลั่งเมือกหล่อลื่นในช่องคลอดเพื่อลดความเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ช่วยให้ปากมดลูกบางลงเพื่อให้สเปิร์มว่ายไปผสมกับไข่ได้ง่ายขึ้น และช่วยให้เยื่อบุมดลูกหนาขึ้นรองรับกับการฝังตัวของไข่ แต่หากไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เยื่อบุมดลูกก็จะหลุดลอกออกมากลายเป็นประจำเดือน

เมื่ออายุมากขึ้นหรือในช่วงอายุ 45–55 ปี ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพศหญิงจะลดลง จึงส่งผลต่อร่างกายหลายด้าน เช่น ช่องคลอดแห้ง รู้สึกร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย ประจำเดือนขาด ไปจนถึงการไม่มีประจำเดือนเลย ซึ่งจะเรียกอาการเหล่านี้ว่าอาการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือที่รู้จักกันว่าวัยทองนั่นเอง

นอกจากนี้ ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังมีความสำคัญกับระบบอื่น ๆ ภายในร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบโครงร่าง และระบบประสาทส่วนกลาง โดยช่วยควบคุมการทำงานของสมองและการจดจ่อ ควบคุมการไหลเวียนของเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอล ควบคุมการผลิตคอลลาเจนเพื่อให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนัง ไปจนถึงควบคุมมวลกระดูกและกล้ามเนื้อในร่างกาย

การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อรักษาโรค

นอกจากจะเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นเองแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังถูกสังเคราะห์ในรูปแบบของฮอร์โมนทดแทนเพื่อบรรเทาอาการวัยทองในผู้หญิงที่หมดประจำเดือน เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้เพียงพอต่อความต้องการ 

หรือผู้ที่จำเป็นต้องผ่าตัดรังไข่ออกอาจต้องได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบสังเคราะห์ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนได้อย่างเหมาะสม การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนจะช่วยป้องกันการเกิดอาการวัยทองเร็วกว่าปกติได้ 

นอกจากนี้ การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น เสริมความแข็งแรงของกระดูก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหักในผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ลดอาการปวดข้อ และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้และโรคเบาหวานด้วย

อย่างไรก็ตาม การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ เช่น เกิดลิ่มเลือดที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง เกิดโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ดังนั้น หากเกิดอาการผิดปกติหลังจากได้รับฮอร์โมนทดแทน ควรปรึกษาแพทย์

ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

อย่างที่ได้ทราบแล้วว่าระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจะเพิ่มขึ้นในช่วงวัยรุ่นและลดลงเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าระดับฮอร์โมนเอสโตเจนในร่างกายสูงหรือต่ำอย่างเดียวต่อเนื่องเป็นเวลานาน นั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ 

ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงอย่างต่อเนื่องอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น เนื้องอกในรังไข่ หรือภาวะถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS) โดยมักจะเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการก่อนมีประจำเดือนที่รุนแรงขึ้นหรือกลุ่มอาการ PMS ความต้องการทางเพศลดลง และน้ำหนักขึ้นโดยเฉพาะตรงเอวและสะโพก

ขณะเดียวกันหากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำอย่างต่อเนื่องอาจเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ภาวะขาดสารอาหาร รวมถึงกลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome) ผู้ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำอาจมีอาการช่องคลอดแห้ง เต้านมแข็งกดเจ็บ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน ไม่มีสมาธิ กระดูกเปราะ และประจำเดือนขาดร่วมด้วย

วิธีปรับฮอร์โมนเอสโตรเจนให้สมดุล

แม้ว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายของคนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่วิธีเหล่านี้อาจช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และช่วยดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ เช่น

  • นอนหลับให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาสมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกาย
  • จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เพราะความเครียดอาจส่งผลต่อสภาพอารมณ์และระดับฮอร์โมนในร่างกาย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน ลดอาหารที่มีน้ำตาลสูง เพิ่มอาหารที่มีกากใยและที่มีไขมันดี เช่น เนื้อปลา ถั่ว และน้ำมันมะกอก
  • ดูแลกระดูกและข้อให้แข็งแรง โดยเน้นอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน
  • จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณที่เหมาะสม เพราะแอลกอฮอล์อาจทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนขาดความสมดุลได้

ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีความสำคัญต่อร่างกายหลายด้าน การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล และหมั่นสังเกตถึงความผิดปกติของร่างกาย หากพบอาการที่บ่งบอกถึงฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำหรือสูงเกินไป ควรไปพบแพทย์