เทปพยุงกล้ามเนื้อ (Kinesiology Tape) เป็นเทปที่มีส่วนผสมส่วนใหญ่เป็นเส้นใยฝ้าย มีลักษณะยืดหยุ่นและเหนียวทำให้สามารถติดลงบนผิวหนังได้โดยตรง มักเห็นนักกีฬาติดเทปชนิดนี้บริเวณแขน ขา หรือหัวเข่า เพราะเชื่อกันว่าสามารถช่วยพยุงกล้ามเนื้อและข้อต่อที่บาดเจ็บจากการเล่นกีฬาได้ รวมถึงอาจช่วยรักษาอาการบาดเจ็บอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ
ในปัจจุบันเทปพยุงกล้ามเนื้อถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นอย่างหลากหลายทั้งขนาดและสีสัน อีกทั้งยังมีการเพิ่มคุณสมบัติในด้านอื่น ๆ เช่น มีความยืดหยุ่น ความทนทาน หรือมีประสิทธิภาพในการกันน้ำที่สูงขึ้นด้วย บทความนี้จะอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของเทปพยุงกล้ามเนื้อในด้านต่าง ๆ รวมถึงข้อควรระวังในการใช้งาน เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
ประโยชน์ของเทปพยุงกล้ามเนื้อ
เทปพยุงกล้ามเนื้อมีอาจประโยชน์หลายประการ ดังนี้
ช่วยพยุงกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อที่บาดเจ็บ
หลักการทำงานของเทปพยุงกล้ามเนื้อคือช่วยให้เนื้อเยื่อบริเวณที่บาดเจ็บยกตัวขึ้นเมื่อติดเทปลงบนผิวหนัง ซึ่งเมื่อเนื้อเยื่อบริเวณที่บาดเจ็บถูกยกตัวขึ้น แรงตึงเครียดที่กระทำต่อเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังก็จะลดน้อยลง จึงอาจมีประสิทธิภาพในการช่วยรักษาอาการอักเสบของกล้ามเนื้อได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นนั่นเอง
รวมถึงอาจช่วยพยุงเส้นเอ็นและข้อต่อที่บาดเจ็บ ทำให้สามารถใช้รักษาภาวะอื่น ๆ ได้อีกมากมาย เช่น กลุ่มอาการบาดเจ็บลูกสะบ้าใต้หัวเข่า (Patellofemoral pain syndrome) อาการเอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ (IT band friction syndrome) อาการเอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles Tendinitis) และอาการบาดเจ็บของหัวไหล่
ช่วยบรรเทาอาการปวด บวม และฟกช้ำ
การติดเทปพยุงกล้ามเนื้อสามารถช่วยบรรเทาอาการปวด อาการบวม และอาการฟกช้ำที่เกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ด้วย
โดยถ้าหากติดเทปพยุงกล้ามเนื้อลงบนผิวหนังในลักษณะและทิศทางที่ถูกต้อง ก็จะช่วยกระตุ้นให้เลือดและน้ำเหลืองที่คั่งค้างอยู่ใต้ผิวหนังเกิดการไหลเวียนได้ดีมากขึ้น ส่งผลให้อาการบวมและอาการฟกช้ำที่เกิดขึ้นลดลง รวมถึงอาจทำให้อาการอักเสบดีขึ้นและช่วยบรรเทาอาการปวดได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าการใช้เทปพยุงกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการปวดในระยะยาวนั้นจะมีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ากับการใช้เทปพยุงกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการปวดในระยะสั้น จึงควรใช้เทปพยุงกล้ามเนื้อเป็นเพียงแค่การรักษาเสริมนอกเหนือไปจากการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด
อาจช่วยรักษาโรคข้อเข่าอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทปพยุงกล้ามเนื้ออาจมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้อเข่าอักเสบได้ เนื่องจากเทปพยุงกล้ามเนื้อจะช่วยเพิ่มช่องว่างภายในข้อเข่า ช่วยลดการเสียดสีของข้อเข่า ทำให้อาการเจ็บปวดบริเวณข้อเข่าลดลง และอาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายหรืองอเข่าได้ดีมากยิ่งขึ้น
งานวิจัยขนาดเล็กในกลุ่มผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจำนวน 40 คน ที่ได้รับการรักษาด้วยเทปพยุงกล้ามเนื้อร่วมกับการรักษาด้วยวิธีหลักอย่างการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนังและการออกกำลังกายเป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าการรักษาด้วยเทปพยุงกล้ามเนื้อร่วมกับการรักษาด้วยวิธีหลักสามารถช่วยลดอาการเจ็บปวด และช่วยเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีกว่าการรักษาด้วยวิธีหลักเพียงอย่างเดียว
อาจช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเล่นกีฬาและป้องกันการบาดเจ็บ
เทปพยุงกล้ามเนื้ออาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยืดตัวและหดตัวของกล้ามเนื้อ นักกีฬาบางส่วนจึงติดเทปพยุงกล้ามเนื้อในขณะลงแข่งขันแม้จะไม่ได้มีอาการบาดเจ็บ เนื่องจากหากกล้ามเนื้อยืดตัวและหดตัวได้ดีมากขึ้น ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงอาจช่วยลดโอกาสในการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อด้วย
ข้อควรระวังในการใช้เทปพยุงกล้ามเนื้อ
โดยทั่วไป การติดเทปพยุงกล้ามเนื้อจะต้องติดโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) อย่างนักกายภาพบำบัด จึงไม่นิยมให้คนทั่วไปซื้อมาใช้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม หากต้องการใช้เทปพยุงกล้ามเนื้อด้วยตนเองควรได้รับการอบรมวิธีการติดที่ถูกต้องจากนักกายภาพบำบัดก่อนจึงจะสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังอื่น ๆ ในการใช้เทปพยุงกล้ามเนื้อ เช่น
- ก่อนติดเทปควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ต้องการติดและเช็ดให้แห้งก่อน ไม่ควรทาแป้งหรือครีมบำรุงผิวเพราะอาจทำให้เทปติดได้ไม่แน่นพอ รวมถึงอาจกำจัดขนบริเวณที่ต้องการติดเทป เพราะถ้าหากมีขนมากเกินไปจะทำให้เทปติดได้ไม่แน่นพอ
- เมื่อติดเทป 1 ครั้ง สามารถใช้ได้นานประมาณ 3–4 วัน แต่ถ้าหากมีอาการแพ้หรืออาการคันเกิดขึ้นควรแกะเทปออกทันที และไม่ควรติดเทปซ้ำบริเวณเดิมหากอาการระคายเคืองที่ผิวหนังยังไม่หายดี
- เมื่อติดเทปแล้วสามารถอาบน้ำได้โดยไม่จำเป็นต้องแกะเทปออก แต่ไม่ควรให้เทปโดนสบู่และควรใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้งเมื่ออาบน้ำเสร็จ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้หรืออาการคันตามมา
- การแกะเทปออกแนะนำให้ใช้น้ำมันหรือครีมบำรุงผิวทาลงไปบนเทปก่อน เพื่อช่วยให้สามารถแกะเทปได้ง่ายขึ้น จากนั้นค่อย ๆ ลอกเทปออกจากผิวหนังเบา ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคือง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือภาวะสุขภาพบางอย่างไม่ควรใช้เทปพยุงกล้ามเนื้อ เช่น มีผื่น มีแผลเปิด มีรอยไหม้จากการถูกแดดเผา มีผิวบอบบางแพ้ง่าย มีภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดในหลอดเลือดดำลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นโรคมะเร็ง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเทปพยุงกล้ามเนื้อยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อควรรักษาด้วยวิธีที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์เป็นหลักก่อน ส่วนการใช้เทปพยุงกล้ามเนื้อเป็นการรักษาเสริม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและข้อควรระวังอย่างถี่ถ้วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา