ทำหมัน ทางออกของคนไม่อยากมีลูก

ทำหมัน (Female/Male Surgical Sterilization) เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบถาวรสำหรับผู้ชายและผู้หญิง โดยทางการแพทย์หมายถึงการป้องกันอสุจิหรือสเปิร์มเข้าไปปฏิสนธิกับไข่จนเกิดการฝังตัวขึ้นในโพรงมดลูกของผู้หญิง ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีกว่าวิธีอื่น

การทำหมันเป็นการคุมกำเนิดถาวรสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการจะมีบุตร โดยอาจเป็นความสมัครใจในการเลือกคุมกำเนิดระหว่างคู่ครอง หรือบางรายที่เกิดการตั้งครรภ์อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของฝ่ายหญิง หรือไม่ต้องการถ่ายทอดความผิดปกติทางด้านพันธุกรรมของพ่อแม่ไปยังบุตร ซึ่งการทำหมันทั้งชายและหญิงควรมีข้อมูลที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจทำหมันหลายประการ คู่สามีภรรยาจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

Surgical Sterilization

รู้จักการทำหมันชายและหญิง

การทำหมันชายและการทำหมันหญิงเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวรเหมือนกัน แต่จะมีวิธีการและรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. การทำหมันชาย (Vasectomy/Male Surgical Sterilization)

การทำหมันชายเป็นการคุมกำเนิดถาวรด้วยการตัดและผูกท่อนำอสุจิ เพื่อป้องกันตัวอสุจิจากอัณฑะเคลื่อนไปผสมกับน้ำเลี้ยงอสุจิและไปยังท่อปัสสาวะ ซึ่งจะปล่อยออกมาเมื่อถึงจุดสุดยอดขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้น้ำอสุจิที่หลั่งออกมาไม่มีตัวอสุจิ จึงไม่เกิดการปฏิสนธิเกิดขึ้น

การทำหมันชายมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที อาจทำในโรงพยาบาลหรือคลินิก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งวิธีการทำหมันชายที่นิยมทำในปัจจุบันมี 2 วิธี

การทำหมันชายแบบดั้งเดิม (Conventional Vasectomy)
แพทย์จะทำความสะอาดบริเวณลูกอัณฑะและถุงอัณฑะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ในบางรายอาจต้องโกนขนบริเวณนั้นให้เรียบร้อย รวมทั้งต้องรับประทานยาหรือฉีดยาที่ช่วยให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดผ่อนคลาย จากนั้นแพทย์จะคลำหาท่อนำอสุจิบริเวณถุงอัณฑะ เพื่อหาตำแหน่งในการผ่าตัดและฉีดยาชา ก่อนกรีดเปิดผิวหนัง 1–2 แผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้นจึงลงมือตัดและผูกท่อนำอสุจิ ก่อนเย็บปิดผิวหนังที่กรีดให้เรียบร้อย

การทำหมันเจาะ (Non-Scalpel Vasectomy/Nonsurgical Vasectomy)
ขั้นตอนคล้ายกับวิธีแรก แต่แพทย์จะใช้เครื่องมือขนาดเล็กที่มีปลายแหลมเจาะผิวหนังเข้าไปตัดและผูกท่อนำน้ำอสุจิแทนการใช้ใบมีดกรีดเปิดผิวหนัง ทำให้แผลมีขนาดเล็ก ไม่ต้องเย็บปิดแผล และเสี่ยงกับภาวะเลือดออกน้อยกว่าการทำหมันชายแบบดั้งเดิม แต่ให้ผลค่อนข้างมีประสิทธิภาพเหมือนกัน  

การเตรียมตัวก่อนการทำหมันชาย

การทำหมันชายสามารถทำได้ในทุกช่วงอายุ ในกรณีที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดมีอายุไม่เกิน 30 ปีและยังไม่มีบุตร แพทย์อาจแนะนำไม่ให้ทำหมัน เนื่องจากเป็นวิธีการคุมกำเนิดถาวรและหากต้องการมีบุตรภายหลังจะค่อนข้างยุ่งยาก วิธีการผ่าตัดแก้หมันนั้นซับซ้อน และการแก้หมันอาจไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น จึงควรปรึกษาคู่ครองให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ 

เมื่อได้ข้อสรุปว่าจะเข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะอธิบายขั้นตอนพร้อมพูดคุยกับผู้เข้ารับการผ่าตัดเกี่ยวกับรายละเอียดในการผ่าตัด ทั้งผลดี ผลเสีย ความเสี่ยงด้านสุขภาพหลังเข้ารับการผ่าตัด หรือวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ที่เหมาะสม หากผู้เข้ารับการผ่าตัดมีโรคประจำตัว หรือรับประทานยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมใดอยู่ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

โดยทั่วไป แพทย์จะแนะนำให้หยุดรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดก่อนเข้ารับการผ่าตัด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) หรือยาในกลุ่มระงับอาการปวดที่หาซื้อได้ทั่วไป เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

ทั้งนี้ การเตรียมตัวก่อนมาโรงพยาบาลในวันที่เข้ารับการผ่าตัด ควรทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อย และเตรียมกางเกงชั้นในที่สวมใส่ได้กระชับ เพื่อช่วยปกป้องถุงอัณฑะ แต่ในบางราย แพทย์อาจมีคำแนะนำตามความเสี่ยงเฉพาะบุคคล

การดูแลหลังการทำหมันชาย

หลังการผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกัน ระยะเวลาการพักฟื้นจะอยู่ที่ประมาณ 1 สัปดาห์แต่สามารถกลับไปทำงานได้ปกติภายใน 1–3 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน โดยมีวิธีดูแลหลังทำหมันชาย ดังนี้

  • ในวันแรกหลังการทำหมันอาจมีอาการปวดและบวม จึงควรใช้เจลเย็น (Ice Pack) ช่วยประคบ
  • สวมใส่กางเกงชั้นในที่ช่วยปกป้องบริเวณถุงอัณฑะ
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่กระทบกระเทือนบริเวณที่ผ่าตัด และการยกของหนักในช่วงแรกของการพักฟื้น
  • มีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติหลังการผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์หรือแผลผ่าตัดหายดี

การทำหมันชายไม่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ อย่างไรก็ตาม หากมีเพศสัมพันธ์ ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นจนกว่าจะได้รับการตรวจน้ำเชื้อว่าไม่พบตัวอสุจิ ซึ่งต้องกลับไปตรวจกับแพทย์อีกครั้งในช่วง 6–12 สัปดาห์ถัดมาหรืออาจใช้ชุดตรวจสอบจำนวนอสุจิสำเร็จรูป

หลังการผ่าตัดหากพบอาการอัณฑะบวมแดง ปวด มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีเลือดหรือหนองบริเวณแผลผ่าตัด และมีปัญหาในการปัสสาวะ ควรรีบพบแพทย์ทันที

ผลข้างเคียงของการทำหมันชาย

การทำหมันชายส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง ผู้ชายส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บ ปวด บวม ความรู้สึกไวรอบ ๆ ถุงอัณฑะในช่วง 2–3 วันหลังการผ่าตัด แต่ในบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ค่อนข้างร้ายแรงขึ้นได้ เช่น   

  • เลือดออกและเกิดลิ่มเลือดบริเวณถุงอัณฑะ เป็นการคั่งของเลือดในเนื้อเยื่อรอบ ๆ เส้นเลือดที่ฉีกขาดบริเวณรอบท่อนำน้ำอสุจิ มักจะมีปริมาณไม่มากและปะปนออกมาในน้ำอสุจิ หากเกิดการคั่งของเลือดมากจะทำให้ถุงอัณฑะบวม และรู้สึกปวด ซึ่งจำเป็นต้องกลับมาผ่าตัดแก้ไขอีกครั้ง
  • ก้อนในถุงอัณฑะ การตัดท่อนำอสุจิในขณะทำหมันอาจทำให้เกิดการรั่วของตัวอสุจิเข้าไปในเนื้อเยื่อรอบ ๆ จึงส่งผลให้เกิดการกระจุกของตัวอสุจิเป็นก้อน ส่วนมากไม่ค่อยมีอาการเจ็บปวด แพทย์อาจให้รับประทานยากลุ่มลดการอักเสบ ในกรณีที่ไม่ดีขึ้นอาจต้องใช้การผ่าตัดออก
  • แผลติดเชื้อ หลังจากการทำหมันมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจากการที่แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายทางแผลผ่าตัด ดังนั้น จึงควรรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ
  • ปวดที่บริเวณอัณฑะเรื้อรัง โดยปกติหลังการผ่าตัดอาการปวดจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติ แต่บางรายอาจมีอาการปวดในลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ ไม่หายขาด เนื่องจากระหว่างการผ่าตัดทำหมันอาจเกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาทหรือเส้นประสาทโดนบีบรัดได้

ประสิทธิภาพของการทำหมันชาย

การทำหมันชายเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัย โอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์พบได้น้อยมาก โดยผู้หญิง 1,000 คนที่คู่สมรสทำหมันชายนั้นตั้งครรภ์เพียง 1–2 คนในช่วงปีแรก

อย่างไรก็ตาม การทำหมันไม่ได้ทำให้ผู้ชายเป็นหมันทันทีหลังการผ่าตัด และยังคงเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์อยู่ เพราะตัวอสุจิตกค้างอยู่ในท่อนำอสุจิส่วนบน จึงควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นไปสักระยะจนกว่าจะเข้ารับการตรวจน้ำเชื้อเพื่อยืนยันว่าไม่พบตัวอสุจิ หรือในบางกรณีอาจเกิดความผิดพลาดระหว่างการผ่าตัดก็มีโอกาสทำให้ตัวอสุจิเล็ดลอดปนออกมาผสมกับน้ำเชื้อได้เช่นกัน แต่พบได้น้อย

การทำหมันไม่ใช่วิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นเพียงวิธีคุมกำเนิดเท่านั้น ซึ่งผู้ชายสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ปกติ โดยไม่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศ

2. การทำหมันหญิง (Tubal Ligation/Female Surgical Sterilization)

การทำหมันหญิงเป็นการคุมกำเนิดถาวรในผู้หญิงด้วยการตัดและผูกท่อนำไข่ หรือทำให้ท่อนำไข่ตีบตัน เช่น การใช้ยางรัด คลิปหนีบ ใส่อุปกรณ์ขวางท่อนำไข่ หรือจี้ด้วยไฟฟ้า เพื่อป้องกันไข่เคลื่อนที่มาปฏิสนธิกับตัวอสุจิในโพรงมดลูกจนเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น

ขั้นตอนในการทำหมันหญิง

การทำหมันหญิงสามารถทำได้ทั้งที่โรงพยาบาลและคลินิก เป็นการผ่าตัดที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายวิธี แต่หากแบ่งตามช่วงเวลาในการทำหมันจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่

การทำหมันหลังคลอด
การทำหมันหลังคลอด หรือที่เรียกว่าการทำหมันเปียก เป็นการทำหมันภายในช่วงเวลาประมาณ 24–36 ชั่วโมงหลังคลอดบุตร เนื่องจากการคลอดบุตรทำให้มดลูกลอยตัวและเห็นท่อนำไข่ได้ค่อนข้างชัด

แพทย์จะกรีดเปิดแผลที่หน้าท้องบริเวณใต้สะดือแล้วจึงตัดและผูกท่อนำไข่ แต่หากเป็นการผ่าคลอดจะทำไปพร้อมกับการผ่าคลอดด้วยวิธีการตัดและผูกท่อนำไข่เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมกันมาก โดยทำทันทีเมื่อคลอดบุตรเรียบร้อยแล้ว

การทำหมันปกติ

การทำหมันปกติ หรือที่เรียกว่าการทำหมันแห้ง เป็นการทำหมันในช่วงเวลาใดก็ได้ หลักการมีความคล้ายคลึงกับการทำหมันหลังคลอด โดยขั้นตอนแรกคือฉีดยาชาเข้าไขสันหลังหรือที่เรียกว่า บล็อกหลัง เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ในบางรายอาจต้องดมยาสลบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวขณะเข้ารับการผ่าตัด

เทคนิคในการทำหมันปกติแบ่งออกได้เป็นหลายวิธี เช่น

  • การผ่าตัดทางหน้าท้อง แพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณสะดือ จากนั้นจึงตัดและผูกท่อนำไข่ (Minilaparotomy)  
  • การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscope) เมื่อยาสลบออกฤทธิ์ แพทย์จะกรีดเปิดปากแผลบริเวณผนังหน้าท้องบริเวณใต้สะดือ และใส่ก๊าซในช่องท้องระหว่างการผ่าตัด เพื่อช่วยให้แพทย์ผ่าตัดมองเห็นมดลูกและท่อนำไข่ได้ชัดเจนขึ้น แพทย์จะสอดอุปกรณ์และเครื่องมือพิเศษเข้าไปในช่องท้อง จากนั้นอาจใช้การจี้ไฟฟ้า การตัดท่อนำไข่ หรือใช้อุปกรณ์อื่น ๆ ไปรัดท่อรังไข่ให้ตีบตัน
  • การทำให้ท่อนำไข่อุดตัน (Hysteroscopy) แพทย์จะให้ยาชาฉพาะที่และสอดกล้องผ่านทางช่องคลอด พร้อมนำอุปกรณ์ขนาดเล็กเข้าไปวางไว้บริเวณภายในท่อนำไข่ เพื่อทำให้เกิดพังผืดพันรอบอุปกรณ์ ซึ่งจะขวางทางการเคลื่อนตัวของไข่ไปยังโพรงมดลูก

ทั้งนี้ การทำให้ท่อนำไข่อุดตันจะยังไม่เป็นหมันทันที และผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องกลับมาตรวจยืนยันผลอีกครั้งว่าท่อนำไข่เกิดการอุดตันเรียบร้อยแล้วหรือไม่ จึงทำให้ต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นไปสักระยะหากมีเพศสัมพันธ์

การเตรียมตัวก่อนการทำหมันหญิง

แพทย์จำเป็นต้องพูดคุยกับผู้เข้ารับการผ่าตัดและชี้แจงรายละเอียดถึงผลดี ผลเสีย ความเสี่ยงในการผ่าตัด ตลอดจนวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ากับการทำหมันที่เหมาะสม เนื่องจากการทำหมันเป็นวิธีคุมกำเนิดถาวรที่ป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูง และโอกาสการกลับมามีบุตรอีกครั้งนั้นเป็นไปได้น้อยมาก จึงควรตกลงกับคู่ครองก่อน โดยเฉพาะผู้เข้ารับการผ่าตัดที่มีอายุน้อยหรือไม่เคยผ่านการมีบุตรมาก่อน 

ก่อนเข้ารับการผ่าตัดควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา หรืออาหารเสริมทุกชนิด รวมไปถึงหยุดรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) หรือยาระงับอาการปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้นในขณะการผ่าตัด

นอกจากนี้ ในรายที่ต้องดมยาสลบควรงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนหรือ 8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัด เมื่อถึงวันผ่าตัดควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไปและถอดเปลี่ยนได้ง่าย นอกจากนี้ แพทย์อาจมีคำแนะนำเฉพาะเป็นรายบุคคล

การดูแลหลังการทำหมันหญิง

หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกัน แต่จะค่อย ๆ เริ่มทำกิจกรรมอื่นได้ตามปกติในอีก 2–3 วันถัดมาหรือภายใน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ในรายที่ใช้ยาสลบในการผ่าตัดควรมีคนใกล้ชิด เพื่อน หรือญาติช่วยดูแล

โดยทั่วไปหลังการผ่าตัดมักจะมีอาการปวดขึ้นได้ แพทย์อาจมีการจ่ายยาแก้ปวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการ ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจเกิดความรู้สึกไม่สบายตัวหลังการทำหมัน อาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล แต่หากเกิดอาการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ ปวดไหล่ เป็นตะคริว และท้องอืด ท้องเฟ้อติดต่อกันนานหลายวัน ควรรีบไปพบแพทย์

ผลข้างเคียงของการทำหมันหญิง

การทำหมันหญิงเป็นการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง จึงอาจเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายให้แก่ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือหลอดเลือดแดง ไปจนถึงแผลผ่าตัดติดเชื้อ มีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน บางรายอาจมีปฏิกิริยาแพ้ยาชาหรือยาสลบ ผู้หญิงที่เคยผ่าตัดบริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหรือช่องท้อง มีภาวะอ้วน หรือโรคเบาหวานจะยิ่งเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับคนปกติ  

ประสิทธิภาพของการทำหมันหญิง

การทำหมันหญิงเป็นวิธีการคุมกำเนิดถาวรที่ป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยในช่วงปีแรกของการทำหมันหญิงพบว่าผู้หญิงใน 1,000 คน มีโอกาสตั้งครรภ์ 1 คนหรือน้อยกว่า แต่หากเกิดการตั้งครรภ์หลังการทำหมันอาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้