ทำอย่างไรเมื่อเป็นตะคริวที่เท้า ?

ตะคริวที่เท้า เป็นอาการที่หลายคนคงเคยเผชิญกันมาบ้าง แม้โดยปกติอาการนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ไม่น้อย ซึ่งอาจรบกวนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ มาดูกันว่าหากวันหนึ่งเกิดตะคริวขึ้นบริเวณเท้า จะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร

1778 ตะคริวที่เท้า rs

ตะคริวที่เท้าเกิดจากอะไร ?

ตะคริวเกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้ออย่างกะทันหันและไม่สามารถคลายออก ซึ่งอาจทำให้มีอาการเพียงเล็กน้อยไปจนถึงอาการบีบเกร็งรุนแรงจนทำให้เกิดอาการปวดอย่างมากได้

โดยสาเหตุที่มักทำให้เกิดตะคริว มีดังนี้

  • อายุ เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น ร่างกายก็จะยิ่งสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อที่เหลือทำงานหนักขึ้น ซึ่งมักจะเริ่มต้นเมื่อมีอายุ 40 ปี โดยเฉพาะผู้ที่ขาดการออกกำลังกายก็จะทำให้กล้ามเนื้อมีความตึงเครียดได้ง่าย และทำให้เกิดตะคริวได้ง่ายไปด้วย
  • การออกกำลังกาย บางคนอาจเกิดภาวะขาดน้ำในระหว่างที่ออกกำลังกาย ซึ่งเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำจะส่งผลให้ระดับของเกลือแร่ผิดปกติไปด้วย จนอาจทำให้เกิดตะคริวได้ รวมไปถึงการออกกำลังกายอย่างหักโหมก็เป็นอีกสาเหตุที่มักทำให้เกิดตะคริวได้เช่นกัน
  • ปัญหาสุขภาพ ผู้ป่วยที่มีโรคหรือภาวะบางอย่างอาจมีความเสี่ยงเกิดตะคริวได้มากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคตับ เป็นต้น เพราะโรคเบาหวานอาจส่งผลต่อเส้นประสาทมือและเท้าส่วนปลาย เมื่อเส้นประสาทดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้ตามปกติก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหรือเป็นตะคริวได้ง่าย ส่วนผู้ป่วยโรคตับ เนื่องจากตับทำงานได้ไม่เป็นปกติอาจส่งผลให้ไม่สามารถขจัดสารพิษออกจากเลือดได้ตามปกติ เมื่อมีของเสียหรือสารพิษที่ก่อตัวขึ้น อาจทำให้เกิดตะคริวและกล้ามเนื้อเกร็งกระตุกได้
  • การขาดเกลือแร่บางชนิด หากร่างกายขาดโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม หรือแมกนีเซียม ก็อาจทำให้เกิดตะคริวได้ เพราะเกลือแร่ดังกล่าวมีความสำคัญต่อกล้ามเนื้อและระบบประสาท รวมไปถึงมีผลต่อความดันโลหิตด้วย
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดคอเลสเตอรอล และยาขับปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดตะคริวได้ในผู้ป่วยบางรายที่ใช้ยารักษาดังกล่าว

การดูแลตนเองในเบื้องต้นเมื่อเกิดตะคริวที่เท้า

  • หากเกิดอาการในขณะนั่งหรือนอน ให้ลองยืนขึ้นแล้วทิ้งน้ำหนักลงที่เท้าข้างที่เป็นตะคริว
  • ค่อย ๆ ยืดกล้ามเนื้อโดยกระดกปลายเท้าจนกว่าอาการปวดจะหายไป และอาจใช้ผ้าช่วยดึงนิ้วเท้าขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถยืดเท้าได้เอง
  • ขณะเกิดตะคริวให้ค่อย ๆ นวดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว โดยอาจใช้น้ำแข็งประคบช่วยในระหว่างที่กำลังนวด ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ห้ามให้น้ำแข็งสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง
  • เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น อาจวางผ้าชุบน้ำร้อนหรือแผ่นให้ความร้อนประคบบริเวณที่เป็นตะคริว หรืออาจแช่เท้าในน้ำอุ่น เพราะความร้อนจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
  • หากยังมีอาการปวดหลังจากตะคริวหายไปแล้ว อาจใช้ยาแก้ปวดที่หาซื้อเองได้ เช่น ยาไอบูโพรเฟน เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด
  • เพิ่มระดับเกลือแร่ในร่างกายด้วยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงอย่างโยเกิร์ต นมไขมันต่ำ และชีส หรือรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมและแมกนีเซียมสูง เช่น ผักโขม อัลมอนด์ กล้วย และบร็อคโคลี่ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีส่วนทำให้ร่างกายเผชิญภาวะขาดน้ำซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดตะคริว
  • คอยสังเกตอาการจากการใช้ยาบางชนิด เพราะผลข้างเคียงของยาบางชนิดอาจทำให้เกิดตะคริวได้
  • ระมัดระวังในการสวมใส่รองเท้า เพราะรองเท้าบางชนิดอาจเป็นสาเหตุของการเกิดตะคริวได้ เช่น การใส่รองเท้าส้นสูงตลอดทั้งวันจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดตะคริวที่นิ้วเท้าได้มากขึ้น เป็นต้น เพราะรองเท้าส้นสูงอาจทำให้เกิดการกดทับบริเวณนิ้วเท้าและเพิ่มแรงกดไปยังฝ่าเท้าได้ นอกจากนั้น การเลือกรองเท้ากีฬาก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันการเกิดตะคริวได้ เพราะหากเลือกรองเท้าที่ไม่เหมาะกับรูปเท้าของตน ก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดตะคริวได้ และยังทำให้สวมใส่ไม่สบายเท้าอีกด้วย

แม้ตะคริวที่เท้าอาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้างตน แต่มักจะไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง และผู้ที่เป็นตะคริวสามารถดูแลตนเองได้ตามวิธีต่าง ๆ ตามที่กล่าวมา ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะสามารถหายจากอาการนี้ได้เอง แต่หากพบว่าเป็นตะคริวอย่างต่อเนื่อง อาการไม่ยอมหายไปหรือมีอาการที่แย่ลง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป