ท้องนอกมดลูกอาการเริ่มแรกอาจระบุได้ยาก คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ หรือมีอาการคล้ายกับอาการตั้งครรภ์ทั่วไป เช่น ประจำเดือนไม่มา มีเลือดออกทางช่องคลอด คัดเต้านม ซึ่งอาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะท้องนอกมดลูก
ท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) คือภาวะผิดปกติที่ตัวอ่อนจากการปฏิสนธิไปฝังตัวอยู่นอกมดลูก เช่น บริเวณท่อนำไข่ ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติที่ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเติบโตต่อได้ และอาจทำให้ผู้ที่ตั้งครรภ์เป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา ท้องนอกมดลูกอาการเริ่มแรกจึงเป็นอาการที่ควรสังเกตและรีบไปพบแพทย์
ท้องนอกมดลูกอาการเริ่มแรกที่ควรสังเกต
ท้องนอกมดลูกอาการเริ่มแรกมักเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 4–12 โดยอาการแรก ๆ ที่อาจพบได้ มีดังนี้
- ประจำเดือนไม่มา
- เจ็บเต้านม
- ปวดท้องหรือปวดท้องน้อย โดยอาการมักไม่รุนแรงในลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดต่อเนื่องกัน แต่มักจะปวดเฉพาะข้างใดข้างหนึ่ง
- มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเล็กน้อยแล้วหยุดไหล บางครั้งอาจมีสีออกน้ำตาลหรือไหลเป็นน้ำ
- ปวดหลังส่วนล่าง
- อ่อนเพลีย คลื่นไส้
- รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ มีอาการปวดหน่วง ๆ เมื่อถ่ายอุจจาระ และท้องเสีย
ท้องนอกมดลูกอาการเริ่มแรกอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้ และจะเริ่มมีอาการเมื่อเกิดการฉีกขาดของบริเวณที่ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่ ซึ่งมักเกิดบริเวณท่อนำไข่ ซึ่งจะทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดปริมาณมาก ปวดท้องหรือท้องน้อยเฉียบพลันและรุนแรง ปวดไหล่ เวียนหัว หน้ามืด และเป็นลม ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ท้องนอกมดลูกอาการเริ่มแรกเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรสังเกต ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจครรภ์กับแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และอัลตราซาวด์เพื่อดูพัฒนาการและความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของการท้องนอกมดลูก เช่น มีประวัติท้องนอกมดลูก เคยผ่าตัดท่อนำไข่ มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี
หากสังเกตว่ามีอาการท้องนอกมดลูกระยะเริ่มแรก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติและรับการรักษาก่อนที่จะเกิดความเสียหายหรือฉีกขาดของท่อนำไข่และอวัยวะใกล้เคียง ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียเลือดมาก และเสียชีวิต