ท้องอืดในทารก รับมืออย่างไร

ท้องอืดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทารกรู้สึกไม่สบายตัว เกิดขึ้นได้เป็นปกติและมักไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้วิธีป้องกันและบรรเทาอาการในเบื้องต้นเพื่อช่วยคลายความอึดอัดให้ลูกน้อย รวมทั้งหมั่นสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารที่รุนแรงได้

ท้องอืด

สาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยท้องอืด

สาเหตุของอาการท้องอืด อึดอัด หรือไม่สบายท้องของลูกน้อยเกิดจากการมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

  • ดื่มนมช้าเกินไป ลักษณะของจุกขวดนมหรือหัวนมของมารดา เช่น หัวนมบอด อาจทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อยหรือไหลช้า ส่งผลให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปมากขึ้นในระหว่างดูดนม
  • ดื่มนมเร็วเกินไป หากน้ำนมจากเต้าของมารดาหรือจุกขวดนมไหลออกมามากเกินไป ลูกน้อยจะต้องกลืนน้ำนมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารได้มากเช่นกัน
  • ดื่มนมที่มีฟองอากาศ สำหรับทารกที่ดื่มนมผง ในระหว่างขั้นตอนผสมนมผงกับน้ำอาจมีฟองอากาศเกิดขึ้น ทารกอาจท้องอืดได้หากกลืนฟองอากาศมากเกินไป ดังนั้น หลังผสมนมเสร็จแล้วควรทิ้งไว้สัก 2–3 นาที เพื่อให้ฟองอากาศแตกตัวก่อนให้ลูกน้อยดื่ม
  • ร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมาก คุณแม่จึงควรคอยปลอบให้ทารกหยุดร้องโดยเร็ว
  • กระบวนการย่อยอาหาร ระบบย่อยอาหารของทารกในช่วง 3 เดือนแรกยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ การเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารเมื่อดื่มนมแม่จึงเป็นเรื่องปกติ อาการของทารกจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองเมื่อมีอายุมากขึ้น ส่วนทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่เริ่มรับประทานอาหารชนิดอื่นนอกจากนมแม่ได้แล้ว ในช่วงแรกระบบย่อยอาหารอาจยังไม่คุ้นชินกับอาหารชนิดใหม่ ๆ ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารบางประเภทอาจทำให้ลูกน้อยมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ เช่น พืชตระกูลถั่ว บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี รำข้าว ข้าวโอ๊ตบด ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เป็นต้น

บางรายเกิดแก๊สสะสมเนื่องจากมีอาการแพ้โปรตีนจากอาหารบางชนิด โดยเฉพาะนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น โยเกิร์ต ชีส รวมถึงโปรตีนในนมผงและน้ำนมแม่ นอกจากนี้ อาหารที่คุณแม่รับประทานก็อาจไหลผ่านน้ำนมและส่งผลให้ทารกมีอาการท้องอืดได้ แม้เด็กไม่ได้รับประทานเองโดยตรง

สัญญาณบ่งบอกว่าลูกน้อยท้องอืด

อาการท้องอืดเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกมีอายุ 2–3 สัปดาห์ แม้ทารกไม่สามารถสื่อสารให้รู้ได้ด้วยคำพูด ทว่าพ่อแม่อาจสังเกตความผิดปกติได้เมื่อลูกน้อยแสดงอาการ ดังนี้

  • ร้องไห้
  • ยกขาขึ้นสูงไปทางหน้าท้อง
  • ดิ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังจากดื่มนม
  • กำมือแน่น
  • ใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีแดง

อย่างไรก็ตาม ทารกมักรู้สึกสบายตัวขึ้นและหยุดร้องไห้หลังผายลมหรือเรอออกมา แต่หากยังร้องไห้ไม่หยุดทั้งที่ผายลมออกมาแล้ว อาจแสดงว่าสัญญาณผิดปกติดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก โคลิค เป็นต้น

ท้องอืดแบบไหนจึงเป็นอันตราย

โดยปกติ อาการท้องอืดไม่เป็นอันตรายต่อทารกและสามารถรักษาได้ แต่ในบางกรณี การมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของความผิดปกติทางระบบย่อยอาหารที่รุนแรง หากสงสัยว่าลูกน้อยท้องอืดร่วมกับมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

  • อาเจียน
  • อุจจาระมีเลือดปน
  • ถ่ายไม่ออก
  • ร้องไห้ไม่หยุดเป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
  • มีไข้ โดยเฉพาะทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือนที่มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป

วิธีบรรเทาอาการท้องอืดของลูกน้อย

ในเบื้องต้น พ่อแม่ควรบรรเทาอาการท้องอืดของลูกน้อยโดยกระตุ้นให้เรอออกมาระหว่างป้อนนมและหลังป้อนนมเพื่อระบายแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • วางทารกในท่านอนหงายแล้วนวดบริเวณหน้าท้องเบา ๆ เริ่มจากด้านขวาไปยังด้านซ้าย
  • วางทารกในท่านอนหงาย จากนั้นจับขาทั้ง 2 ข้างขยับขึ้นลงสลับกันคล้ายปั่นจักรยาน
  • อุ้มทารกขึ้น ให้คางพักอยู่บริเวณไหล่ของแม่ แล้วใช้มือตบหลังทารกเบา ๆ
  • ให้ทารกนั่งซ้อนบนตัก โน้มตัวทารกไปด้านหน้าเล็กน้อยโดยใช้มือโอบบริเวณคางเพื่อประคองตัวไว้ จากนั้นใช้มือตบหลังของทารกเบา ๆ
  • วางทารกในท่านอนคว่ำบนตัก ให้ศรีษะอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย แล้วใช้มือตบหลังของทารกเบา ๆ

นอกจากนั้น พ่อแม่อาจห่อตัวทารก ใช้จุกนมหลอก อุ้มทารกแกว่งไปมาเบา ๆ หรือไกวเปลให้ เพื่อช่วยให้ทารกผ่อนคลายจากความรู้สึกไม่สบายตัว หากลองทำตามวิธีข้างต้นแล้วลูกน้อยยังไม่เรอออกมา อาจจำเป็นต้องใช้ยาไซเมทิโคน ซึ่งมีสรรพคุณช่วยขับลมและบรรเทาอาการท้องอืด นอกจากมีความปลอดภัยสูงเพราะตัวยาไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว

ในปัจจุบันยังมียาไซเมทิโคนชนิดน้ำ ทารกจึงรับประทานได้ง่าย อย่างไรก็ตาม อาจเกิดผลข้างเคียงกับผู้ใช้บางราย จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาชนิดนี้

ป้องกันอาการท้องอืดอย่างไร

วิธีป้องกันอาการท้องอืดของทารกทำได้โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร และพยายามไม่ให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมาก ดังนี้

  • ป้อนนมให้ทารกในปริมาณที่พอเหมาะ
  • จัดท่าทางของทารกให้เหมาะสมขณะป้อนนม โดยยกศรีษะให้อยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย
  • ขณะป้อนนมควรยกขวดนมขึ้นเพื่อป้องกันอากาศไหลผ่านช่องว่างบริเวณจุกนม รวมทั้งปรับขนาดรูบนจุกนมไม่ให้ใหญ่หรือเล็กเกินไป หรือใช้ขวดนมที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปน้อยที่สุด
  • ทารกที่หย่านมแม่แล้ว พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกน้อยรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะมาก เช่น รำข้าว ข้าวโอ๊ต กะหล่ำปลี ถั่วต่าง ๆ อาหารที่ทำจากนม เป็นต้น ส่วนคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านี้เช่นกัน เพราะอาจส่งแก๊สผ่านปริมาณน้ำนมไปสู่ลูกน้อยได้