นกพิราบ พาหะนำโรคร้าย ตัวอันตรายที่ควรหลีกเลี่ยง

หลายคนอาจไม่รู้ว่านกพิราบและมูลของมันเป็นพาหะนำโรคมาสู่คนได้มากมาย ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งชุมชน วัด หรือพื้นที่ที่มีนกพิราบมาทำรังอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เราจึงรวบรวมโรคและวิธีป้องกันการรบกวนจากนกพิราบมาให้ศึกษากัน

โดยปกติแล้ว คนเราสามารถรับเชื้อรา แบคทีเรีย หรือไวรัสเข้าสู่ร่างกายเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งของนกพิราบที่เป็นพาหะ อย่างมูล น้ำมูก น้ำตา และน้ำลาย หรือสัมผัสกับตัวนกโดยตรง นอกจากนี้ ยังอาจมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคหรือสปอร์ของเชื้อจากการสูดหายใจขณะที่เข้าไปอยู่กลางฝูงนก เข้าใกล้กรงนก หรือให้อาหารนกได้เช่นกัน เนื่องจากนกพิราบอาจกระพือปีกจนทำให้เชื้อโรคจากตัวนกหรือฝุ่นละออง ดินที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ฟุ้งกระจายในอากาศมากขึ้นได้

นกพิราบ

5 โรคจากนกพิราบที่ควรระวัง

ผู้ที่อาศัย ทำงาน หรือเรียนอยู่ในบริเวณที่มีนกพิราบชุกชุม รวมถึงผู้ที่เลี้ยงหรือคลุกคลีกับนกพิราบบ่อยครั้งก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ โดยมีตัวอย่างโรค ดังนี้

ไข้หวัดนก

เป็นการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอในสัตว์ปีก ซึ่งปกติจะติดต่อกันระหว่างสัตว์เท่านั้น แต่บางสายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อมาสู่คนได้ โดยเฉพาะไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่เคยพบการระบาดในประเทศไทยมาก่อน ซึ่งตัวโรคอาจก่อให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ อย่างไอหรือน้ำมูกไหล เจ็บคอ ท้องเสีย  มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis) 

บางคนอาจรู้จักกันในชื่อว่า ไข้นกแก้ว เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia Psittaci ซึ่งพบบ่อยในนกพิราบที่ถูกนำมาเลี้ยงในกรง ผู้ป่วยมักมีอาการเพียงเล็กน้อย อย่างมีไข้ สั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือไอแห้ง โรคนี้ยังก่อให้เกิดปอดบวม ซึ่งเป็นอาการปอดติดเชื้อที่ควรได้รับการรักษาและดูแลจากแพทย์ในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจนำไปสู่การเสียชีวิต แต่มักพบได้น้อยมาก 

โรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis) 

โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อรา Cryptococcus Neoformans ที่พบได้บ่อยในมูลของนกพิราบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอตั้งแต่กำเนิด หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยเชื้อนี้จะส่งผลต่อปอดก่อนจะแพร่ไปยังอวัยวะส่วนอื่นผ่านทางกระแสเลือด บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะเป็นพัก ๆ หน้ามืด เวียนศีรษะ ปวดขมับหรือเบ้าตา มีปัญหาด้านการมองเห็น อาเจียน ไอเป็นเลือด มีก้อนเนื้อที่จมูก เลือดออกจมูก มีไข้อ่อน ๆ น้ำหนักตัวลดลง และมีหลอดลมอักเสบร่วมด้วย หากติดเชื้อที่สมองอาจมีอาการสับสนและมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ในบางรายอาจแสดงอาการก็ต่อเมื่อร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 

โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)

นับเป็นอีกหนึ่งโรคที่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ โรคนี้เป็นการติดเชื้อรา Histoplasma ซึ่งอยู่ในดินที่ปนเปื้อนไปด้วยมูลของนกพิราบ ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการป่วยเกิดขึ้น แต่ในบางรายอาจมีไข้ ไอ หรือรู้สึกเหนื่อยล้า แต่โรคฮิสโตพลาสโมซิสมักหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ยกเว้นคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งอาจส่งผลให้การติดเชื้อทวีความรุนแรงมากขึ้นได้ 

โรคซาลโมเนลโลสิส (Salmonellosis)

แม้ว่าโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว แต่การเลี้ยงสัตว์อย่างนกพิราบที่เป็นพาหะก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เช่นกัน โดยมีสัญญาณที่บ่งบอกอาการของโรค เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งหน้าท้อง ท้องเสีย มีไข้ สั่น ปวดศีรษะ หรือถ่ายเป็นเลือด ซึ่งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมักมีอาการดีขึ้นภายในไม่กี่วันโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่บางคนอาจไม่มีอาการป่วยแสดงออกมาก็ได้

วิธีป้องกันตนเองจากนกพิราบ

การป้องกันตนเองและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจากนกพิราบนั้นสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการอยู่ให้ห่างจากนกที่ป่วยหรือเป็นพาหะนำโรคให้ได้มากที่สุด โดยมีคำแนะนำที่ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสนก เข้าไปอยู่ในฝูงนก หรือให้อาหารนก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงมือ สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังสัมผัสนก โดยเฉพาะนกที่ป่วยหรือตายแล้ว
  2. หากนกพิราบมาบินวนเวียนอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยเป็นประจำควรไล่นกออกไปไกล ๆ โดยอาจใช้แรงคนหรือสัตว์เลี้ยงเข้ามาช่วยไล่ รวมถึงอาจประยุกต์ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ มาช่วยไล่นก อย่างการเคาะไม้ การจุดประทัด การปักหุ่นไล่กา หรือการแขวนกระจกเงาก็ได้ผลดี รวมถึงยังสามารถติดตั้งตาข่าย ตะแกรง ขึงเอ็น เส้นสวด หรือนำวัสดุที่แหลมคมอย่างเศษแก้วหรือลวดหนามมาใช้ เพื่อป้องกันนกพิราบมาเกาะอีกด้วย
  3. ทำลายกรงนกในบริเวณที่อยู่อาศัยให้หมด หากเป็นจุดที่แสงแดดส่องไม่ถึง ควรล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเป็นประจำ
  4. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคประจำตัว เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ควรระมัดระวังนกพิราบมากเป็นพิเศษ โดยไม่ควรสัมผัสนกที่ป่วยหรือตายแล้ว หมั่นล้างมือให้สะอาดร่วมกับการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีและสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้

อย่างไรก็ตาม หากสัมผัสกับนกพิราบที่ป่วยหรือซากนกที่ตายแล้วพบว่าตนเองมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย เจ็บคอ อ่อนเพลีย หรือไอแห้ง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน เพราะนี่อาจเป็นอาการจากปัญหาสุขภาพดังที่กล่าวถึงข้างต้น ทั้งนี้ หากพบเห็นสัตว์ปีกมีอาการผิดปกติหรือตาย สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ที่เบอร์ 063-225-6888