การนอนกลางวันอาจเป็นทางเลือกในการเติมความสดชื่นในยามบ่ายให้กับตัวเอง แต่ถ้าเกิดนอนกลางวันแล้วปวดหัวคงไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไรนัก เพราะนอกจากจะไม่สดชื่นแล้วยังอาจส่งผลกระทบกับการทำกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ ด้วย
หากใครเคยประสบปัญหานอนกลางวันแล้วปวดหัวก็อย่าพึ่งชะล่าใจคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพราะอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นหลังนอนกลางวันก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน โดยมีงานวิจัยพบว่าอาการปวดหัวกับโรคที่เกี่ยวกับการนอนหลับอาจมีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง
นอนกลางวันแล้วปวดหัวเกิดจากอะไร
นอนกลางวันแล้วปวดหัวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
การนอนกัดฟัน
การนอนกัดฟันจะทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณกรามหรือขากรรไกรจนอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวเมื่อตื่นขึ้นมา โดยมักจะเป็นอาการปวดแบบตื้อ ๆ อย่างต่อเนื่อง
คนที่นอนกัดฟันมักจะไม่รู้ตัว แต่อาจสังเกตได้จากอาการบางอย่างเมื่อตื่นขึ้นมา เช่น ปวดหู เสียวฟัน ปวดกรามหรือกดแล้วเจ็บร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม การนอนกัดฟันอาจเกี่ยวข้องกับการนอนกรน ภาวะเครียด หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้เช่นกัน
สุขอนามัยการนอนที่ไม่เหมาะสม
สุขอนามัยการนอนที่ไม่เหมาะสมเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวหลังจากนอนกลางวันได้ โดยสุขอนามัยการนอนหลับที่ไม่เหมาะสมหมายถึงพฤติกรรมหรือสิ่งแวดล้อมในการนอนที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอนผิดท่า หรือการใช้หมอนที่ไม่เข้ากับสรีระของหัวและลำคอ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอเกิดอาการตึง การไหลเวียนของเลือดติดขัด ไม่ราบรื่น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวตามมาได้
นอกจากนี้ อาจเป็นผลมาจากการแพ้สารก่อภูมิแพ้บางอย่าง โดยเฉพาะไรฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งมักอาศัยอยู่ในหมอน ผ้าห่ม และผ้าปูที่นอน เมื่อเราสูดเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายผ่านทางการหายใจก็อาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้และอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวตามมาได้
การนอนไม่พอหรือการนอนมากเกินไป
การนอนไม่พอในเวลากลางคืนมักทำให้เกิดอาการง่วงเพลียจนอาจต้องนอนกลางวันทดแทน และหากการนอนนั้นไม่มีประสิทธิภาพมากพอจากหลายปัจจัยอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวเมื่อตื่นขึ้นมาได้ หรือบางคนอาจนอนมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวได้เช่นเดียวกัน
โดยอาการปวดหัวจากการนอนไม่พอหรือนอนมากเกินไปมักมีลักษณะการปวดตื้อ ๆ เหมือนมีอะไรมาบีบรัดที่ขมับ บริเวณท้ายทอย หรืออาจปวดกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย
ไมเกรน
ใครที่นอนกลางวันแล้วปวดหัวอาจเกี่ยวข้องกับโรคไมเกรน โดยอาการปวดหัวไมเกรนจะมีลักษณะอาการปวดตุบ ๆ ในระดับปานกลางไปจนถึงระดับรุนแรงที่บริเวณหัวข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนมากจะพบร่วมกับอาการคลื่นไส้ อ่อนเพลีย และอาการไวต่อแสงหรือเสียงมากกว่าปกติ อีกทั้งคนที่เป็นไมเกรนมักมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ และทำให้เกิดการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอตามมา
การตั้งครรภ์
ผู้ที่ตั้งครรภ์มักจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ทำให้ต้องงีบบ่อยขึ้น อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในระหว่างการตั้งครรภ์อาจเป็นเหตุให้คุณแม่ต้องเผชิญกับอาการปวดหัวหลังจากการงีบได้เช่นกัน โดยอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ร่างกายขาดน้ำ หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ในระหว่างการนอนหลับ ซึ่งการหยุดหายใจอาจทำให้ปริมาณออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และร่างกายจะพยายามปลุกตัวเองเพื่อให้หายใจเป็นปกติอีกครั้ง เมื่อตื่นขึ้นมามักจะรู้สึกปวดหัวลักษณะแบบถูกกดทับบริเวณหัวทั้งสองข้าง แต่อาการมักจะหายไปภายในไม่กี่ชั่วโมง
ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจไม่รู้ตัวเอง แต่ผู้ที่นอนร่วมด้วยสามารถสังเกตได้จากอาการนอนกรนเสียงดัง แม้อาการนอนกรนจะไม่ได้หมายถึงการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับเสมอไป แต่ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ที่สามารถพบได้มากที่สุด ดังนั้นผู้ที่มีอาการนอนกรนอาจต้องปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
นอนกลางวันแล้วปวดหัว แก้ยังไงดี
การนอนกลางวันสามารถช่วยให้ร่างกายได้ผ่อนคลายความเหนื่อยล้า ทำให้สดชื่นและกระปรี้กระเปร่าขึ้นได้ แต่ควรนอนในระยะเวลาประมาณ 10–30 นาที เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และไม่เกิดอาการปวดหัวตามมา
นอกจากนี้ สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการนอนให้ถูกหลักอนามัยมากขึ้น เช่น
- ปรับท่านอนให้เหมาะสม และเปลี่ยนหมอนให้เข้ากับกับสรีระของหัวและลำคอ
- ทำความสะอาดเครื่องนอนอยู่เสมอเพื่อป้องกันไรฝุ่นหรือสารก่อภูมิแพ้
- เพิ่มประสิทธิภาพการนอนในเวลากลางคืน เพื่อให้พักผ่อนอย่างเพียงพอและลดการนอนทดแทนในช่วงกลางวัน
- ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
ส่วนผู้ที่มีอาการปวดหัวแบบผิดปกติ ปวดหัวเรื้อรัง หรืออาการปวดหัวไม่ยอมหายไป ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีแก้ไขเพิ่มเติม เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น
- ผู้ที่นอนกัดฟันอาจต้องใส่เฝือกสบฟันหรือฟันยางเวลานอน เพื่อป้องกันการขบกันของฟัน ส่วนการนอนกัดฟันที่มีสาเหตุมาจากความเครียด อาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อบำบัดความเครียด
- ผู้ที่นอนกรนอาจได้รับการตรวจเช็กความผิดปกติของการนอนด้วย Sleep Test เพื่อดูว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ หากมีภาวะหยุดหายในขณะหลับอาจต้องปรับท่านอนให้อยู่ในท่าตะแคงแทนการนอนหงาย หรืออาจต้องใส่อุปกรณ์ช่วยเวลานอนเพื่อให้สามารถหายใจสะดวกขึ้นในคนที่มีอาการรุนแรง
อย่างไรก็ตาม หากนอนกลางวันแล้วปวดหัวแบบผิดปกติหรืออาการปวดหัวไม่หายไป ควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อหากระบุสาเหตุของอาการปวดหัวได้แม่นยำมากเท่าไหร่ จะยิ่งส่งผลดีต่อการรักษามากขึ้น และยังช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจรุนแรงในอนาคต