ขี้โกงเป็นคำที่ใช้อธิบายลักษณะนิสัยของคนที่มีความคิดและการกระทำไม่ซื่อสัตย์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่ตัวเองต้องการ ในเด็กที่มีนิสัยขี้โกงมักจะต้องการเอาชนะในเรื่องบางอย่าง และบ่อยครั้งอาจใช้วิธีที่ไม่ถูกต้อง พ่อแม่จึงอาจสังเกตเห็นพฤติกรรมการโกงได้บ่อยในเด็กในวัยนี้ เช่น แซงคิวเพื่อน โกงการแข่งกีฬา และโกงข้อสอบ
พ่อแม่บางคนอาจคิดว่าการโกงเรื่องเล็กน้อยไม่มีผลเสียต่อลูกมากนัก แต่หากลูกมีพฤติกรรมขี้โกงบ่อยครั้งและต่อเนื่อง อาจกลายเป็นนิสัยที่แก้ไขได้ยากเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ และมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมฉ้อโกงในเรื่องร้ายแรงขึ้นได้ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจว่าทำไมลูกถึงขี้โกงและสังเกตพฤติกรรมของลูก เพื่อช่วยป้องกันและแก้นิสัยขี้โกงในเด็กก่อนที่จะติดตัวไปจนโต
นิสัยขี้โกงเกิดจากอะไร
โดยทั่วไป เด็กมักเริ่มมีนิสัยขี้โกงเมื่ออายุประมาณ 5–8 ปี เพราะความคิดของเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี อาจยังไม่ซับซ้อนมากพอที่จะเข้าใจเรื่องความถูกต้องและความซื่อสัตย์ แต่อาจแสดงออกว่าไม่พอใจที่ตัวเองแพ้ ซึ่งอาจเกิดจากการอยากเป็นคนชนะในตานี้ เพื่อให้ได้เริ่มเล่นในตาถัดไป แต่เมื่อเด็กมีอายุได้ 5–7 ปี จะเริ่มมีความคิดอยากเอาชนะเพื่อน ๆ และหาวิธีโกงเพื่อให้ตัวเองได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
การขี้โกงอาจเกิดจากนิสัยของตัวเด็กเอง เช่น กลัวการแพ้และผิดพลาดเพราะเป็นเรื่องที่น่าอาย หรือกลัวความผิดหวัง จึงหาวิธีโกงเพื่อให้ตัวเองไม่ถูกเยาะเย้ยหรือต่อว่า หรือเด็กบางคนอาจมีนิสัยขี้เกียจ เช่น ไม่อยากทำการบ้านหรืออ่านหนังสือสอบ จึงใช้วิธีลัดอย่างการลอกเพื่อน
โดยผลการวิจัยหนึ่งระบุว่า เด็กในระดับชั้นมัธยมศึกษามักโกงข้อสอบเพื่อให้ตัวเองได้คะแนนดีเพื่อการเรียนต่อในอนาคต และการศึกษาหลายชิ้นยังพบว่าเด็กมีแนวโน้มโกงข้อสอบมากขึ้นเมื่อเห็นเพื่อนหรือคนรอบตัวมีประวัติการโกงมาก่อน
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กมีนิสัยขี้โกงคือการเลี้ยงดูของพ่อแม่ บางครอบครัวอาจบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่ถนัด และบางครอบครัวอาจตั้งความหวังกับลูกไว้สูงเกินไป ทั้งในด้านวิชาการและการทำกิจกรรม เช่น ต้องสอบได้เกรด 4 ทุกวิชา หรือต้องเป็นที่ 1 ในการแข่งขันทุกครั้ง
สาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ลูกเครียดจากการทำสิ่งที่ยากเกินความสามารถ หรือสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ จึงไม่พยายามใช้ความสามารถของตัวเองลงมือทำ และใช้วิธีโกงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่พ่อแม่ต้องการ
เทคนิคสอนลูกให้ห่างไกลจากนิสัยขี้โกง
การสอนลูกไม่ให้มีนิสัยขี้โกงต้องเริ่มจากความเอาใจใส่ของพ่อแม่ในการสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างสม่ำเสมอ หากลูกเริ่มมีพฤติกรรมการโกงหรือพยายามเอาเปรียบคนอื่น ควรตักเตือนและสอนให้ลูกเข้าใจว่านิสัยขี้โกงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น
- พูดคุยและถามเหตุผลที่ทำให้ลูกมีความคิดหรือมีพฤติกรรมการโกง เพื่อทำความเข้าใจและปรับนิสัยของลูกอย่างตรงจุด เช่น หากลูกโกงการสอบเพราะทำข้อสอบไม่ได้ พ่อแม่อาจสอบถามเนื้อหาที่ลูกเรียนและสอนในจุดที่ลูกไม่เข้าใจ เพื่อให้ทำข้อสอบได้ดีขึ้น
- ไม่ดุด่าลูกด้วยคำหยาบคายหรือเรียกลูกว่าเด็กขี้โกง ควรสอนลูกด้วยเหตุผลและไม่ลงโทษลูกอย่างรุนแรง เพื่อไม่ให้เกิดปมฝังใจที่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ในการกระทำของตัวเอง หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พ่อแม่ควรใช้คำพูดที่เข้าใจง่ายและไม่ดุด่าให้ลูกรู้สึกกลัว โดยควรสอนทันทีที่ลูกพฤติกรรมหรือนิสัยที่สื่อถึงความขี้โกง
- สอนให้ลูกเข้าใจถึงผลเสียของการโกง โดยเน้นว่าการโกงเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้ตัวเองและคนอื่นได้รับความเดือดร้อน
- ฝึกลูกให้มีทักษะการรับมือกับความล้มเหลว การแพ้ชนะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกการแข่งขัน หากครั้งนี้ไม่ได้เป็นผู้ชนะก็ยังมีโอกาสฝึกฝนและปรับปรุงข้อบกพร่องของตัวเองให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป
- ไม่ตั้งความหวังกับลูกไว้สูงเกินไปและไม่บังคับให้ลูกทำในสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่ถนัด เพราะจะทำให้รู้สึกเครียดและกดดันตัวเองมากขึ้น
- ควรให้กำลังใจลูกบ่อย ๆ ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร หากพ่อแม่เข้าใจและเห็นความพยายาม จะทำให้ลูกภูมิใจในความสามารถและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง
- เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก เช่น เมื่อพ่อแม่เป็นฝ่ายแพ้ในการแข่งเกมหรือกีฬา อาจบอกลูกว่าครั้งนี้ลูกชนะเพราะความพยายามและความสามารถ ครั้งหน้าพ่อแม่จะพยายามให้มากขึ้นเช่นกัน
นิสัยขี้โกงในเด็กแก้ไขได้ โดยให้เวลาเด็กในการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนนิสัยของตัวเอง พ่อแม่ควรสอนลูกด้วยความเข้าใจและไม่ใช้อารมณ์ตัดสินเมื่อลูกทำผิด อย่างไรก็ตาม หากลูกโตพอที่จะเข้าใจเรื่องความถูกต้องและความซื่อสัตย์ได้ดี แต่ยังมีพฤติกรรมการโกงอย่างต่อเนื่องหรือบ่อยครั้ง พ่อแม่ควรพูดคุยกับคุณครูที่โรงเรียนและปรึกษาจิตแพทย์เพื่อช่วยในการปรับพฤติกรรมของลูกอย่างเหมาะสมต่อไป