นิโคตินคืออะไร มีโทษและอันตรายอย่างไร

นิโคติน คือ สารเคมีให้โทษชนิดหนึ่งที่พบในกลุ่มยาสูบ เช่น บุหรี่ ซิการ์ ไปป์ สารนิโคตินส่งผลต่อสมองและระบบประสาท มีฤทธิ์ในทางการเสพติด เนื่องจากนิโคตินที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะมีผลทำให้เกิดการหลั่งสารเอพิเนฟรีนที่ต่อมหมวกไต ทำให้ผู้ป่วยเกิดการเสพติดสารนิโคติน ร่างกายต้องการนิโคตินเพิ่มมากขึ้น จึงมีผลต่อการสูบบุหรี่หรือยาสูบอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด

What Is Nicotine

นิโคตินส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร

เมื่อสูบบุหรี่ ควันบุหรี่ที่มีนิโคตินจะมีผลต่อสมองภายในเวลาประมาณ 10 วินาที ส่วนการสูบยาสูบอื่น ๆ เช่น ซิการ์ หรือบุหรี่ไร้ควัน สารนี้จะถูกดูดซึมผ่านทางเนื้อเยื่อผิวหนัง เยื่อเมือกภายในจมูกและปาก ซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปยังปอด และออกฤทธิ์ต่อสมองและระบบประสาท ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเอพิเนฟรีนและสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ หรือมีความสุข นอกจากนั้น ยังเป็นผลให้ผู้ที่ได้รับสารนิโคตินอาจมีอาการอย่างความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หายใจถี่ขึ้น หรือน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม นิโคตินสามารถส่งผลคลายความกังวล ทำให้เกิดความผ่อนคลาย หรือง่วงนอนได้ด้วย ทั้งนี้ การออกฤทธิ์ของนิโคตินขึ้นอยู่กับระดับความตื่นตัวของระบบประสาทกับปริมาณนิโคตินที่ถูกเสพเข้าไปด้วย

ตัวอย่างอาการที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาท ได้แก่

  • กระตุ้นให้อารมณ์ดี
  • ทำให้รู้สึกสบาย
  • ลดความรู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายใจ
  • ลดอาการซึมเศร้า
  • ลดความอยากอาหาร
  • เพิ่มสมาธิ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจำระยะสั้น

ระดับของสารนิโคตินที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสมอง ขึ้นอยู่กับวิธีการและปริมาณที่สูบเข้าไปด้วย เช่น สารนิโคตินจะถูกดูดซึมผ่านการสูบและหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปได้เร็วกว่าผู้ที่สูบซิการ์หรือไปป์ ซึ่งมักไม่ได้สูดควันเข้าไปในร่างกายด้วย

นิโคตินกระทบต่อชีวิตนักสูบอย่างไรบ้าง

ความอยากที่ไม่อาจควบคุมได้

เมื่อเสพติดนิโคติน นักสูบจะไม่สามารถหยุดสูบได้ แม้จะพยายามเลิกสูบหลายต่อหลายครั้ง หรือแม้ทราบว่าการสูบจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา

ภาวะขาดนิโคติน

เมื่อไม่ได้รับสารนิโคติน ผู้เสพจะเผชิญกับภาวะอาการขาดสารนิโคติน ซึ่งอาจประกอบด้วยอาการกระสับกระส่าย ขาดสมาธิ ปวดหัว  มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นจากความอยากอาหารที่เพิ่มขึ้น หัวใจเต้นช้าลง นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้า โดยอาการเหล่านี้จะปรากฏชัดมากและรุนแรงที่สุดในช่วงวันแรก ๆ ที่ร่างกายขาดสารนิโคติน แต่จะค่อย ๆ ทุเลาลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปภายใน 1 เดือนให้หลัง     

พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

นักสูบอาจมีพฤติกรรมหรือมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยพวกเขาอาจหลีกเลี่ยงการพบปะ การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นลดน้อยลง เนื่องจากไม่สามารถอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ไม่อาจสูบบุหรี่ได้ เช่น เลี่ยงการอยู่ในเขตปลอดบุหรี่ เลี่ยงการรับประทานอาหารในห้องแอร์ซึ่งไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่

ปัญหาสุขภาพ

เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ จากการสูบบุหรี่ เช่น

  • ภาวะความดันโลหิตสูง 
  • มีปัญหาช่องปาก มีกลิ่นปาก หรือเป็นโรคเหงือกและฟัน
  • บาดแผลสมานตัวช้าลง โดยเฉพาะหลังการผ่าตัด
  • ประสิทธิภาพในการรับรสหรือกลิ่นลดลง
  • ผิวหนังเหี่ยวย่น
  • ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือภาวะมีบุตรยาก
  • อาการป่วยเกี่ยวกับหลอดลม
  • โรคถุงลมโป่งพอง
  • การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ที่อาจทำให้เกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน หรือลิ่มเลือดอาจไหลไปอุดตันที่ปอดได้ ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายถึงชีวิต
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • มะเร็งปอด  

ยิ่งไปกว่านั้น ควันจากการสูบ หรือควันบุหรี่มือสอง อาจเป็นอันตรายต่อบุคคลใกล้ชิดที่สูดดมเข้าไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้เช่นกัน เช่น อาการแพ้ต่าง ๆ หรือการติดเชื้อบริเวณตา จมูก ลำคอ และในระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรงปอด มะเร็งปอด เป็นต้น

พฤติกรรมบ่งชี้ของผู้ที่เสพติดนิโคติน

เกณฑ์การวินิจฉัยผู้ที่เสพติดนิโคตินจากการใช้ยาสูบต่าง ๆ ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition: DSM-5) ได้ระบุไว้ว่า ผู้ที่เสพติดนิโคตินจะต้องมีพฤติกรรมหรืออาการอย่างน้อย 2 จาก 11 อาการที่ปรากฏภายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้

  1. สูบในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น หรือสูบติดต่อกันมาเป็นเวลานาน
  2. อยากสูบเรื่อย ๆ ไม่สามารถเลิกสูบ หรือไม่สามารถควบคุมปริมาณการสูบให้เป็นตามที่ตั้งใจได้
  3. ต้องสูบบุหรี่หรือยาสูบใด ๆ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้เวลานาน
  4. มีความกระหายอยากสูบอย่างมาก
  5. สูบบุหรี่บ่อยจนส่งผลเสียต่อบทบาทหน้าที่ในที่ทำงาน ที่โรงเรียน หรือที่บ้าน
  6. ยังคงสูบมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปัญหาความสัมพันธ์ทางสังคมอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ เช่น ขัดแย้งกับผู้อื่นเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของตน
  7. เลิกหรือลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญทางสังคม เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน หรืองานสังสรรค์รื่นเริงเนื่องมาจากการสูบ
  8. ยังคงสูบแม้เป็นสถานการณ์ที่เป็นอันตรายทางกายภาพ เช่น การสูบบุหรี่บนเตียง
  9. ยังคงสูบมาอย่างต่อเนื่อง แม้ทราบว่าการสูบอาจนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  10. อาการดื้อต่อสารนิโคติน โดยเกิดอาการใดอาการหนึ่งต่อไปนี้
    • สูบเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสนองต่อความอยาก
    • เกิดผลหรือความรู้สึกจากการสูบน้อยลง แม้สูบในปริมาณเท่าเดิม
  1. ภาวะขาดสารนิโคติน โดยเกิดอาการใดก็ตามต่อไปนี้:
    • มีอาการที่เด่นชัดของกลุ่มอาการขาดนิโคติน
    • กลับไปสูบ หรือใช้สารทดแทนนิโคติน เพื่อไม่ให้เกิดอาการต่าง ๆ จากภาวะขาดนิโคติน

เลิกสูบ เลิกเสี่ยง เลิกเสพติดนิโคติน

นอกจากสารนิโคติน ในบุหรี่และยาสูบชนิดต่าง ๆ ยังมีสารให้โทษอื่น ๆ อีก เช่น ทาร์ (Tar) หรือน้ำมันดิน และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งล้วนแต่เพิ่มความเสี่ยงและอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ในอนาคต ฉะนั้น การเลิกสูบบุหรี่ และยาสูบทุกชนิด ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว โดยอาจปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

การรักษาทางการแพทย์

ผู้ที่ไม่สามารถเลิกสูบได้ด้วยตนเอง หรือล้มเหลวหลังพยายามเลิกสูบด้วยตนเอง ควรไปปรึกษาแพทย์ถึงแนวทางในการเลิกสูบ และวิธีการรับมือกับอาการขาดนิโคติน โดยแพทย์อาจมีวิธีการรักษา เช่น แพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษาที่ใช้ยาหรือสารที่มีส่วนประกอบของนิโคตินในรูปแบบสเปรย์ ยาพ่น หมากฝรั่ง ยาอม หรือแผ่นปิดผิวหนัง หรือยาเลิกบุหรี่ที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน จนกว่าผู้ที่เสพติดนิโคตินจะมีอาการดีขึ้นและไม่กลับไปสูบอีก เช่น บูโพรพิออน (Bupropion) และวาเรนนิคลีน (Varenicline)

ส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยให้เลิกสูบบุหรี่และยาสูบอื่น ๆ นั้น สำหรับในประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นประเด็นที่ยังต้องการงานค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมถึงคุณสมบัติและประสิทธิผลของมันต่อไปในอนาคต

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • ชะลอความอยากลง หากกำลังรู้สึกอยากสูบ ให้หันเหความสนใจไปทำสิ่งอื่นแทน เช่น ออกไปนอกบ้าน ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ หรือไปอยู่ในบริเวณที่เป็นเขตปลอดบุหรี่
  • ทำให้ปากไม่ว่าง เคี้ยวหมากฝรั่ง กินถั่ว หรือเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ แทน เพื่อลดความอยากสูบ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้อยากสูบบุหรี่ เช่น งานปาร์ตี้ ผับ บาร์ บรรยากาศตึงเครียด
  • อย่าอนุญาตให้ตัวเองกลับไปสูบเพียงเพราะคิดว่าสูบแค่ครั้งเดียว เพราะมีโอกาสสูงที่จะกลับไปสูบอีกเรื่อย ๆ
  • หากิจกรรมทำ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องใช้แรง เพื่อลดความอยากสูบ เช่น เดิน วิ่ง ลุกนั่ง วิดพื้น และการออกกำลังกายต่าง ๆ นอกจากนี้ อาจหากิจกรรมที่เป็นงานอดิเรกอื่น ๆ ทำ
  • เรียนรู้เทคนิคการผ่อนคลายความเครียด เพื่อหลีกเลี่ยงการสูบ เช่น การสูดหายใจลึก ๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การนวด เล่นโยคะ ฟังเพลงเบา ๆ สบาย ๆ ผ่อนคลายอารมณ์ เป็นต้น
  • เตือนตัวเองอยู่เสมอ ให้ตระหนักถึงโทษของนิโคติน และประโยชน์จากการเลิกสูบ โดยเฉพาะการมีสุขภาพที่ดีขึ้น รู้สึกดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้บุคคลใกล้ชิดปลอดภัยจากพิษของควันบุหรี่มือสอง
  • ขอความช่วยเหลือ เช่น พูดคุยสร้างกำลังใจ รับการสนับสนุนจากเพื่อน ครอบครัว หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเลิกบุหรี่เช่นเดียวกัน ในส่วนของประเทศไทย มีองค์กรที่ช่วยเหลือดูแลและให้บริการด้านการเลิกบุหรี่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานรัฐบาล คือ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ซึ่งผู้ที่ต้องการเลิกสูบสามารถโทรสอบถามข้อมูลและความช่วยเหลือได้ที่เบอร์สายด่วน 1600

เทคนิครับมืออาการขาดสารนิโคติน

หลังเลิกสูบ ผู้ป่วยอาจต้องเผชิญอาการต่าง ๆ ในภาวะขาดนิโคติน วิธีการและแนวทางปฏิบัติง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้สามารถรับมือกับอาการเหล่านั้นได้ เช่น

  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยรักษาบรรเทาอาการซึมเศร้าและเมื่อยล้าจากการขาดสาร แต่ต้องไม่ออกกำลังกายก่อนเข้านอน เพราะอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ โดยควรออกกำลังกายทิ้งช่วงห่างกับเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง
  • พักผ่อนอย่างเพียงพอ เมื่อขาดนิโคติน ร่างกายจะมีอาการอ่อนเพลีย ควรพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู
  • หันเหความสนใจจากการสูบ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับไปสูบอีก โดยควรหากิจกรรมที่ตนสนใจและสร้างสรรค์ทำ เช่น การผ่อนคลายด้วยการเล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต เดินเล่น หรือตั้งเป้าหมายให้รางวัลตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นต้น
  • อยู่ห่างจากสถานการณ์ที่ทำให้อยากสูบบุหรี่ และอยู่ห่างไกลจากผู้ที่กำลังสูบบุหรี่
  • เรียนรู้วิธีรับมือกับความเครียดและการจัดการปัญหา เช่น การทำสมาธิ สูดหายใจลึก ๆ หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ
  • ขอกำลังใจและการสนับสนุนจากเพื่อน ครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด
  • ปรึกษาแพทย์เสมอหากมีความวิตกกังวลหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลิกสูบ และไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการป่วยที่รุนแรง