ความหมาย นิ้วบวม (Swollen Finger)
นิ้วบวม (Swollen Finger) คืออาการที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้ามีลักษณะบวมใหญ่ขึ้นผิดปกติ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการมีของเหลวสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งอาการนิ้วบวมมักเป็นสัญญาณของอาการหรือโรคบางอย่าง เช่น การอักเสบ การติดเชื้อ โรคไต หรือเป็นผลข้างเคียงของการกินอาหารหรือยาบางชนิด
การรักษาอาการนิ้วบวมมักขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยอาจบรรเทาอาการนิ้วบวมเบื้องต้นได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การประคบเย็น การยกแขนหรือขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ อย่างไรก็ตาม หากอาการนิ้วบวมเกิดขึ้นเป็นเวลานาน หรืออาการนิ้วบวมไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุที่อาจทำให้นิ้วบวม และทำการรักษาตามสาเหตุของอาการต่อไป
อาการนิ้วบวม
อาการนิ้วบวมมักสังเกตได้ไม่ยาก โดยนอกจากนิ้วมือหรือนิ้วเท้าจะมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว บริเวณที่บวมอาจมีลักษณะต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น
- ผิวหนังบริเวณนิ้วบวมมีความมันวาว
- เมื่อกดนิ้วที่บวมค้างไว้แล้วปล่อย อาจเกิดรอยบุ๋มบนผิวหนังก่อนกลับสู่ปกติ
- รู้สึกแน่นหรือตึงบริเวณนิ้วที่บวม
ทั้งนี้ นิ้วบวมอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น นิ้วมีอาการแดง คัน กดแล้วรู้สึกเจ็บหรือปวด
สาเหตุที่ทำให้นิ้วบวม
เมื่อของเหลวรั่วไหลออกจากเส้นเลือดฝอยบริเวณนิ้ว อาจก่อให้เกิดการสะสมตัวของของเหลวใต้ผิวหนัง และส่งผลให้นิ้วมีอาการบวมตามมาได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ้วบวมอาจมีดังนี้
- การกินอาหารที่มีโซเดียมสูง
- ภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphedema)
- อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อากาศร้อน หลังจากการออกกำลังกาย
- อาการภูมิแพ้ หรือโรคแองจิโออีดีมา (Angioedema)
- อุบัติเหตุที่ก่อให้อาการบาดเจ็บบริเวณนิ้ว เช่น ประตูหนีบ นิ้วซ้น กระดูกนิ้วหัก
- ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์
- โรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เช่น โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคเอ็นร้อยหวายอักเสบ
- อาการครรภ์เป็นพิษ
- การติดเชื้อบริเวณแขน มือ ขา เท้า หรือข้อต่อนิ้ว
- โรคไต เช่น โรคไตวาย
- โรคตับแข็ง
- โรคหัวใจล้มเหลว
- โรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคเกรฟส์ (Graves' Disease)
- โรคปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดลมโป่งพอง
- โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)
- โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease)
- โรคผิวหนังแข็ง (Scleroderma)
อย่างไรก็ตาม นอกจากอาการและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ จะส่งผลให้นิ้วบวมแล้ว นิ้วบวมยังอาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น
- ยาแก้ปวด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen)
- ยาสเตียรอยด์
- ยารักษาโรคเบาหวาน เช่น ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidinediones)
- ยาที่ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ยารักษาอาการปวดประสาท เช่น ยากาบาเพนติน (Gabapentin) และยาพรีกาบาลิน (Pregabalin)
- การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นเวลานาน
- การกินยาปรับฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน
การวินิจฉัยนิ้วบวม
แพทย์อาจวินิจฉัยอาการนิ้วบวมเบื้องต้นด้วยการสังเกตบริเวณนิ้วที่มีอาการบวม จากนั้นแพทย์อาจตรวจหาสาเหตุของอาการนิ้วบวมด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การสอบถามอาการ การตรวจเลือด การอัลตราซาวด์ การเอกซเรย์ การตรวจการทำงานของไต เพื่อทำการรักษาสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการนิ้วบวมต่อไป
การรักษานิ้วบวม
วิธีการรักษานิ้วบวมอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยอาจลดอาการบวมด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
การรักษานิ้วบวมด้วยตนเอง
ผู้ที่มีอาการนิ้วบวมอาจลดอาการบวมเบื้องต้นได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
- ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งครั้งละไม่เกิน 20 นาที เพื่อลดอาการนิ้วบวมหรือการอักเสบที่ก่อให้เกิดอาการปวด
- ยกแขนหรือขาขึ้นเหนือหัวใจ โดยอาจวางแขนทับหมอนขณะนอนหลับ เพื่อช่วยให้อาการบวมที่นิ้วลดลง
- ขยับนิ้วหรือใช้งานกล้ามเนื้อที่นิ้วบ่อย ๆ อาจช่วยให้ของเหลวที่รั่วไหลจากเส้นเลือดฝอยไหลกลับสู่หัวใจ และลดอาการนิ้วบวมได้
- สวมถุงมือเพื่อเพิ่มแรงบีบอัด (Compression gloves) โดยการสวมถุงมืออาจช่วยลดอาการบวม และป้องกันไม่ให้ของเหลวกลับมาสะสมตัวบริเวณนิ้วอีกครั้ง
- นวดนิ้วที่บวมในทิศทางเข้าสู่หัวใจ โดยใช้แรงนวดพอประมาณเพื่อกระจายของเหลวใต้ผิวหนังที่สะสมตัวอยู่ให้ลดลง
- ลดอาหารโซเดียมสูง เนื่องจากการกินเค็มหรือการกินโซเดียมอาจเพิ่มปริมาณการสะสมตัวของของเหลวในร่างกาย ดังนั้นการลดปริมาณความเค็มในอาหารลง อาจช่วยให้อาการบวมที่นิ้วดีขึ้น
การรักษานิ้วบวมโดยการใช้ยา
อาการนิ้วบวมอาจบรรเทาได้ด้วยการรักษาโรคหรืออาการที่เป็นสาเหตุ โดยตัวอย่างยาที่อาจเกี่ยวข้องกับการบรรเทาอาการนิ้วบวม เช่น
- ยาขับปัสสาวะ หากมีอาการนิ้วหรือส่วนอื่นของร่างกายบวมอย่างรุนแรง แพทย์อาจจ่ายยาขับปัสสาวะ เช่น ยาฟูโรซีไมด์ (Furosemide) เพื่อขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย
- ยาต้านฮิสตามิน หากอาการบวมเกิดจากอาการแพ้ อาจใช้การกินยาต้านฮิสตามินหรือยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาอาการแพ้ และลดอาการนิ้วบวม
- ยาต้านการอักเสบ เนื่องจากการอักเสบอาจก่อให้เกิดอาการนิ้วบวมได้ ดังนั้น การรักษาโดยใช้ยาต้านการอักเสบ อาจช่วยให้อาการบวมที่นิ้วลดลง
ทั้งนี้ หากนิ้วบวมเกิดจากการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจแนะนำให้หยุดกินยา หรือลดปริมาณยาให้น้อยลง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการนิ้วบวมไม่ควรหยุดยาด้วยตนเอง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาโรคนั้น ๆ ได้
นอกจากนี้ หากมีอาการนิ้วบวมเป็นระยะเวลานาน รักษาด้วยตัวเองในเบื้องต้นแล้วแต่ไม่ดีขึ้น หรือมีอาการนิ้วบวมร่วมกับอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น แผลที่นิ้วบวมหรือเจ็บเป็นอย่างมาก มีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยการรักษาอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงหรือชนิดของการติดเชื้อนั้น ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของนิ้วบวม
หากไม่รักษาอาการนิ้วบวมให้ดีขึ้นอาจก่อให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น
- อาการบวมมีความรุนแรงขึ้น
- อาการคันบริเวณนิ้วที่บวม
- ขยับนิ้วลำบาก
- การหมุนเวียนเลือดบริเวณที่บวมลดลง
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- อาการหรือโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดนิ้วบวมมีอาการรุนแรงขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนของอาการหรือโรคนั้น ๆ เกิดขึ้น
การป้องกันนิ้วบวม
การป้องกันนิ้วบวมที่เหมาะสมที่สุด คือการป้องกันโรคหรืออาการที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการนิ้วบวม เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ควบคุมปริมาณเกลือหรือโซเดียมในอาหาร รวมไปถึงการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และออกกำลังกายหรือบริหารร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณนิ้ว
นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นพร้อมกับอาการนิ้วบวม ควรไปพบแพทย์ เพราะการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการนิ้วบวมแย่ลงได้