น้ำตาลเทียม ประโยชน์และความเสี่ยงที่ผู้บริโภคควรรู้

น้ำตาลเทียมหรือสารให้ความแทนน้ำตาล (Artificial Sweeteners) เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแต่งเติมรสชาติหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาลธรรมชาติ ส่วนมากจะให้แคลอรี่ต่ำหรืออาจไม่มีแคลอรี่เลยขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำตาลเทียม โดยปัจจุบันน้ำตาลเทียมเข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมการบริโภคมากขึ้นด้วยหลายจุดประสงค์ ทั้งการลดน้ำหนัก ลดปริมาณแคลอรี่ หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

น้ำตาลเทียมมีด้วยกันหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแอสปาร์แทม (Aspartame) อะเซซัลเฟม-เค (Acesulfame-K) นีโอแทม (Neotame) แซคคาริน (Saccharin) หรือขัณฑสกร สตีเวีย (Stevia) หรือสารสกัดจากหญ้าหวาน และซูคราโลส (Sucralose) ถึงแม้จะให้รสหวานที่ใกล้เคียงกับน้ำตาลธรรมชาติ และใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ได้ความหวานที่มากกว่าหลายเท่าตัว แต่น้ำตาลเทียมก็มีข้อจำกัดและข้อควรระวังอยู่หลายอย่าง

2959-น้ำตาลเทียม

ประโยชน์ของน้ำตาลเทียม

โดยทั่วไป น้ำตาลเทียมแต่ละชนิดอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน ยกตัวอย่างเช่น 

ลดความอยากอาหาร

ผลงานวิจัยหลายชิ้นเผยว่า การบริโภคอาหารหวานหรือเครื่องดื่มสูตรน้ำตาลเทียมอาจส่งผลให้ความอยากอาหารลดน้อยลง แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกลับมีความกังวลว่า การเปลี่ยนมาใช้น้ำตาลเทียมในอาหารหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ อาจส่งผลให้ผู้บริโภคอยากน้ำตาลมากขึ้น หรือรับประทานน้ำตาลในปริมาณมากกว่าเดิมเพื่อให้รู้สึกอิ่มท้อง แต่นี่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานหนึ่งเท่านั้น  

ลดน้ำหนัก

น้ำตาลธรรมชาติเป็นวัตถุดิบที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย โดยน้ำตาลปริมาณ 1 กรัม จะให้พลังงานมากถึง 4 แคลอรี่ ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่ได้รับในแต่ละวันไม่ควรเกิน 24 กรัมหรือประมาณ 2 ช้อนกินข้าว ในขณะที่น้ำตาลเทียมนั้นมีแคลอรี่ต่ำหรือบางชนิดอาจไม่มีแคลอรี่เลย โดยการทดลองบางส่วนระบุว่า น้ำตาลเทียมอาจช่วยลดน้ำหนักตัวได้ แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันผลลัพธ์ด้านนี้ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีงานวิจัยไม่น้อยที่ชี้ว่า น้ำตาลเทียมมีส่วนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น   

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ปกติแล้ว การบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตอย่างน้ำตาล แป้ง และเส้นใยอาหาร จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงไป เพราะร่างกายคนเราจะย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตบางส่วนจนกลายเป็นกลูโคสหรือที่เรียกกันว่าน้ำตาลในเลือด เพื่อดูดซึมสู่กระแสเลือดและถูกใช้เป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย 

เรื่องนี้มีความสำคัญต่อผู้ป่วยที่ต้องควบคุมการบริโภคอาหารและระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน

โดยน้ำตาลเทียมไม่จัดอยู่ในกลุ่มของคาร์โบไฮเดรต จึงทำให้การบริโภคน้ำตาลเทียมไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและปลอดภัยต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานเมื่อใช้ในระยะสั้น แต่ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการในการเลือกใช้น้ำตาลเทียมชนิดและปริมาณที่เหมาะสมก่อนการบริโภค และควรระมัดระวังน้ำตาลธรรมชาติในอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่รับประทานร่วมด้วยในแต่ละมื้อ

ป้องกันฝันผุ

ปัญหาฟันผุเป็นผลมาจากการสะสมของแบคทีเรียและน้ำตาลภายในช่องปากจนเกิดเป็นกรดทำลายผิวฟันจนผุกร่อน แต่น้ำตาลเทียมจะไม่ทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียภายในปาก จึงทำให้ไม่มีกรดเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น องค์การความปลอดภัยของอาหารแห่งยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) ยังระบุว่า การบริโภคน้ำตาลเทียมจะช่วยลดความเป็นกรดและป้องกันฟันผุได้

แม้น้ำตาลเทียมจะเป็นตัวช่วยที่น่าสนใจในการลดความอยากอาหาร การลดน้ำหนัก หรือการควบคุมน้ำตาลในเลือด แต่ผู้บริโภคต้องรับประทานด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ เพราะเห็นได้ว่าประโยชน์ของน้ำตาลเทียมยังคงคลุมเครือในหลาย ๆ ด้าน และผลลัพธ์ของการบริโภคน้ำตาลเทียมชนิดต่าง ๆ อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละคน 

ความเสี่ยงจากน้ำตาลเทียม

แม้การบริโภคน้ำตาลเทียมจะปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่น้ำตาลเทียมบางชนิดมีข้อควรระวังหรือข้อจำกัดเช่นกัน   

  • ผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแอสปาร์แตม เนื่องจากมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) จึงอาจทำให้ระดับฟีนิลอะลานีนในร่างกายสูงขึ้นได้
  • ผู้ที่แพ้สารซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแซคคาริน ซึ่งเป็นน้ำตาลเทียมชนิดที่ถูกแปรสภาพมาจากสารซัลโฟนาไมด์ หากผู้บริโภครับประทานแซคคารินแล้วมีสัญญาณของการแพ้ อย่างหายใจลำบาก ผื่น หรือท้องเสีย ควรหยุดใช้แล้วไปพบแพทย์ทันที
  • มีหลักฐานบางส่วนชี้ว่า ซูคราโลสอาจส่งผลต่อความไวในการตอบสนองต่ออินซูลินและเชื้อแบคทีเรียในลำไส้   

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการบริโภคน้ำตาลเทียมอย่างปลอดภัยคือ การศึกษาข้อมูลของน้ำตาลเทียมแต่ละชนิดอย่างถี่ถ้วนและรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม หากมีเป้าหมายในการควบคุมน้ำหนักก็ควรดูแลร่างกายด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ทำร้ายสุขภาพด้วยการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนการบริโภคน้ำตาลเทียม ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ใด เพื่อลดผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายในอนาคตให้ได้มากที่สุด