น้ำตาลในเลือด สำคัญอย่างไร ควบคุมยังไงให้สุขภาพดี

น้ำตาลในเลือดหรือกลูโคส (Glucose) หมายถึงความเข้มข้นของระดับน้ำตาลที่อยู่ภายในเลือด โดยน้ำตาลในเลือดจะไหลเวียนไปพร้อมกับเลือดเพื่อเติมพลังงานให้กับเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดสามารถส่งผลต่อสุขภาพหลายด้าน

การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยปกติแล้วน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้นหลังการกินอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต อย่างแป้งและน้ำตาล และระดับน้ำตาลในเลือดมักจะลดลงเมื่อไม่ได้กินอาหาร นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือดและสุขภาพ ทั้งโรค การใช้ยา และการใช้ชีวิต โดยบทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับระดับน้ำในเลือดให้มากขึ้น

น้ำตาลในเลือด สำคัญอย่างไร ควบคุมยังไงให้สุขภาพดี

น้ำตาลในเลือดสำคัญอย่างไร

หากเปรียบร่างกายมนุษย์เป็นเครื่องจักร อาหารก็เปรียบได้กับเชื้อเพลิงที่คอยให้พลังงาน ทำให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนน้ำตาลในเลือดก็อาจเปรียบได้กับเชื้อเพลิงประเภทหนึ่งที่มีพลังงานสูงและจำเป็นต่อการทำงานของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งพลังงานที่เหมาะสมจะช่วยให้เซลล์และระบบร่างกายทำงานได้ตามปกติ โดยเกณฑ์ในการวัดระดับปกติของระดับน้ำตาลในเลือดในกลุ่มคนทั่วไป ได้แก่

  • ก่อนอาหาร 80–130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • หลังอาหาร 2 ชั่วโมง น้อยกว่า 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

อย่างไรก็ตาม หากน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน โดยโรคที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปที่คุ้นเคยกันคือโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากร่างกายไม่สามารถดึงน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงานได้อย่างเหมาะสม ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย

นอกจากนี้ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปอย่างต่อเนื่องยังสามารถทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ซึ่งเป็นภาวะที่อาจนำไปสู่โรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และภาวะเส้นประสาทเสียหายที่ส่งผลต่อการรับความรู้สึก

นอกจากโรคเบาหวานจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงแล้ว การบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลและแป้งสูงก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานได้เช่นกัน เพราะอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลสามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้สูงกว่าอาหารประเภทอื่น

สำหรับคนที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติอาจเป็นผลมาจากโรคหรือการใช้ยาบางชนิด พฤติกรรมเสี่ยงอย่างการอดอาหารและการออกกำลังกายหนัก โดยคนที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจเสี่ยงต่ออาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ง่วงซึม เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว หน้ามืด เป็นลม อีกทั้งอาการเหล่านี้สามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตและเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้

ด้วยเหตุนี้ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงเป็นปัจจัยร่างกายที่สำคัญต่อสุขภาพที่ทุกคนควรดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อให้ระบบร่างกายทำงานได้อย่างปกติและลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่อาจตามมา

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างไรถึงจะเหมาะสม

การดูแลตนเองและการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพเป็นวิธีพื้นฐานที่ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยสามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ได้

1. กินอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม

อย่างที่ได้บอกไปว่าอาหารส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดอย่างมาก เราควรกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป และกินให้ครบทุกมื้อ เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ รวมถึงดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม

นอกจากการจำกัดอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตแล้ว การกินอาหารประเภทผักและผลไม้ให้มากขึ้นอาจช่วยให้ร่างกายจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น โดยจากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าการกินอาหารที่มีไฟเบอร์และวิตามินสูงจากกลุ่มผักผลไม้หลากสีและผักใบเขียว อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมและลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2

อย่างไรก็ตาม สรรพคุณนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างแน่ชัด จึงควรกินในปริมาณที่เหมาะสมและสลับสับเปลี่ยนชนิดของผักผลไม้ให้หลากหลาย รวมทั้งจำกัดผลไม้ที่มีแป้งและน้ำตาลสูง เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก และองุ่น นอกจากนี้ ควรลดความถี่ในการกินของหวาน ของทอด และน้ำหวาน และลดความหวานในอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับน้ำตาลในปริมาณมากติดต่อกัน

2. ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายจะดึงพลังงานในร่างกายไปใช้ เมื่อใช้พลังงานมากขึ้น ร่างกายก็จะดึงน้ำตาลในเลือดเพื่อไปเป็นพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดนั้นไม่สูงเกินไป อีกทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยังชี้ว่าการออกกำลังกายยังช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) มากขึ้น

ฮอร์โมนอินซูลินทำหน้าที่ในการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงาน ซึ่งร่างกายของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะดื้อต่อฮอร์โมนชนิดนี้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงานได้อย่างเหมาะสม จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งประโยชน์ในข้อนี้ก็ส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดอื่นเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ หากใครที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรืออยู่ในภาวะเสี่ยงของโรคนี้ การออกกำลังกายอาจช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายนานหรือหนักจนเกินไป ร่างกายอาจดึงน้ำตาลในเลือดไปใช้จนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและเป็นลมได้

3. ดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์

ผู้ป่วยเบาหวานทุกชนิดและผู้ที่เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน   

นอกจากการใช้ยาตามแพทย์สั่งจ่ายแล้ว ผู้ป่วยควรดูแลอาหารการกิน การออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงความเครียด และปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตรูปแบบอื่นตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ปกติและปลอดภัย

ระดับน้ำตาลในเลือดสำคัญต่อสุขภาพไม่น้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรกังวลหรือเครียดจนเกินไป เพียงแค่ใส่ใจในการดูแลตนเองก็จะช่วยให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ แต่หากใครยังรู้สึกกังวลเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือด น้ำหนักตัว พฤติกรรมการกิน และคาดว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพ ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ