น้ำตาเทียม (Artificial Tears) คือสารที่ใช้หล่อลื่นลูกตา ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติ ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง แสบ หรือไม่สบายตา ซึ่งมีสาเหตุมาจากตาแห้งจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โรค การใช้ยา อายุ และสภาพอากาศ รวมทั้งอาจนำมาใช้เพื่อหล่อลื่นลูกตาสำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์
น้ำตาเทียมมีหลายประเภท ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับดวงตาควรปรึกษาแพทย์ก่อน และควรใช้ให้ถูกวิธี เพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
ประเภทและส่วนประกอบของน้ำตาเทียม
ส่วนประกอบหลักของน้ำตาเทียมคือสารที่ให้ความชุ่มชื้นและช่วยหล่อลื่นดวงตา เช่น โพลิไวนิลแอลกอฮอล์ (Polyvinyl Alcohol) คาร์บอกซิเมทิลเซลลูโลส (Carboxymethyl Cellulose) ไฮโปรเมลโลส (Hypromellose) และโซเดียมไฮยาลูโรเนต (Sodium Hyaluronate) และบางผลิตภัณฑ์ประกอบด้วยสารกันเสียที่ช่วยให้น้ำยาหยอดตาคงสภาพได้นาน ป้องกันการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
ผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียมที่วางจำหน่ายทั่วไปในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก โดยการเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับความสะดวก การใช้ชีวิตประจำวัน หรือใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้
น้ำตาเทียมชนิดสารละลาย
น้ำตาเทียมชนิดสารละลายมีลักษณะเป้นของเหลวใสไม่มีสี เหมาะสำหรับการหยอดตาบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาระหว่างวัน แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่
- ชนิดไม่ใส่สารกันเสีย ซึ่งจัดจำหน่ายในรูปแบบกระเปาะเล็ก
- ชนิดใส่สารกันเสียแบบขวดและแบบหลอด ซึ่งสามารถใช้ได้นาน 1 เดือนหลังเปิดใช้แล้ว
- ชนิดใส่สารกันเสียแบบกระเปาะเล็ก ซึ่งต้องใช้ให้หมดภายใน 1 วันหลังเปิดใช้
น้ำตาเทียมชนิดขี้ผึ้ง
น้ำตาเทียมชนิดขี้ผึ้งเหมาะสำหรับผู้มีปัญหาตาแห้งในระดับปานกลางถึงรุนแรง เนื่องจากตัวน้ำยาจะมีความหนืดสูงกว่าชนิดสาระละลาย และระเหยช้า จึงไม่เหมาะกับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ และควรใช้ก่อนนอน เนื่องจากอาจทำให้ตาพร่ามัวได้
ประโยชน์ของน้ำตาเทียม
น้ำตาเทียมใช้สำหรับบรรเทาอาการตาแห้ง ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและลดการเสียดสีที่กระจกตา ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง แสบตา ลดอาการตาแดงและบวม ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น
- การอยู่ในสถานที่ที่มีแสงแดดและลมแรง หรือมีฝุ่นควัน
- ผู้ที่มีอาการตาแห้งและตาล้าจากการใช้สายตาต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น คนทำงานที่จ้องจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Diseases)
- ผู้ที่มีอายุมาก ซึ่งดวงตาจะสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย
- ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดดวงตา
- ผู้ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ และยาต้านเศร้า
อย่างไรก็ดี น้ำตาเทียมจะช่วยบรรเทาอาการตาแห้งเท่านั้น ไม่สามารถรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ และน้ำตาเทียมไม่สามารถใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อที่ตาได้ ผู้ที่มีการติดเชื้อที่ตา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยในการใช้
ข้อแนะนำและข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม
คนทั่วไป รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตรสามารถใช้น้ำตาเทียมได้อย่างปลอดภัย หากเคยมีประวัติอาการแพ้จากการใช้น้ำตาเทียม ควรหลีกเลี่ยงการใช้หรือปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้
สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ โดยทั่วไปควรถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อน จึงค่อยหยอดน้ำตาเทียม ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงค่อยใส่คอนแทคเลนส์กลับไป เพราะการใช้น้ำตาเทียมชนิดที่มีสารกันเสียอาจทำให้คอนแทคเลนส์เปลี่ยนสี หรืออาจทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตาได้ เช่น สารเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium Chloride)
หากเยื่อบุกระจกตาต้องสัมผัสกับสารนี้เป็นเวลานานอาจทำให้เซลล์เยื่อบุกระจกตาถูกทำลายได้ หรือควรเลือกน้ำตาเทียมที่เหมาะสำหรับใช้กับคอนแทคเลนส์ คือเลือกใช้น้ำตาเทียมแบบกระเปาะที่ใช้ได้ภายใน 1 วัน หรือเลือกใช้น้ำตาเทียมชนิดที่ไม่ใส่สารกันเสีย หรือใส่สารกันเสียที่มีผลเสียกับเยื่อบุกระจกตาน้อย
นอกจากนี้ การใช้น้ำตาเทียมมีข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้
- ควรระมัดระวังไม่ให้ปลายหลอดน้ำตาเทียมสัมผัสกับดวงตา ผิวหน้า หรือส่วนใดของร่างกาย เพราะอาจทำให้ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจนทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้
- ควรเก็บน้ำตาเทียมไว้ที่อุณหภูมิห้อง ประมาณ 15–30 องศาเซลเซียส และห้ามแช่แข็ง
- น้ำตาเทียมทุกชนิด เมื่อหมดอายุแล้วควรทิ้งส่วนที่เหลือทันทีและห้ามนำมาใช้
วิธีใช้น้ำตาเทียม
การใช้น้ำตาเทียมควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และควรใช้ตามคำแนะนำบนฉลากอย่างรอบคอบ ที่สำคัญ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้เป็นเวลานานเกินกว่าที่ได้แนะนำเอาไว้ หากใช้น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ไม่ควรใช้บ่อยกว่า 6 ครั้งต่อวัน วิธีใช้น้ำตาเทียมอย่างถูกต้อง มีดังนี้
- ล้างมือให้สะอาด
- เงยหน้าให้อยู่ในตำแหน่งที่ถนัด จากนั้นค่อย ๆ ดึงเปลือกตาล่างลงมาเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับหยอดน้ำตาเทียม
- กะตำแหน่งให้ปลายขวดน้ำตาเทียมห่างจากดวงตาพอประมาณ จากนั้นค่อย ๆ หยดลงไป ใช้ปริมาณตามที่แพทย์ได้แนะนำไว้ โดยทั่วไปจะใช้ประมาณ 1–2 หยด สำหรับยาขี้ผึ้งให้ถือหลอดยาไว้ที่ตาแล้วค่อย ๆ บีบยาความยาวประมาณประมาณ 6 มิลลิเมตรลงไปในตา ในระหว่างที่หยดให้เหลือบตามองด้านบน
- หลังจากที่หยดน้ำตาเทียมเรียบร้อยแล้ว ให้หลับตาไว้ประมาณ 2–3 นาที ก้มหน้าลงเล็กน้อยโดยที่ไม่หรี่ตาหรือกระพริบตา เพื่อไม่ให้น้ำตาเทียมไหลออกจากตาเร็วเกินไป
- ใช้นิ้วมือค่อย ๆ กดนวดเบา ๆ ที่บริเวณหัวตาประมาณ 1 นาที เพื่อให้ของเหลวในตาสามารถระบายไปยังท่อน้ำตาได้ดี
- เช็ดน้ำตาเทียมส่วนที่ไหลออกด้วยผ้าหรือกระดาษชำระที่สะอาด
- หลังจากหยอดน้ำตาเทียมแล้ว ให้รออย่างน้อย 5–10 นาที แล้วจึงค่อยหยอดยาหยอดตา แต่ผู้ที่ใช้น้ำตาเทียมชนิดขี้ผึ้ง ควรใช้ยาหยอดตาก่อน เพื่อให้ยาหยอดตาเข้าไปในตาได้
ผลข้างเคียงจากการใช้น้ำตาเทียม
โดยทั่วไปแล้ว ผลข้างเคียงจากการใช้น้ำตาเทียมที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- มีอาการแสบหรือระคายเคืองตาเล็กน้อย
- ตาแฉะหรือน้ำตาไหล
- ตาแดงและมีอาการคัน
- มองเห็นได้ไม่ชัด
- รู้สึกขมในคอ
หากมีอาการแสบหรือระคายเคืองตาอย่างรุนแรงหลังจากที่ใช้น้ำตาเทียม มีความผิดปกติในการมองเห็น หรือมีอาการปวดตา ให้หยุดใช้น้ำตาเทียมในทันทีและควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว นอกจากนั้น หากมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ หายใจลำบาก ลมพิษ และมีอาการบวมที่ใบหน้า ลิ้น ริมฝีปาก หรือคอ ควรรีบติดต่อขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนหรือรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
ผลข้างเคียงที่รุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ หากใช้น้ำตาเทียมในปริมาณที่มากเกินกว่าที่แนะนำไว้ รวมทั้งไม่ควรใช้น้ำตาเทียมและยาหยอดตาแทนกัน เนื่องจากน้ำตาเทียมจะช่วยบรรเทาอาการตาแห้งและเคืองตาเท่านั้น และไม่ได้ช่วยรักษาหรือป้องกันโรคตาใด ๆ แต่ยาหยอดตาจะมีส่วนประกอบของตัวยาที่ออกฤทธิ์รักษาอาการของโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดวงตา เช่น ยาต้านฮิสตามีน สเตียรอยด์ และยาปฏิชีวนะ
ดังนั้น ผู้ใช้ควรมีความรอบคอบและมีความระมัดระวังในการใช้ ที่สำคัญควรปฏิบัติตามที่แพทย์ได้แนะนำหรือควรอ่านฉลากให้ละเอียดก่อนการใช้งานทุกครั้ง