น้ำมันรำข้าว เป็นน้ำมันที่สกัดได้จากรำข้าวและเมล็ดข้าว ส่วนใหญ่นิยมใช้ประกอบอาหารเป็นหลัก โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย เป็นต้น ด้วยคุณสมบัติของน้ำมันรำข้าวที่มีจุดเดือดสูงจึงเหมาะกับการประกอบอาหารประเภททอดหรือใช้ความร้อนสูง เนื่องจากไขมันในน้ำมันจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้ง่ายเมื่อผ่านอุณหภูมิสูง เพราะหากใช้น้ำมันจุดเดือดต่ำประกอบอาหารที่ใช้ความร้อนสูงจนเลยจุดเดือดของน้ำมันจะทำให้เกิดสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีการผลิตน้ำมันรำข้าวในรูปแบบของอาหารเสริมหรือใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
น้ำมันรำข้าวมักถูกกล่าวอ้างถึงคุณประโยชน์ต่อโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ป้องกันมะเร็ง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน พัฒนาการทำงานของตับ ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ อาการแพ้ของผิวหนัง ผื่นผิวหนังอักเสบ และอื่น ๆ ซึ่งการค้นคว้าในปัจจุบันค่อนข้างจำกัด แต่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่รศึกษาประโยชน์ของน้ำมันรำข้าวต่อสุขภาพไว้บางส่วน ดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของน้ำมันรำข้าวที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค
ภาวะคอเลสเตอรอลสูง น้ำมันรำข้าวมักได้รับการกล่าวถึงเกี่ยวกับคุณสมบัติในการลดไขมันในเลือด เนื่องจากมีสารสำคัญหลายตัว เช่น แกมมา โอไรซานอล (Gamma Oryzanol) เบต้า-ซิโตสเตอรอล (Beta-Sitosterol) โทโคไตรอีนอล (Tocotrienols) ซึ่งอาจมีส่วนสำคัญในกระบวนการสลายไขมันและยับยั้งเอ็นไซม์ HMG-CoA Reductase โดยเป็นตัวช่วยในเรื่องการสังเคราะห์ไขมันในร่างกาย
จากการศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันรำข้าวสูตรผสม (น้ำมันรำข้าวผสมกับน้ำมันเมล็ดคำฝอยในอัตราส่วน 70: 30) ต่อการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูง จำนวน 80 คน เป็นเวลา 3 เดือน โดยผู้ป่วยกลุ่มทดลองได้รับน้ำมันรำข้าวผสมในปริมาณ 1 ลิตรต่อคนต่อเดือน ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น เพิ่มการออกกำลังกายและมีผู้ให้คำปรึกษาด้านอาหาร ในขณะที่อีกกลุ่มควบคุมได้รับน้ำมันชนิดอื่น ผลปรากฏว่า กลุ่มทดลองมีระดับไขมันในเลือดชนิดไม่ดีและระดับไขมันรวมลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุม ซึ่งชี้ให้เห็นว่า น้ำมันรำข้าวสูตรผสมและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันช่วยลดระดับไขมันในเลือดลง และอาจช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุลอื่น
เช่นเดียวกับการศึกษาผลของน้ำมันรำข้าวต่อระดับไขมันในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี จำนวน 9 คน อายุระหว่าง 42-57 ปี โดยได้รับน้ำมันรำข้าวปริมาณ 75 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 50 วัน จากนั้นเปรียบเทียบผลการตรวจเลือดก่อนและหลังการทดลองจบลง ผลพบว่า ระดับไขมันชนิดไม่ดี ไขมันรวม ไขมันชนิดวีแอลดีแอล (VLDL) และไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงเชื่อว่าน้ำมันรำข้าวมีส่วนช่วยในการลดไขมันอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับอีกการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันรำข้าวในอาหารต่อระดับไขมันในเลือดของผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจำนวน 14 คน โดยให้รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำมันรำข้าวผสมกับน้ำมันชนิดอื่น (น้ำมันรำข้าวคิดเป็น 1 ส่วน 3 ของไขมันในอาหาร) ต่อมาจึงได้รับน้ำมันผสมที่มีองค์ประกอบของกรดไขมันคล้ายกับของน้ำมันรำข้าว โดยศึกษาเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 10 สัปดาห์ ปรากฏว่า ขณะที่รับประทานน้ำมันรำข้าวมีระดับไขมันรวมและไขมันชนิดไม่ดีในเลือดลดลงกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการรับประทานน้ำมันอีกชนิด แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันชนิดดี น้ำมันรำข้าวจึงอาจช่วยลดระดับไขมันในเลือดของคนที่มีสุขภาพดีได้
จากข้อมูลตามข้างต้นชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าน้ำมันรำข้าวอาจมีส่วนช่วยลดระดับไขมันชนิดไม่ดีและระดับไขมันรวมในเลือดลง แต่ยังไม่สามารถสรุปว่าช่วยลดไขมันชนิดอื่นได้แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ควรมีการควบคุมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง น้ำมันรำข้าวมีส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น กลุ่มโทโคฟีรอล (Tocopherols/Tocotrienols) และแกมมา โอไรซานอล ซึ่งช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื่นและมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ จึงมักใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นยาทาผิวหนังภายนอก เป็นส่วนผสมของครีมกันแดด ผลิตภัณฑ์ลดริ้วรอย รวมไปถึงใช้รักษาโรคทางผิวหนัง ผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนัง มีผิวอ่อนแอและสูญเสียน้ำได้ง่าย จึงอาจได้รับประโยชน์จากการรักษา
จากการศึกษาประสิทธิภาพของน้ำมันรำข้าวต่อการรักษาโรคทางผิวหนังในอาสาสมัครที่มีสภาพผิวปกติ จำนวน 17 คน และเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จำนวน 5 คน และผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่ไม่มีผื่นที่แขน จำนวน 4 คน เพื่อทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์ อาการระคายเคือง และช่วยคงความชุ่มชื้นของผิว โดยก่อนเริ่มการทดลอง 2 ชั่วโมง จะมีการทำความสะอาดผิวหนังด้วยสบู่อ่อน ๆ ก่อนทาผลิตภัณฑ์สูตรเฉพาะที่มีส่วนผสมของน้ำมันรำข้าว 10% และส่วนผสมอื่นบริเวณต้นแขนและถูเป็นวงกลมประมาณ 20 วินาที จากนั้นจึงปล่อยทิ้งและวัดผลทุก 30 นาที 60 นาที 90 นาที 120 นาที และ 150 นาที ผลพบว่า ผลิตภัณฑ์ทาผิวที่มีส่วนผสมจากน้ำมันรำข้าว 10% มีความคงตัวได้ดีและก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่ำ เมื่อนำไปทาที่ผิวหนังยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวและรักษาค่าพีเอชของผิวตามปกติ (pH) ซึ่งการทดลองนี้ชี้ว่า น้ำมันรำข้าวอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคทางผิวหนังอย่างโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคสะเก็ดเงิน
โรคเบาหวาน น้ำมันรำข้าวมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 ให้ดีขึ้น จึงมีแนวคิดในการนำมาใช้เพื่อรักษาโรคเบาหวาน จากงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันรำข้าวผสมกับน้ำมันงาต่อภาวะน้ำตาลสูงในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 300 คนและคนที่ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ จำนวน 100 คน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติได้รับน้ำมันสูตรผสม กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับน้ำมันสูตรผสมเช่นเดียวกัน กลุ่มที่ 3 เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับยาไกลเบนคลาไมด์ ขนาด 5 มิลลิกรัมต่อวัน และกลุ่มที่ 4 ผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับยาไกลเบนคลาไมด์ ขนาด 5 มิลลิกรัมต่อวันควบคู่กับน้ำมันสูตรผสม ซึ่งกลุ่มที่ได้รับน้ำมันสูตรผสมจะได้รับการแนะนำให้ใช้เป็นน้ำมันทำอาหาร จากนั้นจึงวัดผลระดับน้ำตาลในสัปดาห์ที่ 4 และ 8 ผลพบว่า กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับน้ำมันสูตรผสม ได้รับยาไกลเบนคลาไมด์ หรือได้รับน้ำมันสูตรผสมควบคู่กับยาไกลเบนคลาไมด์มีระดับน้ำตาลในเลือดลงอย่างมีนัยสำคัญ ข้อสรุปของการศึกษานี้ชี้ว่า น้ำมันสูตรผสมระหว่างน้ำมันรำข้าวผสมกับน้ำมันงาเป็นน้ำมันทำอาหารสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสูงของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2
อย่างไรก็ตาม การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งกลับได้ผลลัพธ์ตรงข้าม ในการทดลองได้ให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 35 คน รับประทานน้ำมันรำข้าวสูตรผสมในนมดัดแปลง 250 มิลลิลิตร (ประกอบด้วยน้ำมันรำข้าว 18 กรัม) เปรียบเทียบกับยาหลอก 250 มิลลิลิตร (เป็นน้ำมันจากถั่วเหลืองผสมในนมดัดแปลง ประกอบด้วยน้ำมันถั่วเหลือง 18 กรัม) เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ และวัดผลเปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลอง ปรากฏว่า กลุ่มที่รับประทานน้ำมันรำข้าวสูตรดัดแปลงมีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารและหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก จึงมีแนวโน้มว่าน้ำมันรำข้าวอาจไม่ส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตและเพิ่มกลุ่มการทดลองให้มากขึ้น เพื่อช่วยยืนยันผล
โรคความดันโลหิตสูง น้ำมันรำข้าวเป็นน้ำมันอีกชนิดที่นิยมนำมาใช้รับประทานและประกอบอาหาร เพราะอุดมไปด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวและสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เป็นผลเกี่ยวข้องมาจากการรับประทานอาหาร
จากการศึกษาผลการใช้น้ำมันสูตรผสมจากน้ำมันรำข้าวที่มีสารแกมมา โอรีซานอล (Y-Oryzanol ) 80% และน้ำมันงาสกัดเย็นที่มีสารลิกแนน (Lignans) 20% เป็นน้ำมันปรุงอาหารในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ไม่รุนแรง จำนวน 300 คน เป็นระยะเวลา 60 วัน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตใช้น้ำมันสูตรผสมจากน้ำมันรำข้าวเป็นน้ำมันปรุงอาหารเพียงอย่างเดียว กลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตที่รักษาด้วยยาไนเฟดิปีน (Nifedipine) 20 มิลลิกรัมต่อวัน กลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ใช้น้ำมันสูตรผสมจากน้ำมันรำข้าวเป็นน้ำมันปรุงอาหารควบคู่กับยาไนเฟดิปีน 20 มิลลิกรัมต่อวัน และเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่มีความดันโลหิตปกติ จำนวน 100 คน ซึ่งมีการวัดความดันโลหิตก่อนเริ่มการทดลอง วันที่ 15 วันที่ 30 วันที่ 45 วันที่ 60 ผลพบว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้น้ำมันสูตรผสมจากน้ำมันรำข้าวเป็นน้ำมันปรุงอาหารควบคู่กับการใช้ยาไนเฟดิปีนมีความดันโลหิตลดลงมากที่สุด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการใช้น้ำมันรำข้าวเป็นน้ำมันปรุงอาหารอาจช่วยลดความดันโลหิตลงและอาจช่วยเสริมฤทธิ์ยารักษาโรคความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคนี้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังจำกัดเฉพาะในคนกลุ่มหนึ่ง ผลการทดลองยังไม่อาจยืนยันประสิทธิภาพของน้ำมันรำข้าวในการลดความดันโลหิตได้อย่างแน่ชัด ยังคงต้องศึกษาเพิ่มมากขึ้น
เพิ่มกล้ามเนื้อ มีการกล่าวอ้างถึงสารแกมมา โอไรซานอลในน้ำมันรำข้าวว่ามีสรรพคุณช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับนักเพาะกายและนักกีฬา ทำให้เชื่อกันว่าการรับประทานน้ำมันรำข้าวน่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อของร่างกาย
จากการศึกษาประสิทธิภาพและคุณค่าทางโภชนาการของสารแกมมา โอไรซานอลจากอาหารเสริมในผู้ชายสุขภาพดี จำนวน 30 คน กลุ่มแรกได้รับประทานอาหารเสริมที่มีสารแกมมา โอไรซานอล 600 มิลลิกรัม และอีกกลุ่มได้รับประทานยาหลอก เพื่อเปรียบเทียบผลในช่วง 9 สัปดาห์ โดยทั้ง 2 กลุ่มรับประทานอาหารเสริมหรือยาหลอกหลังการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องวันละ 1 ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 4 วันต่อสัปดาห์ ผลพบว่า สารแกมมา โอไรซานอลอาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แต่ทั้ง 2 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในด้านอื่น ๆ จากการศึกษาจึงชี้ให้เห็นว่าสารแกมมา โอไรซานอลไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาในกลุ่มทดลองอื่นและมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น นักกีฬาที่มีการฝึกซ้อมเป็นประจำ นักกีฬาผู้หญิง ผู้ป่วยที่มีอาการล้าของกล้ามเนื้อ เพื่อหาหลักฐานที่เพียงพอต่อการสรุปผลมากขึ้น
ความปลอดภัยของน้ำมันรำข้าว
- น้ำมันรำข้าวหรือสารสกัดจากน้ำมันรำข้าวอาจส่งผลข้างเคียงเล็กน้อยในบางราย แต่โดยทั่วไปค่อนข้างปลอดภัยในการรับประทานหรือใช้ทาที่ผิวหนังเมื่อใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม
- หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำมันรำข้าวในปริมาณมาก เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย
- สารแกมมา โอไรซานอลอาจส่งผลให้การทำงานของไทรอยด์ลดต่ำลง ผู้ที่มีโรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) หรือมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์อื่น ๆ ไม่ควรรับประทานน้ำมันรำข้าว โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน
- ผู้ป่วยโรคไตหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำมันรำข้าว เนื่องจากกรดไฟติก (Phytic Acid) ในเมล็ดข้าวอาจส่งผลให้การทำงานของไตแย่ลง