น้ำส้ม ถือเป็นน้ำผลไม้ชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างได้รับความนิยม เนื่องจากเครื่องดื่มชนิดนี้มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวและกลิ่นสดชื่นที่เป็นเอกลักษณ์ แถมยังอุดมไปด้วยสารอาหารดี ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี โพแทสเซียม สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และสารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพืชตระกูลซิตรัส (Citrus) อย่างเฮสเพอริดิน (Hesperidin)
ส้มเป็นพืชในตระกูลซิตรัสและสามารถแบ่งได้เป็นหลายสายพันธุ์ เช่น สายน้ำผึ้ง แมนดาริน เขียวหวาน นาเวล ยูสุ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีรสชาติที่แตกต่างกันเล็กน้อย โดยจุดเด่นอย่างหนึ่งของส้มที่หลายคนอาจยังไม่ทราบก็คือ พืชตระกูลนี้เป็นแหล่งสำคัญของสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า เฮสเพอริดิน ซึ่งแม้จะเป็นสารที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่จากการศึกษาพบว่าเฮสเพอริดินมีประโยชน์อยู่หลายอย่าง เช่น อาจมีส่วนช่วยต้านการอักเสบ รวมทั้งอาจช่วยต้านอนุมูลอิสระได้
ด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพและรสชาติที่อร่อยถูกใจผู้รับประทาน นอกจากการรับประทานผลส้มสดแล้ว ในปัจจุบันส้มยังมักถูกนำไปประกอบอาหารหรือนำไปแปรรูปเป็นเมนูต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะการนำไปคั้นเป็นน้ำส้ม ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่พบได้บ่อยและหาดื่มได้ง่าย
ประโยชน์ที่มากกว่าความอร่อยของน้ำส้ม
นอกจากกลิ่นและรสชาติหวานอมเปรี้ยวที่ช่วยเพิ่มความสดชื่นแล้ว การดื่มน้ำส้มยังเป็นการช่วยเติมสารอาหารดี ๆ หลากชนิดให้กับร่างกายอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสารเด่น ๆ ของพืชตระกูลนี้ อย่างวิตามินซี และเฮสเพอริดินที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ หรือว่าจะเป็นกลุ่มแร่ธาตุ อย่างโพแทสเซียม โฟเลท และแมกนีเซียม ที่จำเป็นต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย
โดยประโยชน์เด่น ๆ ทางด้านสุขภาพที่อาจได้จากการดื่มน้ำส้มที่มีสารอาหารดี ๆ เช่น เฮสเพอริดิน ก็เช่น
อาจช่วยลดความดันโลหิตได้
ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจตามมาได้ การควบคุมความดันโลหิตของร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งก็สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
โดยการดื่มน้ำส้มก็เป็นอีกทางหนึ่งที่อาจมีส่วนช่วยในการควบคุมความดันโลหิตด้วยเช่นกัน เนื่องจากส้มเป็นหนึ่งในผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารเฮสเพอริดิน ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีหน้าที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดการอักเสบของร่างกาย อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของเฮสเพอริดินในด้านการควบคุมความดันโลหิตอีกด้วย
โดยในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวใช้วิธีศึกษาด้วยการให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ อย่างผู้ที่เริ่มมีอาการของภาวะความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูงในระยะที่อาการยังไม่รุนแรง ลองดื่มน้ำส้มที่มีสารเฮสเพอริดินเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งพบว่า ค่าความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวหรือค่าความดันตัวบนของผู้เข้าทดลองลดลง รวมถึงยังพบว่าความตึงตัวของหลอดเลือดเกิดการคลายตัวลงอีกด้วย
และยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ได้ทดลองเปรียบเทียบระหว่างผู้เข้าทดลอง 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ดื่มน้ำส้ม กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ดื่มน้ำที่มีการเสริมสารเฮสเพอริดินเข้าไป และกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่ดื่มน้ำที่ไม่มีเฮสเพอริดิน โดยระยะเวลาการทดลองจะอยู่ที่ประมาณ 4 สัปดาห์
เมื่อสิ้นสุดการทดลองพบว่า กลุ่มที่ดื่มน้ำส้มและกลุ่มที่ดื่มน้ำที่มีสารเฮสเพอริดินมีแนวโน้มที่ค่าความดันขณะหัวใจคลายตัวหรือค่าความดันตัวล่างลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่ได้รับเครื่องดื่มที่ไม่มีสารเฮสเพอริดิน
อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้
นอกจากภาวะความดันโลหิตสูงแล้ว การมีระดับคอเลสเตอรอลสูงก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้เช่นกัน
โดยประโยชน์ในด้านนี้ มีงานวิจัยที่ได้เปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ดื่มน้ำส้มเป็นประจำติดต่อกันนานกว่า 1 ปี กับผู้ที่ไม่ได้ดื่มน้ำส้มแล้วพบว่า กลุ่มผู้ที่ดื่มน้ำส้มเป็นประจำมีแนวโน้มที่จะมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดต่ำกว่า
และอีกงานวิจัยที่ทดลองเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของกลุ่มผู้เข้าทดลองระหว่างก่อนและหลังดื่มน้ำส้มติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ซึ่งพบว่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการทดลอง ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของกลุ่มผู้เข้าทดลอง ทั้งระดับคอเลสเตอรอลโดยรวม และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low–Density Lipoprotein: LDL) มีแนวโน้มลดลง
หรือจะเป็นอีกงานวิจัยที่แม้จะไม่ได้ทดลองกับน้ำส้มโดยตรง แต่ก็เป็นงานวิจัยที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสารเฮสเพอริดิน ซึ่งเป็นสารที่พบได้มากในพืชตระกูลส้ม ในด้านการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
ในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่ทดลองในกลุ่มผู้ที่มีประวัติเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) มาก่อน โดยผู้วิจัยได้แบ่งกลุ่มผู้เข้าทดลองเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่จะได้รับประทานเฮสเพอริดินในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ส่วนอีกกลุ่มจะได้รับประทานยาหลอก (Placebo) โดยระยะเวลาการทดลองจะอยู่ที่ประมาณ 4 สัปดาห์
เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ที่รับประทานเฮสเพอรินดินมีแนวโน้มที่จะมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีในเลือดที่เพิ่มขึ้น (High–Density Lipoprotein Cholesterol: HDL) ซึ่งคอเลสเตอรอลชนิดนี้เป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้
เสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
การมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ของร่างกาย ที่อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยได้ โดยหนึ่งในวิธีที่อาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงได้ก็คือการดื่มน้ำส้ม เนื่องจากในน้ำส้มมีสารอาหารสำคัญที่อาจมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ระบบภูมิคุ้มกันได้ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี หรือสารเฮสเพอริดิน
สำหรับวิตามินซี ผลลัพธ์จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า แม้การรับประทานวิตามินซีจะอาจไม่สามารถป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อโรคได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ที่รับประทานวิตามินซีเป็นประจำส่วนใหญ่มักพบว่า อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายเป็นไข้หวัดมีความรุนแรงที่ลดลง รวมถึงร่างกายฟื้นตัวจากไข้หวัดได้ไวขึ้น
ส่วนสารเฮสเพอริดิน สารชนิดนี้อาจมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้จากการช่วยควบคุมการอักเสบของร่างกาย และส่งเสริมระบบการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวในด้านการป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคต่าง ๆ ได้
ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง (Noncommunicable diseases: NCDs)
หนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หรือโรคมะเร็ง คือการที่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายถูกอนุมูลอิสระ (Free Radicals) ทำร้าย ดังนั้น การที่ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหล่านี้ได้
โดยส้มเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีสารในกลุ่มสารต้านอนูมูลอิสระอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) หรือสารที่ได้พูดถึงไปในประโยชน์ด้านอื่นบ้างแล้ว อย่างวิตามินซี เฮสเพอริดิน และสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ การกินส้มหรือดื่มน้ำส้มจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังบางชนิดได้นั่นเอง
เคล็ดลับในการเลือกซื้อน้ำส้ม เลือกอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ
เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากการดื่มน้ำส้มอย่างเต็มที่ ผู้ที่ต้องการดื่มน้ำส้มอาจจะซื้อส้มเป็นผลมาคั้นเองเพื่อความสดใหม่ของผลไม้ หรืออาจเลือกรับประทานส้มทั้งผลแทน เนื่องจากการรับประทานส้มทั้งผลจะช่วยให้ร่างกายได้รับใยอาหารที่มากกว่า
ทั้งนี้ ผู้ที่เลือกซื้อส้มเองควรเลือกซื้อเฉพาะส้มที่สะอาดจากแหล่งที่น่าเชื่อเท่านั้น และควรล้างส้มให้สะอาดก่อนนำมารับประทานเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่ไม่สะดวกซื้อส้มมาคั้นเอง หรืออาจจะต้องการความสะดวก การซื้อผลิตภัณฑ์น้ำส้มพร้อมดื่มก็ถือเป็นตัวเลือกที่ใช้ได้เช่นกัน แต่ก่อนเลือกซื้ออาจจะลองนำเทคนิคต่อไปนี้ไปปรับใช้ เพื่อความปลอดภัยและช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากการดื่มน้ำส้มอย่างเต็มที่
- เลือกซื้อน้ำส้มพร้อมดื่มจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือและผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้ามีคุณภาพและปลอดภัยต่อร่างกาย
- เลือกซื้อน้ำส้มที่มีเนื้อส้มผสม เนื่องจากส้มในรูปแบบน้ำส้มคั้นมักมีใยอาหารที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการรับประทานส้มแบบเต็มผล การเลือกซื้อน้ำส้มที่มีเนื้อส้มผสมอยู่จึงเป็นตัวเลือกที่จะช่วยเพิ่มปริมาณใยอาหารได้
- เลือกผลิตภัณฑ์น้ำส้มแท้ 100% ที่ไม่เพิ่มปริมาณน้ำตาลเข้าไป เนื่องจากการที่ร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไป อาจส่งผลให้ร่างกายมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานได้
- เลือกผลิตภัณฑ์น้ำส้มแท้ 100 % ที่มีเฮสเพอริดิน เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายจะได้รับประโยชน์จากการดื่มน้ำส้มอย่างเต็มที่
สำหรับปริมาณการดื่ม ผู้ที่สุขภาพแข็งแรงดีอาจดื่มน้ำส้มวันละ 240 มิลลิลิตรหรือประมาณ 1 แก้ว เนื่องจากแม้น้ำส้มจะเป็นเครื่องดื่มจากผลไม้ แต่การดื่มน้ำส้มที่มากเกินไปก็อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานที่มากเกินไปได้เหมือนกัน ส่วนน้ำส้มที่ดื่มไม่หมด ควรเก็บในตู้เย็นและควรดื่มให้หมดภายในระยะเวลาที่ฉลากผลิตภัณฑ์กำหนด
ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องควบคุมปริมาณการรับประทานน้ำตาล หรือผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการฟอกเลือดที่ต้องควบคุมปริมาณการรับประทานโพแทสเซียม ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนว่า ปริมาณที่สามารถดื่มได้ควรจะเป็นประมาณเท่าไร เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
สุดท้ายนี้ แม้การดื่มน้ำส้มจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่การดูแลตัวเองในด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สุขภาพร่างกายของเราแข็งแรงได้ในระยะยาวเช่นกัน
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด: 15 พฤศจิกายน 2566
ตรวจสอบความถูกต้องโดย: กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD
เอกสารอ้างอิง
- Valls, et al. (2021). Effects of hesperidin in orange juice on blood and pulse pressures in mildly hypertensive individuals: a randomized controlled trial (Citrus study). European journal of nutrition, 60 (3), pp. 1277–1288.
- Miles, E.A., & Calder, P.C. (2021). Effects of Citrus Fruit Juices and Their Bioactive Components on Inflammation and Immunity: A Narrative Review. Frontiers in immunology, 12, 712608.
- Dourado, G. K., & Cesar, T. B. (2015). Investigation of cytokines, oxidative stress, metabolic, and inflammatory biomarkers after orange juice consumption by normal and overweight subjects. Food & nutrition research, 59, 28147.
- Giannini, et al. (2015). Flavonoids mixture (diosmin, troxerutin, hesperidin) in the treatment of acute hemorrhoidal disease: a prospective, randomized, triple-blind, controlled trial. Techniques in coloproctology, 19 (6), pp. 339–345.
- Haidari, et al. (2015). Hesperidin supplementation modulates inflammatory responses following myocardial infarction. Journal of the American College of Nutrition, 34 (3), pp. 205–211.
- Hemilä, H. & Chalker, E. (2013). Vitamin C for preventing and treating the common cold. The Cochrane database of systematic reviews, 2013 (1), CD000980.
- Aptekmann, N. P., & Cesar, T. B. (2013). Long-term orange juice consumption is associated with low LDL-cholesterol and apolipoprotein B in normal and moderately hypercholesterolemic subjects. Lipids in health and disease, 12, pp. 119.
- Morand, et al. (2011). Hesperidin contributes to the vascular protective effects of orange juice: a randomized crossover study in healthy volunteers. The American journal of clinical nutrition, 93 (1), pp. 73–80.
- Mayo Clinic (2022). Kidney stones.
- Cleveland Clinic (2021). Kidney Stones.
- DeSoto, L. Health (2023). Health Benefits of Orange Juice.
- Ajmera, R. Healthline (2023). 5 Surprising Health Benefits of Orange Juice.
- McCulloch, M. Healthline (2023). Is Orange Juice Good or Bad for You?
- MedicineNet (2022). What Are the Health Benefits of Drinking Orange Juice and Can You Drink It Every Day?
- Tran, T. Verywell Health (2023). What Is Hesperidin?
- WebMD (2022). Are There Health Benefits to Drinking Orange Juice?