น้ำส้มสายชู เครื่องปรุงคู่ครัวกับประโยชน์ต่อสุขภาพ

น้ำส้มสายชูเป็นเครื่องปรุงอาหาร มีส่วนประกอบของวิตามิน เกลือแร่ และกรดอะซิติก เป็นต้น หลายคนจึงเชื่อว่าการบริโภคน้ำส้มสายชูอาจเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ ตลอดจนอาจช่วยรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง และโรคเบาหวานได้

น้ำส้มสายชู

น้ำส้มสายชูผลิตจากอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตหมัก เช่น ไวน์ เบียร์ กากน้ำตาล ข้าวฟ่าง เมล็ดข้าว มันฝรั่ง น้ำผึ้ง องุ่น แอปเปิ้ล และมะพร้าว โดยน้ำตาลที่ได้จากอาหารเหล่านี้จะผ่านกระบวนการแล้วเปลี่ยนแปลงกลายเป็นน้ำส้มสายชู ซึ่งในน้ำส้มสายชูปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะที่ให้พลังงานประมาณ 3 แคลอรี่ มักจะประกอบไปด้วยกรดอะซิติกประมาณ 4-7 เปอร์เซ็นต์ น้ำเปล่า และสารเคมีอื่น ๆ เช่น สารแต่งกลิ่นและรส

การรับประทานน้ำส้มสายชูทำให้ผู้บริโภคอาจได้รับสารอาหารจำพวกวิตามิน เกลือแร่ กรดอะมิโน กรดอินทรีย์ที่ไม่ระเหย และสารประกอบกลุ่มฟีนอล ซึ่งเป็นสารที่อาจมีประโยชน์ต่อร่างกาย บำรุงสุขภาพ และหลายคนเชื่อว่าอาจช่วยรักษาป้องกันโรคบางชนิดได้ด้วย

ความเชื่อและข้อพิสูจน์ถึงคุณประโยชน์ของน้ำส้มสายชู

ลดน้ำหนัก เนื่องจากน้ำส้มสายชูมีส่วนประกอบเป็นกรดอยู่ 4-7 เปอร์เซ็นต์ หลายคนจึงเชื่อว่าความเป็นกรดของน้ำส้มสายชูอาจช่วยเผาผลาญและสลายไขมันในร่างกายได้ ทั้งนี้ มีงานวิจัยบางส่วนได้กล่าวถึงน้ำส้มสายชูว่า อาจช่วยให้รู้สึกหิวน้อยลง และลดค่าดัชนีมวลกายลงได้ เช่น งานวิจัยหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่นที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างน้ำส้มสายชูและการลดน้ำหนัก โดยแบ่งผู้ทดลองกลุ่มน้ำหนักเกินที่มีค่าดัชนีมวลกาย 25-30 กิโลกรัม/เมตร2 ออกเป็น 3 กลุ่ม แล้วให้ผู้ทดลองบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำส้มสายชูปริมาณ 30 และ 15 มิลลิลิตร ในขณะที่ให้กลุ่มทดลองสุดท้ายบริโภคเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำส้มสายชูเลย หลังจากผ่านไป 12 สัปดาห์ เมื่อนำทั้ง 3 กลุ่มมาเปรียบเทียบกัน พบว่ากลุ่มทดลอง 2 กลุ่มที่บริโภคน้ำส้มสายชูมีดัชนีมวลกาย ไขมันช่องท้อง รอบเอว และระดับค่าไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อีกงานวิจัยหนึ่ง ได้ทดลองผสมน้ำส้มสายชูลงไปในเครื่องดื่มและอาหารเช้าของผู้ทดลองที่มีน้ำหนักปกติ ผลการทดลองพบว่า ผู้ที่บริโภคน้ำส้มสายชูมีระดับความรู้สึกหิวกระหายลดลง

แม้การศึกษาบางส่วนแสดงให้เห็นว่าน้ำส้มสายชูอาจมีผลต่อการลดน้ำหนัก แต่งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการค้นคว้าในกลุ่มทดลองขนาดเล็กที่ศึกษาตัวอย่างเฉพาะบางกลุ่ม เช่น ผู้ทดลองชาวญี่ปุ่นที่มีภาวะน้ำหนักเกินไม่มาก ส่วนการทดลองในกลุ่มผู้มีน้ำหนักปกติก็เป็นการทดลองร่วมกับการรับประทานอาหารอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งยังมีรายงานบางชิ้นระบุว่า อัตราความหิวที่ลดลงจากการทดลองอาจเกิดร่วมกับอัตราความคลื่นไส้ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น จึงยังไม่สามารถยืนยันประสิทธิภาพของน้ำส้มสายชูได้อย่างชัดเจน ซึ่งควรศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป เพื่อนำประสิทธิผลที่ได้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

รักษาโรคเบาหวาน ในน้ำส้มสายชูมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์หลายชนิด จึงมีความเชื่อว่าการบริโภคน้ำส้มสายชูอาจช่วยรักษาโรคเบาหวานได้ แต่ในความเป็นจริง น้ำส้มสายชูอาจทำได้เพียงกระตุ้นการทำงานของอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน และไม่สามารถนำมารักษาโรคเบาหวานได้โดยตรง

จากงานวิจัยหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยเบาหวานบริโภคอาหารตามแผนที่กำหนดพร้อมกับบริโภคน้ำส้มสายชูกลั่นจากแอปเปิ้ล 2 ช้อนโต๊ะ กับชีสปริมาณ 28 กรัม ก่อนนอน เป็นเวลา 2 วัน พบว่าหลังการทดลอง ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานที่บริโภคน้ำส้มสายชูลดลงถึง 6 เปอร์เซ็นต์

เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยหนึ่ง ซึ่งพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร ระดับอินซูลินในเลือด และระดับไขมันไตกลีเซอร์ไรด์ในผู้ป่วยเบาหวานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มทดลองที่บริโภคและไม่ได้บริโภคน้ำส้มสายชู

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในกลุ่มทดลองขนาดเล็กเท่านั้น ควรค้นคว้าหาข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิผลของน้ำส้มสายชูในการรักษาโรคเบาหวานต่อไปในอนาคต

ต้านมะเร็ง มะเร็งเป็นโรคร้ายที่หลายคนมองหาวิธีป้องกัน บางคนเชื่อว่าการเลือกบริโภคน้ำส้มสายชูอาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ ทั้งนี้ มีผลวิจัยจากห้องทดลองที่เผยว่า น้ำส้มสายชูจากอ้อยอาจช่วยเร่งการตายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และน้ำส้มสายชูจากข้าวญี่ปุ่นอาจช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยจำนวนน้อยที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติในการต้านมะเร็งของน้ำส้มสายชู และเป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น นับว่ายังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจนเพียงพอ ดังนั้น ต้องศึกษาข้อมูลจากงานค้นคว้าอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกมากมาย จึงควรมีงานวิจัยถึงประสิทธิผลของน้ำส้มสายชูในการต้านมะเร็งต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัดยิ่งขึ้น

บรรเทาอาการจากพิษแมงกะพรุน หากโดนพิษแมงกะพรุนเมื่อไปทะเลแล้วปรากฏอาการแสบร้อน น้ำส้มสายชูอาจมีสรรพคุณยับยั้งการหลั่งพิษที่เหลืออยู่จากเข็มพิษแมงกะพรุนบางชนิดได้ เช่น แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส แมงกะพรุนกล่อง โดยใช้น้ำส้มสายชูราดลงบนบริเวณที่ถูกพิษ แต่ไม่สามารถบรรเทาพิษแมงกะพรุนได้ทุกชนิดเสมอไป เพราะพิษจากแมงกะพรุนบางชนิดอาจต้องใช้วิธีการล้างด้วยน้ำทะเล น้ำร้อน หรืออาจใช้การประคบน้ำแข็ง ควรหลีกเลี่ยงการล้างด้วยน้ำเปล่า เพราะอาจทำให้พิษกระจายไปตามผิวหนังบริเวณนั้นได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาที่ช่วยยืนยันอย่างชัดเจนว่า การใช้น้ำส้มสายชูจะมีประสิทธิภาพบรรเทาพิษจากแมงกะพรุนดีไปกว่าวิธีการอื่น  

การบริโภคน้ำส้มสายชูอย่างเหมาะสม

น้ำส้มสายชูมีสารอาหารบางส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ผู้บริโภคควรเลือกผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูอย่างระมัดระวัง และบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อสุขภาพซึ่งแม้จะเกิดได้ไม่บ่อยนักก็ตาม เช่น การบาดเจ็บบริเวณคอหอย หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร เป็นต้น

ในส่วนของประเทศไทย การผลิตน้ำส้มสายชูได้รับการควบคุมมาตรฐานและกำหนดปริมาณสารประกอบต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูอย่างระมัดระวังเช่นกัน โดยสำนักคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณะสุขไทย ได้แนะนำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อน้ำส้มสายชูโดยดูจากองค์ประกอบ ดังนี้ 

  • ฉลาก ฉลากของน้ำส้มสายชูต้องเป็นภาษาไทย หรืออาจมีภาษาต่างประเทศปนได้ แต่ข้อความบนฉลากจะต้องแสดงรายลเอียดให้ครบถ้วนถึงชื่ออาหาร ปริมาณเป็นเปอร์เซ็นต์ของกรดอะซิติก เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาตรสุทธิ รวมถึงวันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุของผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน
  • เครื่องหมายรับรอง มอก. ควรมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม
  • ปริมาณกรดอะซิติก น้ำส้มสายชูไม่ควรมีกรดอะซิติกต่ำกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องไม่เกิน 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสังเกตได้จากฉลากผลิตภัณฑ์
  • สภาพของผลิตภัณฑ์ ควรมีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่เจือสี แต่อาจแต่งสีได้จากน้ำตาลเคี่ยวไหม้ ไม่มีสิ่งเจือปน ไม่มีตะกอน หรืออาจมีตะกอนบ้างตามธรรมชาติหากเป็นน้ำส้มสายชูหมัก