บอกลาเส้นเลือดขอด ปัญหาหนักใจที่รักษาได้

เส้นเลือดขอดเป็นปัญหาที่น่าหนักใจสำหรับใครหลายคน โดยเกิดจากการที่หลอดเลือดดำขยายตัวโป่งพองและขดไปมา เนื่องจากหลอดเลือดบริเวณขามีแรงดันมากกว่าปกติจากการนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน จึงเกิดเส้นเลือดสีฟ้าหรือม่วงนูนขึ้นตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณต้นขาและน่อง 

เส้นเลือดขอดอาจไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันนอกจากทำให้ผู้ที่เป็นรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ หลายคนจึงไม่ได้เข้ารับการรักษา แต่บางรายที่มีอาการปวด แสบร้อน หรือคันบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด และไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอย่างลิ่มเลือดอุดดันและมีเลือดออกในภายหลัง

Varicose Veins

เส้นเลือดขอดมีสาเหตุและอาการอย่างไร

หลอดเลือดดำมีหน้าที่นำเลือดกลับสู่หัวใจ ซึ่งภายในหลอดเลือดดำจะมีลิ้น (Valve) เปิดและปิดเพื่อให้เลือดไหลไปสู่หัวใจในทิศทางเดียว หากลิ้นปิดไม่สนิทอาจทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปสะสมคั่งในหลอดเลือดที่ผิวหนังชั้นตื้นและทำให้เกิดเส้นเลือดขอดขึ้น ซึ่งพบได้บ่อยที่บริเวณขา โดยอาจเกิดในลักษณะเหมือนใยแมงมุมขนาดเล็ก (Spider Veins) มักมีสีแดงและสีฟ้า หรือมีลักษณะเป็นเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ที่โป่งนูนและขดไปมา ซึ่งมีสีฟ้าหรือม่วงเข้ม

ทั้งนี้ บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวด แสบร้อน คัน หรือหนักขา เท้าและข้อเท้าบวม ผิวหนังบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดเปลี่ยนสี เกิดตะคริวโดยเฉพาะช่วงกลางคืน และมักรู้สึกปวดบริเวณขามากขึ้นหลังจากการนั่งและยืนเป็นเวลานาน

เส้นเลือดขอดมักพบในผู้ที่มีปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • ภาวะแรงดันของหลอดเลือดมากขึ้นบริเวณขาจากการตั้งครรภ์ โรคอ้วน และการนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน
  • อายุที่มากขึ้น
  • เพศ โดยผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นเส้นเลือดขอดมากกว่าผู้ชาย
  • โรคประจำตัวบางอย่าง อย่างท้องผูกเรื้อรัง และเนื้องอก ซึ่งพบได้น้อยมาก
  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นเส้นเลือดขอด
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ทำให้ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายในแต่ละวัน 

รักษาเส้นเลือดขอดได้อย่างไร

ผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอดส่วนมากมักไม่มีอาการปวดและอาการอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา และผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอดขณะตั้งครรภ์สามารถหายดีได้เองภายใน 3–12 เดือนหลังคลอด จึงสามารถดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเส้นเลือดขอดเพิ่มขึ้น แต่ผู้ที่มีอาการรุนแรงและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

1. การดูแลตนเอง

การปรับพฤติกรรมและดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอด มีดังนี้

  • ยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ โดยอาจทำวันละ 3–4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5–15 นาที และใช้หมอนรองขาขณะนั่งหรือนอน
  • บริหารข้อเท้าและขาบ่อย ๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินหรือว่ายน้ำ เพื่อให้เลือดที่ขาไหลเวียนได้ดี แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมและกีฬาที่รุนแรง
  • ไม่ควรยืนหรือนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ และไม่ควรนั่งไขว้ขา
  • หลีกเลี่ยงการสวมกางเกงหรือกระโปรงที่คับหรือรัดบริเวณขามากเกินไป และไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน
  • ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ โดยควบคุมปริมาณและประเภทของอาหาร และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบวมมากขึ้น
  • ทาครีมบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง หากมีอาการที่ผิวหนังอื่น ๆ อย่าง อาการคันและติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทาผิว เช่น ยาคาลาไมน์ (Calamine) ที่ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองผิว และยาปฏิชีวนะ อย่างยานีโอมัยซิน (Neomycin) 

2. การใส่ถุงน่องสำหรับรักษาเส้นเลือดขอด

หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้สวมใส่ถุงน่องทางการแพทย์สำหรับรักษาเส้นเลือดขอด (Compression Stockings) ไว้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะเวลานั่งทำงานหรือยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยถุงน่องจะช่วยบีบให้เลือดเคลื่อนตัวกลับสู่หัวใจได้ดี จึงช่วยลดอาการบวมและลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขา

3. การรักษาด้วยวิธีอื่น

ผู้ที่ใช้วิธีการดูแลตนเองและใช้ถุงน่องรัดขาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่

  • การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำบริเวณที่ขอด (Sclerotherapy) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการรักษา โดยสามารถรักษาเส้นเลือดขอดขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อให้เส้นเลือดขอดยุบตัว
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ โดยใช้การยิงแสงเลเซอร์ไปที่เส้นเลือดขอด ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด จึงไม่ทำให้เกิดบาดแผลและรักษาได้อย่างรวดเร็ว
  • การใช้เลเซอร์ความร้อน (Endovenous Laser Therapy: EVLT) หรือคลื่นความถี่วิทยุ(Endovenous Radio Frequency: EVRF) ด้วยการสอดสายสวนเข้าไปในหลอดเลือดดำและให้ความร้อนที่ปลายท่อ เพื่อทำให้เส้นเลือดขอดยุบตัว

นอกจากนี้ เส้นเลือดขอดอาจรักษาด้วยการฉีดสารผสมโฟมเข้าหลอดเลือดที่ขอด การผ่าตัดด้วยการเจาะรูขนาดเล็กที่ผิวหนัง และการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง

แม้เส้นเลือดขอดจะไม่มีวิธีป้องกันได้โดยตรง แต่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดได้ด้วยการออกกำลังและเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เน้นรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและโซเดียมต่ำ รวมทั้งควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากมีไข้ร่วมกับอาการปวดและบวมแดงในบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดอย่างฉับพลัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา