เนื่องด้วยสภาพสังคมที่มีการแข่งขันสูงขึ้น หลายคนจึงทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำจนอาจถูกคนที่ใกล้ชิดมองว่าเป็นคนบ้างาน เพราะทำงานอย่างต่อเนื่องแม้ไม่ใช่เวลางาน ไม่ว่าจะเอางานกลับมาทำที่บ้าน ตอบอีเมลหลังเลิกงาน หรือแม้แต่คุยเรื่องงานในวันหยุด
การขยันทำงานจะเป็นเรื่องที่ดี แต่การทำงานหนักจนขอบเขตระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวแคบลงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวชได้โดยไม่รู้ตัว มาดูกันว่าสัญญาณไหนที่บ่งบอกว่าคุณกำลังบ้างานเกินไป และจะรับมือกับอาการบ้างานได้อย่างไร
คุณเป็นคนบ้างานจนเกินปกติหรือไม่
หากอธิบายในแง่ของจิตวิทยา อาการบ้างานมักพบได้ในคนที่มีบุคลิกสมบูรณ์แบบ มีมาตรฐานการทำงานสูง เจ้าระเบียบ ชอบแข่งขัน มีความทะเยอทะยาน ยึดมั่นในหลักเกณฑ์ เอาจริงเอาจัง หรือจิตใจจดจ่อกับการทำงานจนเกิดการแสดงออกทางพฤติกรรมในลักษณะคล้าย ๆ อาการเสพติด คล้ายอาการติดเหล้าหรือติดยา
คงเป็นการยากหากจะบอกว่าใครทำงานหนักจนเข้าขั้นบ้างานมากและเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวช ในเบื้องต้นอาจลองสำรวจตนเองคร่าว ๆ ว่าเข้าข่ายบ้างานหรือไม่ด้วยการตอบคำถามเหล่านี้
- วัน ๆ ทำแต่งานโดยไม่สนใจเรื่องสำคัญเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตตนเองเลยหรือไม่
- ทำงานจนไม่สนใจเรื่องสุขภาพของตนเองหรือไม่
- คนใกล้ชิดหรือคนรอบข้างบ่นว่าคุณทำงานเยอะเกินไปหรือไม่
- ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับครอบครัวและเพื่อนแย่ลง เพราะการทำงานมากเกินไปหรือไม่
- ทำงานหนักมากกว่าเพื่อนร่วมงานของคุณหรือไม่
- เกิดความรู้สึกในแง่ลบเมื่องานไม่เป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่
- นึกถึงแต่เรื่องงานและมีความกระวนกระวายหากไม่ได้ทำงานหรือไม่
บ้างาน พาลป่วยจิตเวชได้จริงหรือ
นอกจากอาจจะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางด้านร่างกายแล้ว การบ้างานยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยทางใจได้เช่นกัน
จากงานวิจัยในวารสารวิชาการ PLOS One ของมหาวิทยาลัยเบอร์เกน (Bergen University) ประเทศนอร์เวย์ ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบ้างานกับโรคทางจิตเวชพบว่า คนที่บ้างานบางส่วนมักมีอาการคล้ายกับโรคสมาธิสั้น ย้ำคิดย้ำทำ ภาวะซึมเศร้า และมีอาการวิตกกังวลมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่บ้างาน
จัดการงานอย่างไรให้เวิร์คกับชีวิต
การทำงานที่ดีไม่จำเป็นต้องโหมงานหนักตลอดทั้งวัน หากรู้ตัวว่าเป็นคนบ้างานเกินไป ควรลองปรับทัศนคติในการทำงาน และเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยให้การทำงานและความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ อยู่ในระดับที่สมดุลกัน
1. จัดลำดับความสำคัญ
การทำงานอย่างชาญฉลาดไม่จำเป็นต้องทำงานหนัก แต่ควรเป็นการทำงานที่ใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดได้คุ้มค่า โดยการลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของงานที่ควรทำในวันนั้น ๆ เพราะการบริหารเวลาที่ดีจะช่วยลดเวลาในการทุ่มแรงไปอย่างเปล่าประโยชน์ และได้งานที่มีประสิทธิภาพ
2. จำกัดขอบเขตการทำงาน
การสร้างนิสัยในการทำงานอย่างเป็นระบบจะช่วยให้การทำงานไม่เบียดเวลาส่วนตัว และมีแรงกระตุ้นในการทำงานที่ดีกว่าการทำงานจุกจิกเล็กน้อยแต่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
นอกจากจะส่งผลกระทบต่อตนเองแล้ว การทำงานหนักหรือการหอบงานกลับไปทำที่บ้านยังส่งผลกระทบในด้านความสัมพันธ์อีกด้วย เมื่อเลิกงานแล้วก็ควรหยุดงานไว้ที่ออฟฟิศและพักผ่อนให้เต็มที่ เพื่อให้ตนเองได้มีแรงและกำลังใจที่จะทำงานในวันต่อ ๆ ไป
3. ปล่อยให้ชีวิตมีอิสระ
การจมอยู่กับงานและติดต่อกับคนรอบข้างแค่เพียงในโลกออนไลน์คงไม่เพียงพอ ลองออกไปกระชับความสัมพันธ์กับคนอื่นในชีวิตจริงให้มากขึ้น การออกไปท่องเที่ยวพบปะผู้คน หรือทำกิจกรรมที่ชอบในวันว่างอาจช่วยให้คุณมีแรงบันดาลใจใหม่ ๆ หรือได้มุมมองที่หลากหลาย อาจทำให้คุณพร้อมรับมือกับการทำงานต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
นอกจากวิธีในข้างต้นแล้ว คนที่บ้างานหรือมีความรู้สึกว่าอยากทำงานอยู่ตลอดเวลาจนรู้สึกว่างานกระทบกับชีวิตส่วนตัวมากเกินไป อาจลองหาเวลาไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจหาสาเหตุที่ถูกต้อง และช่วยวางแผนแนวทางการรับมือที่เหมาะสมให้
การ work hard ไม่ใช่การ work smart เสมอไป ลองปรับมุมมองการใช้ชีวิต และลองเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง คุณอาจทำงานได้มากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งมีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้นอีกด้วย