ประจำเดือนมาน้อยเป็นอาการทั่วไปที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยปกติแล้วระยะเวลาที่เป็นประจำเดือนคือประมาณ 2–7 วัน แต่คนที่ประจำเดือนมาน้อยอาจมีเลือดออกมาแค่ 1–2 วัน และมีปริมาณเลือดน้อยจนอาจเป็นแค่คราบบาง ๆ สีแดงอมชมพูหรือสีน้ำตาล
ปริมาณประจำเดือนปกติของแต่ละคนไม่เท่ากัน เฉลี่ยแล้วจะประมาณ 80 ซีซี หรือเทียบเท่ากับการใช้ผ้าอนามัยประมาณ 3–4 ผืนต่อวัน โดยปริมาณอาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายในแต่ละเดือน ประจำเดือนมาน้อยจึงไม่ใช่เรื่องอันตรายเสมอไป แต่บางครั้งอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นว่าร่างกายเกิดความผิดปกติขึ้น
ประจำเดือนมาน้อยเกิดจากอะไรได้บ้าง
โดยทั่วไปแล้วมีสาเหตุหลายอย่างที่อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ เช่น
น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
น้ำหนักตัวที่ลดลงมากเกินไปจากการสูญเสียไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้เกิดภาวะไข่ไม่ตกหรือฮอร์โมนทำงานผิดปกติ ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะประจำเดือนมาน้อยได้ในบางกรณี
เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
อายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน คือประมาณ 50 ปี การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกายของวัยนี้อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ แม้ว่ารอบเดือนจะมาน้อยแต่ก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ คนที่ไม่ต้องการมีลูกจึงยังจำเป็นต้องคุมกำเนิดต่อจนกว่าประจำเดือนจะไม่มาครบ 1 ปีเต็ม จึงจะถือว่าเป็นวัยหมดประจำเดือน
การตั้งครรภ์
ปกติแล้วผู้หญิงจะไม่มีประจำเดือนในระหว่างที่ตั้งครรภ์ แต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์ในบางคนอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดคล้ายกับการเป็นประจำเดือน เพียงแค่ปริมาณเลือดน้อยกว่า อาจเป็นคราบเลือดบาง ๆ สีแดงอมชมพู สีแดงสด หรือสีน้ำตาล และเป็นแค่ 1–2 วัน ซึ่งความจริงแล้วเป็นเลือดจากการฝังตัวของตัวอ่อนที่โพรงมดลูกหรือที่เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก
อย่างไรก็ตาม หากมีเลือดออกจากช่องคลอดมากผิดปกติ เลือดเป็นสีแดงสดหรือสีเข้มจนเกือบดำ และมีอาการปวดท้องร่วมด้วย อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ไม่ดีและอาจเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ จึงควรไปพบแพทย์
การคุมกำเนิด
ภาวะประจำเดือนมาน้อยหรือประจำเดือนขาดถือเป็นผลข้างเคียงทั่วไปของการใช้ยาคุมกำเนิด ทั้งในรูปแบบยากิน ยาฉีด แผ่นแปะคุมกำเนิด วงแหวนคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัยคุมกำเนิด การคุมกำเนิดด้วยวิธีเหล่านี้อาจไปยับยั้งการตกไข่หรือทำให้ผนังมดลูกบาง ส่งผลให้เลือดประจำเดือนไหลออกมาในปริมาณน้อย
ความเครียด
ความเครียดจากสาเหตุต่าง ๆ อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยหรือประจำเดือนขาด เพราะเมื่อเราเครียด สมองอาจเปลี่ยนแปลงการทำงานของฮอร์โมนที่ควบคุมรอบเดือน หากรู้สึกเครียดก็ควรหาวิธีคลายเครียดที่เหมาะกับตัวเอง เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง หรือออกไปพักผ่อนในสถานที่ใหม่ ๆ
ออกกำลังกายหนักเกินไป
การออกกำลังกายหนักเกินไปอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย และส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยได้ โดยเฉพาะนักกีฬาที่ต้องฝึกฝนอย่างหนักและอยู่ภายใต้แรงกดดัน
อยู่ในช่วงให้นมบุตร
โดยทั่วไปแล้วประจำเดือนจะยังไม่กลับมาทันทีหลังการคลอดลูก เพราะร่างกายจำเป็นต้องผลิตน้ำนม ซึ่งฮอร์โมนโปรแลคตินที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตน้ำนมจะไปป้องกันไม่ให้เกิดการตกไข่ ทำให้รอบเดือนยังไม่กลับมาเป็นปกติ
นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว ผลข้างเคียงจากโรคและระดับฮอร์โมนในร่างกายก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะประจำเดือนมาน้อยได้ แต่บางรายอาจมีอาการที่รุนแรงขึ้นและเกิดประจำเดือนมาช้าหรือมามากผิดปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติอย่างโรคคลั่งผอม ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) โรคทางต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน ภาวะอ้วน หรือภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
ประจำเดือนมาน้อยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอาการร้ายแรง แต่บางสาเหตุอาจต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม หากประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่มาติดต่อกันเกิน 2–3 เดือนโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด