ประจำเดือนมาวันเดียว สาเหตุและวิธีการดูแลตัวเอง

ประจำเดือนมาวันเดียวคือการไหลของเลือดประจำเดือนในเพศหญิงที่มาเพียง 1 วัน ซึ่งแม้ว่าอาจจะดูสั้นกว่าปกติ แต่การมีประจำเดือนเพียงหนึ่งวันส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เลือดล้างหน้าเด็ก มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากสาเหตุที่รุนแรง อย่างไรก็ตามควรสังเกตอาการและปรึกษาแพทย์หากมีอาการอื่นร่วมด้วย

ประจำเดือนคือเลือดและเนื้อเยื่อที่หลุดลอกจากเยื่อบุโพรงมดลูกเนื่องจากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ผู้หญิงแต่ละคนมีรอบประจำเดือนที่แตกต่างกัน แต่โดยปกติจะมีระยะห่างของประจำเดือนอยู่ที่ 21–35 วัน และเลือดประจำเดือนออกยาวนาน 2-7 วัน โดยเลือดประจำเดือนปกติอาจมีสีชมพู แดง ไปจนถึงน้ำตาลเข้ม อย่างไรก็ตาม การมีประจำเดือนสั้นนั้นถือเป็นเรื่องปกติในผู้หญิงวัยเริ่มมีประจำเดือนและวัยใกล้หมดประจำเดือน

One Day Period

ปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนมาวันเดียว

ปัจจัยที่สามารถส่งผลให้ผู้หญิงมีประจำเดือนมาวันเดียวมักเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนและการตั้งครรภ์เช่น

1. เลือดล้างหน้าเด็ก 

เลือดล้างหน้าเด็กอาจดูเหมือนเลือดประจำเดือนที่ไหลเพียง 1–2 วันได้ แต่ที่จริงแล้วเป็นเลือดที่เกิดหลังจากตัวอ่อนเข้าไปฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก โดยหลังการปฏิสนธิ 10–14 วัน อาจมีเลือดล้างหน้าเด็กไหลออกมาได้ ลักษณะของเลือดล้างหน้าเด็กส่วนใหญ่เป็นสีชมพูไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม โดยหญิงที่ตั้งครรภ์บางคนอาจมีเลือดล้างหน้าเด็กออกมา หรือบางคนอาจไม่มีเลยก็ได้ 

2. การแท้งลูก

การแท้งลูกสามารถทำให้เกิดการไหลของเลือดที่ดูคล้ายกับเลือดประจำเดือน ทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้หากไม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ โดยลักษณะการไหลและปริมาณของเลือดขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและอายุครรภ์ อาการร่วมที่สังเกตได้เช่น ปวดท้อง ปวดอุ้งเชิงกราน และอาการปวดหลัง 

3. เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์

หากเลือดที่ออกเพียงวันเดียวนั้นเป็นเลือดที่ออกหลังการมีเพศสัมพันธ์  ส่วนใหญ่เป็นเพราะปากมดลูกระคายเคืองจากการเสียดสี การเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศ ปากมดลูกติดเชื้อโดยอาจเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่เป็นก็ได้ หากเลือดออกมากหลังมีเพศสัมพันธ์โดยมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจถี่ รู้สึกมึนหัวร่วมด้วย ควรพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ เลือดที่ออกหลังการมีเพศสัมพันธ์อาจเกิดจากติ่งเนื้อในปากมดลูกที่ถูกเสียดสี ซึ่งสามารถนำติ่งเนื้อออกด้วยการผ่าตัดได้

4. การคุมกำเนิดและการใช้ยาบางชนิด

การใช้ยาคุมกำเนิดไม่ว่าจะเป็นยาเม็ด ยาฉีด การใช้ห่วงอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิดสามารถทำให้ประจำเดือนมาวันเดียวหรือรอบประจำเดือนสั้นลงได้เนื่องจากการคุมกำเนิดอาจส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง นอกจากนี้ยังมียาชนิดอื่น ๆ ที่สามารถส่งผลต่อความถี่ ระยะเวลาการไหลและปริมาณของเลือดประจำเดือนเช่น ยาต้านเศร้า ยารักษาไทรอยด์ และสมุนไพรบางชนิด

ผู้ที่เริ่มใช้ยาตัวใหม่และมีประจำเดือนผิดปกติจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินว่ายาชนิดนั้น ๆ ส่งผลต่อประจำเดือนจริงหรือเป็นเพราะสาเหตุอื่น

5. โรคหรือปัญหาสุขภาพ

โรคบางอย่างหรือปัญหาสุขภาพก็สามารถส่งผลให้ประจำเดือนมาวันเดียวได้เช่นกัน เช่น โรคต่อมไทรอยด์ โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ โรคอักเสบในอุ้งเชิงกราน ในส่วนกรณีที่พบได้ยากเช่น ภาวะปากมดลูกตีบ ภาวะการหมดประจำเดือนก่อนวัย ภาวะพังผืดในโพรงมดลูก โรคโลหิตจาง มะเร็งปากมดลูก

6. มะเร็งปากมดลูก 

มะเร็งปากมดลูกบางกรณี ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดไหลทางช่องคลอดผิดปกติที่ดูเหมือนประจำเดือนที่มาเพียง 1 วัน ได้ อาการนี้อาจขึ้นหลังมีเพศสัมพันธ์ ในช่วงที่ไม่ใช่รอบประจำเดือน หรือในวัยหมดประจำเดือนก็ได้ อย่างไรก็ตามอาการเลือดออกนี้มักเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ผู้ที่มีอาการเลือดไหลทางช่องคลอดผิดปกติจึงควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ มะเร็งปากมดลูกพบได้น้อยมากในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 25 ปี ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยทุก ๆ 5 ปี 

7. การใช้ชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมบางอย่าง

การใช้ชีวิตหรือกิจกรรมบางอย่างสามารถส่งผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมการไหลของเลือดประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาวันเดียวได้ เช่น การมีความเครียดสูง น้ำหนักที่ลดลงผิดปกติ การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า การออกกำลังกายหนักเกินไป ซึ่งในกรณีเหล่านี้ วิธีแก้ให้ทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ฮอร์โมนในร่างกายสมดุลมากขึ้น 

วิธีการดูแลตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงประจำเดือนมาวันเดียว

แม้ว่าบางกรณีเราจะไม่สามารถป้องกันประจำเดือนที่มาไม่ปกติได้ อย่างไรก็ตามผู้หญิงสามารถรักษาสมดุลฮอร์โมนเพื่อสุขภาพที่ดีของระบบการเจริญพันธุ์ด้วยการทำตามวิธีต่อไปนี้

  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • จัดการกับความเครียด 
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ
  • เข้ารับการรักษาโรคที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนและประจำเดือน เช่น โรคคลั่งผอม โรคซึมเศร้า

อาการเกี่ยวข้องที่ควรปรึกษาแพทย์

อาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น มีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์ เลือดประจำเดือนมามากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยมากกว่า 1 แผ่นภายใน 1 ชั่วโมงหลายชั่วโมงติดต่อกัน มีอาการปวดรุนแรง มีไข้ร่วมด้วย น้ำหนักขึ้นหรือลงโดยไม่รู้สาเหตุ มีของเหลวออกจากหัวนม หากมีหนึ่งในอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ผู้ที่มีประจำเดือนควรจดบันทึกรอบเดือนของตนเองเพื่อให้คุ้นเคยกับลักษณะของรอบเดือนตนเอง หากรอบเดือน ปริมาณของเลือด และระยะเวลาการไหลของเลือดแปลกไปจากเดิมจนผิดสังเกต ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังควรหมั่นรักษาสุขภาพกายและใจให้สมดุลอยู่เพื่อสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ