ประจำเดือนไม่มา 1 เดือนน่าจะเป็นภาวะที่ส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกเป็นกังวลใจเกี่ยวกับความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในร่างกาย อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่ไม่รุนแรง อย่างการออกกำลังกายหนัก ไปจนถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่
ประจำเดือน คือภาวะที่เนื้อเยื่อของมดลูกหลุดลอกออกมา เนื่องจากไข่ไม่ได้มีการปฏิสนธิ ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นปกติในทุก ๆ เดือนจนถึงช่วงวัยทอง โดยระยะระหว่างการเกิดประจำเดือนในแต่ละครั้งจะอยู่ในช่วงประมาณ 24–38 วัน ซึ่งถ้าหากนานกว่านี้จะเรียกว่า ประจำเดือนมาช้า หรือประจำเดือนไม่มา
สาเหตุที่อาจเป็นไปได้เมื่อประจำเดือนไม่มา 1 เดือน
ประจำเดือนไม่มา 1 เดือนสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. การตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของปัญหาประจำเดือนไม่มา ซึ่งผู้ที่ตั้งครรภ์จะไม่มีประจำเดือนจนกว่าจะคลอด ดังนั้น หากพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้ที่จะตั้งครรภ์ อาจลองตรวจการตั้งครรภ์ดูเพื่อความแน่ใจ
นอกจากปัญหาประจำเดือนไม่มาแล้ว ผู้ที่ตั้งครรภ์อาจพบอาการอื่น ๆ ต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ พบเลือดออกเป็นจุดในปริมาณเล็กน้อยจากช่องคลอด เจ็บเต้านม เต้านมบวม คลื่นไส้ อาเจียน และอ่อนเพลีย
2. ยาคุมกำเนิด
การใช้ยาคุมกำเนิดอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือนได้ ซึ่งรวมถึงการที่ประจำเดือนไม่มาด้วย โดยสำหรับผู้ที่ประจำเดือนไม่มา 1 เดือนมีสาเหตุมาจากการใช้ยาคุมกำเนิด ประจำเดือนมักจะกลับมาเป็นปกติหลังจากหยุดใช้ยาคุมกำเนิด
3. เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน
ผู้ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง หรือประมาณช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป อาจพบว่าประจำเดือนไม่มาในบางเดือนได้ ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ช่วงวัยทอง ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้หญิงจะหยุดมีประจำเดือน
4. ความเครียด
ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่งฮอร์โมน (Gonadotropin–Releasing Hormone: GnRH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ควบคุมการตกไข่และรอบเดือนของร่างกายได้
5. การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวอย่างมาก
น้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นหรือลดลง อาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเกิดความไม่สมดุล จนนำไปสู่การมีประจำเดือนช้ากว่าปกติ หรือประจำเดือนไม่มาได้
นอกจากนี้ การมีน้ำหนักตัวที่มากยังอาจส่งผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกาย จนส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาได้ รวมถึงการมีน้ำหนักตัวที่น้อยที่อาจส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนบางชนิดได้อย่างเป็นปกติ และนำไปสู่การที่ประจำเดือนไม่มาได้เช่นกัน
6. การออกกำลังกายอย่างหนัก
การออกกำลังกายอย่างหนักอาจส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรี่มากเกินไป จนร่างกายมีพลังงานไม่พอต่อกระบวนการทำงานต่าง ๆ และนำไปสู่ปัญหาระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลและภาวะประจำเดือนไม่มาได้
6. กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS)
กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากการที่ระดับฮอร์โมนบางชนิดในร่างกายเกิดความไม่สมดุล ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนไม่มาได้
โดยอาการของผู้ป่วยภาวะนี้ก็เช่น มีขนขึ้นตามตัวและใบหน้ามากผิดปกติ สิวขึ้น ผมบาง น้ำหนักขึ้น
นอกจากสาเหตุทั้งหมดที่กล่าวไปแล้ว ปัญหาประจำเดือนไม่มา 1 เดือนยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ ไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน โรคเซลิแอค (Celiac Disease) และการใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาต้านเศร้า ยารักษาโรคไทรอยด์ และยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด
สิ่งที่ควรทำเมื่อประจำเดือนไม่มา 1 เดือน
ในกรณีที่อาการประจำเดือนไม่มา 1 เดือนเกิดขึ้นไม่บ่อย เช่น เกิดเพียง 1–2 ครั้งใน 1 ปี อาการนี้มักไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่รุนแรงและไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา แต่เมื่อมีอาการนี้ หากเห็นว่าตนเองอาจมีโอกาสตั้งครรภ์ก็อาจจะใช้ที่ตรวจครรภ์เพื่อความแน่ใจ หรือหากคิดว่าอาการมีสาเหตุมาจากความเครียด ก็อาจจะลองหากิจกรรมที่ชอบทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหานี้ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม หากเห็นว่าประจำเดือนไม่มาเกิน 40 วันหลังจากประจำเดือนครั้งล่าสุด เนื่องจากปัญหาประจำเดือนไม่มาอาจเป็นสัญญาณของโรคบางชนิดได้
แต่สำหรับผู้ที่พบอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ อ่อนเพลีย มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง มีขนขึ้นตามตัวมากผิดปกติ หรือมีของเหลวไหลออกมาจากเต้านม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากการที่ประจำเดือนไม่มา 1 เดือนอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้