ประตูหนีบนิ้ว อุบัติเหตุภายในบ้านกับวิธีปฐมพยาบาล

ประตูหนีบนิ้วเป็นอุบัติเหตุที่พบได้ในชีวิตประจำวันและอาจพบได้บ่อยกว่าอุบัติเหตุอื่น แม้จะดูไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่การถูกประตูหนีบนิ้วก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ไม่น้อย หากถูกหนีบอย่างแรงก็อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์

เมื่อประตูหนีบนิ้วอาจพบกับอาการปวดตุบ ๆ บริเวณนิ้วที่ถูกหนีบ เลือดออก เล็บฉีก แม้กระทั่งกระดูกนิ้วหักหรือร้าว นอกจากนี้ การถูกลิ้นชักหนีบ ของหล่นใส่นิ้วเท้า หรือการตอกตะปูพลาดก็อาจทำให้เกิดอาการลักษณะเดียวกันได้ อาการที่ไม่รุนแรงอาจรักษาได้ด้วยตนเอง แต่หากถูกหนีบอย่างแรงการไปพบแพทย์เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

ประตูหนีบนิ้ว อุบัติเหตุภายในบ้านกับวิธีปฐมพยาบาล

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อประตูหนีบนิ้ว

หลังจากถูกประตูหนีบนิ้วควรประเมินบาดแผลด้วยตนเอง หากอาการไม่รุนแรงอาจปฐมพยาบาลด้วยวิธีดังนี้

  • หยุดกิจกรรมหรืองานที่ทำอยู่
  • ทำความสะอาดด้วยนิ้วที่ได้รับบาดเจ็บด้วยน้ำและสบู่ จากนั้นซับให้แห้งอย่างเบามือ
  • หากมีอาการปวดบวมอาจใช้วิธีประคบเย็น โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด ผ้าห่อถุงน้ำแข็งหรือขวดน้ำเย็นประคบรอบ ๆ นิ้วที่ถูกประตูหนีบประมาณ 20 นาที ควรประคบเบา ๆ เพื่อป้องกันอาการปวดรุนแรงขึ้น และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำแข็งประคบโดยตรงเพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้
  • สามารถใช้ยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยเพื่อบรรเทาปวด อย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และใช้ยาลดไข้ อย่างอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือพาราเซตามอลก็ได้เช่นกัน
  • พยายามยกมือหรือเท้าที่นิ้วถูกหนีบให้สูงกว่าหัวใจเพื่อลดการไหลเวียนเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวด โดยอาจวางเท้าหรือมือพาดกับหมอนหรือสิ่งของอื่น ๆ เพื่อลดความเมื่อยล้าจากการยก
  • พักนิ้วมือหรือนิ้วเท้าที่บาดเจ็บหลังจากปฐมพยาบาลเพื่อพักฟื้น
  • เมื่ออาการปวดดีขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลาราว 1-2 วัน ควรหมั่นยืดเหยียดนิ้วที่ได้รับบาดเจ็บเพื่อยืดกล้ามเนื้อนิ้วนั้น ๆ แต่ไม่ควรขยับจนรู้สึกเจ็บ
  • หมั่นนวดหรือคลึงบริเวณรอบนิ้วเบา ๆ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ซึ่งช่วยฟื้นฟูอาการบาดเจ็บ แต่ควรทำหลังจากอาการปวดบรรเทาลงและไม่มีอาการบวมแล้ว

การบาดเจ็บจากการถูกประตูหนีบนิ้วอาจใช้เวลาสักระยะในการฟื้นฟูจนหายดี ระหว่างนั้นควรระมัดระวังกิจกรรมที่อาจทำให้การบาดเจ็บรุนแรงขึ้นและหมั่นรักษาความสะอาดของนิ้วและร่างกายเสมอ หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น ปวดมากขึ้น นิ้วบวม นิ้วหรือเล็บสีคล้ำขึ้น มีหนอง หรือมีไข้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม

ประตูหนีบนิ้ว อาการแบบไหน ควรไปพบแพทย์

เมื่อถูกประตูหนีบนิ้วหรือเกิดอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกัน และพบว่าการบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรง เช่น รู้สึกปวดอย่างรุนแรง เลือดออกมาก เล็บเคลื่อน เล็บหลุด ขยับนิ้วไม่ได้ คาดว่านิ้วหัก หรือหากไม่สามารถประเมินอาการได้ ควรไปพบแพทย์ แต่ก่อนจะไปพบแพทย์ ควรทำแผลด้วยการล้างนิ้วที่บาดเจ็บด้วยน้ำและสบู่อย่างเบามือ จากนั้นซับให้แห้ง และหากผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดพันนิ้วเพื่อลดการเคลื่อนไหว แต่ไม่ควรพันจนแน่นเกินไป แล้วจึงไปพบแพทย์

การรักษาการบาดเจ็บจากประตูหนีบนิ้วอาจแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของบาดแผล ขั้นแรกแพทย์อาจทำความสะอาดอีกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ หากเล็บฉีกรุนแรงหรือเล็บหลุด แพทย์อาจจำเป็นต้องถอดเล็บเพื่อเย็บเนื้อเยื่อใต้เล็บ ซึ่งมีหน้าที่ยึดตัวเล็บกับนิ้วเข้าด้วยกัน จากนั้นแพทย์จะติดเล็บที่ถอดออกมาเข้าไปใหม่

หากพบว่านิ้วหัก แพทย์อาจฉีดยาชาเฉพาะจุด และสวมเฝือกเพื่อดามนิ้ว ซึ่งอาจใช้เวลาฟื้นฟูราว 2–8 สัปดาห์และอาจหายเป็นปกติภายใน 3–4 เดือน

หลังจากรักษาบาดแผล แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแผลติดเชื้อ ซึ่งควรรับประทานตามที่แพทย์สั่ง รวมถึงยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาปวดด้วย นอกจากนี้ ควรดูแลตนเองในลักษณะเดียวกับการปฐมพยาบาลตนเองในข้างต้นเพื่อให้การบาดเจ็บฟื้นฟูได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะรักษาการบาดเจ็บจากประตูหนีบนิ้วด้วยตนเองหรือโดยแพทย์ หากพบสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างเป็นไข้ หนาวสั่น เป็นหนอง นิ้วบวม มือบวม ควรไปพบแพทย์ทันที