ประโยชน์ของกลูโคซามีนและวิธีรับประทานให้ปลอดภัย

กลูโคซามีน (Glucosamine) เป็นสารที่พบในร่างกาย โดยจะช่วยสร้างสารเป็นส่วนประกอบของเอ็น กระดูกอ่อนที่ข้อต่อต่าง ๆ และของเหลวที่อยู่รอบข้อต่อ ซึ่งช่วยให้ข้อต่อเกิดความยืดหยุ่นและรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อได้ 

นอกจากนี้ กลูโคซามีนยังมีอยู่ในรูปยาและอาหารเสริมที่สกัดจากเปลือกสัตว์ทะเลหรือเป็นสารสังเคราะห์เพื่อใช้รักษาหรือชะลอความเสื่อมของข้อ สามารถแบ่งได้เป็นหลายชนิด เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine Sulfate) กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์ (Glucosamine Hydrochloride) และกลูโคซามีนคลอโรไฮเดรต (Glucosamine Chlorohydrate) ซึ่งมีขนาดโมเลกุลและคุณสมบัติแตกต่างกัน 

ประโยชน์ของกลูโคซามีนและวิธีรับประทานให้ปลอดภัย

ประโยชน์ของกลูโคซามีน

กลูโคซามีนมีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างและคงความแข็งแรงของข้อต่อในร่างกาย ผลการวิจัยหลายชิ้นระบุว่ากลูโคซามีนมีส่วนช่วยสร้างกระดูกอ่อน ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อสีขาวหุ้มอยู่ที่ปลายกระดูกและบริเวณข้อต่อ ช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อไม่ติดขัด 

กระดูกอ่อนมักสึกหรอและเสื่อมสภาพเมื่อเราอายุมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยจะส่งผลให้มีอาการปวดและบวมข้อต่อบริเวณเข่า สะโพก กระดูกสันหลัง และมือ

อีกทั้งกลูโคซามีนอาจช่วยสร้างสารที่เป็นองค์ประกอบของกระดูกอ่อนและน้ำไขข้อ (Synovial Fluid)  เช่น คอลลาเจนที่ช่วยหล่อลื่นข้อเข่า ทำให้เคลื่อนไหวข้อเข่าได้สะดวก ผลการศึกษาบางส่วนระบุว่ากลูโคซามีนอาจช่วยลดการอักเสบของข้อ จึงนำกลูโคซามีนมาสกัดเป็นยาเพื่อใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ เช่น ข้อเสื่อม รูมาตอยด์ และกระดูกพรุน 

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการรับประทานยาและอาหารเสริมกลูโคซามีนอาจช่วยรักษาหรือชะลอความเสื่อมของผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม เช่น 

  • ช่วยลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมกลุ่มที่รับประทานยากลูโคซามีนซัลเฟต ขนาด 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่พบผลข้างเคียงในงานวิจัยนี้มากกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก
  • อาจช่วยบรรเทาอาการปวดเข่า และช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้นในผู้ป่วยที่รับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยใช้ยากลูโคซามีนซัลเฟตเป็นเวลา 6 เดือน 

นอกจากนี้ กลูโคซามีนอาจใช้ในการรักษาโรคอื่น ๆ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา และอาการปวดหลังเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม ยังขาดผลการศึกษาที่เพียงพอในปัจจุบัน จึงอาจไม่สามารถยืนยันได้ว่ากลูโคซามีนมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเหล่านี้ 

การใช้กลูโคซามีนให้ปลอดภัย

กลูโคซามีนมีทั้งรูปแบบยาที่แพทย์สั่งจ่ายและอาหารเสริม แต่ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้กลูโคซามีนซัลเฟตเป็นกลูโคซามีนชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตรายและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนกลูโคซามีนรูปแบบอื่นจะขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น 

โดยกลูโคซามีนชนิดที่เป็นยาอันตรายจะต้องสั่งจ่ายและใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ซึ่งปริมาณกลูโคซามีนซัลเฟตเพื่อบรรเทาอาการโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้ใหญ่จะอยู่ที่ 1,500 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานวันละ 2–3 ครั้ง หรือใช้ยาในขนาดและระยะเวลาตามที่แพทย์สั่ง 

ส่วนกลูโคซามีนในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สามารถหาซื้อได้เองจากร้านขายยาทั่วไป ควรศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

ข้อควรระวังในการใช้กลูโคซามีน มีดังนี้

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กลูโคซามีน เช่น โรคหืด โรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง โรคตับ มะเร็ง และต้อหิน เพราะกลูโคซามีนอาจทำให้อาการของโรคประจำตัวแย่ลง 
  • เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ไม่ควรใช้กลูโคซามีนหากไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อทารก
  • ผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ยารักษามะเร็งและเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากการใช้กลูโคซามีนอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา
  • ไม่ควรใช้กลูโคซามีนแทนยารักษาโรคที่แพทย์สั่งจ่าย
  • ผู้ที่แพ้อาหารทะเล ไม่ควรใช้กลูโคซามีน เนื่องจากยากลูโคซามีนสกัดจากเปลือกสัตว์ทะเล เช่น หอย ปู และกุ้ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้

ผลข้างเคียงจากการรับประทานกลูโคซามีนที่พบบ่อยมักไม่รุนแรง เช่น ท้องอืด คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก และแสบร้อนบริเวณทรวงอก หรืออาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ ง่วงซึม และมีอาการผิดปกติที่ผิวหนัง 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับกลูโคซามีนในปัจจุบันมีจำนวนไม่มากนักและมักศึกษาประสิทธิภาพในการรักษาในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม การใช้กลูโคซามีนเพื่อรักษาโรคจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ