การเลี้ยงสัตว์มีประโยชน์หลายด้าน และอาจมีส่วนให้เรามีสุขภาพดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เราออกกำลังกาย เสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน พัฒนาการเรียนรู้ในเด็ก ลดความเครียด และยังอาจช่วยให้พัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นได้อีกด้วย
หลายคนทราบดีว่าสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนที่ดีให้เราในวันที่เหนื่อยล้า แต่หากเจ้าของไม่ได้เตรียมความพร้อมและหาข้อมูลก่อนการเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเลี้ยงสุนัข แมว นก กระต่าย หรือสัตว์ประเภทใดก็ตาม อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ในทางกลับกันสัตว์เลี้ยงอาจนำพาเชื้อโรคต่าง ๆ ไปสู่คนได้เช่นกัน
บทความนี้จึงได้รวบรวมประโยชน์และข้อควรปฏิบัติในการเลี้ยงสัตว์ให้ปลอดภัยต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงและเจ้าของมาให้คนรักสัตว์ได้ทราบกัน
ประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์
การเลี้ยงสัตว์มีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนเลี้ยงทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยผู้ที่เลี้ยงสัตว์จะได้รับประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ ดังนี้
-
ช่วยเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
โดยทั่วไปเราควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที เพื่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดที่แข็งแรง โดยผลการศึกษาหลายชิ้นระบุว่า การพาสุนัขไปเดินเล่นทำให้เจ้าของสุนัขออกกำลังกายมากขึ้น และผู้เลี้ยงสุนัขใช้เวลาออกกำลังกายต่อสัปดาห์มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งการออกกำลังกายเป็นประจำมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ลดความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
ผลการศึกษาบางชิ้นระบุว่า การเลี้ยงสัตว์ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น โดยพบว่าระดับแอนติบอดี้ (Antibody) ที่ทําหน้าที่เกี่ยวกับภูมิต้านทานของร่างกายอย่าง IgA มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลังสัมผัสตัวสุนัข การเลี้ยงสัตว์จึงอาจช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันได้
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าการเลี้ยงสัตว์บางชนิดอย่างสุนัข อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) และโรคภูมิแพ้ อย่างภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง ไรฝุ่น ละอองจากพืช และโรคหืดในเด็ก
-
สร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว
ประโยชน์ข้อนี้อาจเป็นสิ่งที่หลายคนนึกไม่ถึง จริง ๆ แล้วการเลี้ยงสัตว์ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นขึ้นได้ โดยทำให้ครอบครัวได้ดูแลสัตว์และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ให้อาหาร อาบน้ำ แปรงขน ออกกำลังกาย ซื้อของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยง และพาสัตว์เลี้ยงไปเที่ยวในวันหยุด เป็นต้น
-
ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและลดความเครียด
การสัมผัสและกอดสัตว์เลี้ยงจะช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียด และกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโดพามีน (Dopamine) และออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งช่วยให้ปรับระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ และช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้
นอกจากนี้ การเลี้ยงสัตว์ยังช่วยคลายความเหงาให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีพี่น้องและมีเพื่อนน้อย การเลี้ยงสัตว์ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีเพื่อนที่สามารถพูดคุยและเล่นด้วยได้ ส่วนผู้สูงอายุที่มีสัตว์เลื้ยง อาจช่วยลดความเบื่อหน่ายขณะที่อยู่บ้านตามลำพังในช่วงที่คนในครอบครัวออกไปทำงาน
จากงานวิจัยพบว่า การเลี้ยงสัตว์ในบ้านช่วยให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเหงา ได้รู้ถึงความหมายและจุดประสงค์ของการใช้ชีวิต และช่วยให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้ผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ มีกำลังใจในการดูแลรักษาตนเองให้ดีขึ้น
-
ฝึกให้เด็กมีความอ่อนโยน มั่นใจ และมีความรับผิดชอบ
การเลี้ยงสัตว์เป็นการปลูกฝังให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยน และสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อการดูแลสัตว์เลี้ยง เช่น ให้อาหาร พาไปเดินเล่น และอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ เด็กที่เลี้ยงสัตว์ได้ดีจะมีความมั่นใจและรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสภาวะจิตใจและการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคต
-
ฝึกการเรียนรู้และช่วยในการรักษาโรค
เด็กส่วนหนึ่งไม่ชอบอ่านหนังสือ และมักรู้สึกเครียดเมื่อต้องอ่านหนังสือให้ผู้ปกครองฟัง เนื่องจากกลัวจะอ่านผิด แต่ผลการวิจัยหนึ่งพบว่าเด็กมักรู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกสนุกสนานที่ได้อ่านหนังสือให้สัตว์เลี้ยงฟัง โดยอาจเป็นเพราะเด็กมองสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนที่สามารถพูดคุยกันได้อย่างสบายใจ
นอกจากนี้ ในโรงพยาบาลบางแห่งได้ใช้สัตว์เลี้ยงในการบำบัดรักษาผู้ป่วย (Pet Therapy) เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองเสื่อม โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) โรคมะเร็ง และผู้ที่รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลระยะยาว ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคอีกด้วย
ข้อควรรู้ก่อนจะเลี้ยงสัตว์
ไม่ว่าจะเลี้ยงสัตว์ชนิดใด เจ้าของควรดูแลด้วยความรักเอาใจใส่และมีความรับผิดชอบ ก่อนรับสัตว์เลี้ยงมาดูแลจึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ราคา ความพร้อมในการเลี้ยงหรือพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ อายุ ลักษณะนิสัยของสัตว์ และการดูแลสุขภาพสัตว์ในด้านอาหารและการออกกำลังกาย
นอกจากนี้ การเลี้ยงสัตว์มีข้อควรระวังบางอย่างดังนี้
- บ้านที่มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุไม่ควรเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน เพราะอาจเกิดอันตรายจากสัตว์ทำร้าย และเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonellosis) จากสัตว์เลื้อยคลาน
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือบกพร่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังรักษาตัวหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ที่มีโรคกลาก (Ringworm) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราในสุนัขและแมวและสามารถติดต่อสู่คนได้ เนื่องจากจะมีความเสี่ยงสูงในการรับเชื้อมากกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่ควรดูแลหรือรับเลี้ยงแมวจรจัดตัวใหม่ โดยเฉพาะลูกแมว เนื่องจากอาจได้รับเชื้อโรคจากแมวที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
- ผู้ที่ตั้งครรภ์และเด็กควระมัดระวังโรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อจากปรสิตในมูลแมว
- ผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาการทรงตัว ควรระมัดระวังอุบัติเหตุจากการเลี้ยงสัตว์ เช่น เหยียบและสะดุดสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก หรือวิ่งชนและกระโจนใส่เจ้าของของสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ เป็นต้น
- ผู้ที่มีโรคภูมิแพ้สัตว์เลี้ยงไม่ควรเลี้ยงสัตว์ หากมีสัตว์เลี้ยงอยู่แล้วในบ้าน ควรปรึกษาแพทย์ และดูแลตัวเองโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง ล้างมือ และทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของขนสัตว์และเชื้อโรค
เทคนิคเลี้ยงสัตว์ให้ปลอดภัย
เพื่อการดูแลสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัยต่อสุขภาพของสัตว์และคนในครอบครัว ควรทำตามข้อแนะนำต่าง ๆ ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังการสัมผัส ให้อาหาร เตรียมอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง และทำความสะอาดเมื่อสัตว์ขับถ่าย รวมทั้งล้างมือก่อนรับประทานอาหารและระหว่างเตรียมอาหาร เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากสัตว์เลี้ยงเข้าสู่ร่างกาย
- ให้อาหาร จัดที่นอน อาบน้ำ และพาสัตว์ไปออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามประเภทและสายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยง เพราะหากสัตว์เลี้ยงมีสุขภาพดีจะช่วยลดความเสี่ยงของการนำโรคมาสู่เจ้าของ
- พาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพ ถ่ายพยาธิ และฉีดวัคซีนเป็นประจำ รวมทั้งศึกษาวิธีกำจัดเห็บหมัดให้สัตว์เลี้ยงตามคำแนะนำของสัตว์แพทย์
- นำที่ขับถ่ายของสัตว์ไปทำความสะอาดภายนอกบ้าน โดยไม่ควรล้างทำความสะอาดในอ่างล้างหน้า อ่างล้างจาน หรือใกล้บริเวณเตรียมอาหาร เพราะเชื้อโรคอาจแพร่กระจายในอาหารและภายในบ้านได้ และควรพกถุงพลาสติกสำหรับเก็บมูลสัตว์เมื่อพาสัตว์ไปเดินเล่นทุกครั้ง เพื่อความสะอาด และป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น
- สอนให้เด็กเล่นกับสัตว์เลี้ยงอย่างอ่อนโยน ไม่ตีหรือแกล้งสัตว์ และไม่ควรเข้าใกล้สัตว์ที่มีท่าทีดุร้ายและสัตว์จรจัด
- ฝึกสัตว์เลี้ยงให้เชื่อฟังเพื่อป้องกันพฤติกรรมดุร้าย เช่น กัดหรือทำร้ายคนอื่น
- ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงนอนบนเตียงกับเจ้าของ เนื่องจากอาจได้รับเชื้อโรคจากสัตว์ได้ และหากให้สุนัขนอนบนเตียงอาจทำให้สุนัขรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของอาณาเขต และอาจส่งผลให้ไม่เชื่อฟังเจ้าของ
- ในกรณีที่ถูกแมวและสุนัขกัด ข่วน หรือเลียบริเวณบาดแผล ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำและสบู่ หากแผลเปิดควรฟอกน้ำยาฆ่าเชื้อและปิดแผล จากนั้นควรไปพบแพทย์
การเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มเลี้ยงสัตว์ และรู้จักดูแลความปลอดภัยของทั้งตัวสัตว์เลี้ยงและคนในครอบครัว จะช่วยให้ผู้เลี้ยงได้รับประโยชน์และความสุขจากการเลี้ยงสัตว์ สำหรับใครที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับเลี้ยงสัตว์ และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์อาจขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ในการดูแลสัตว์อย่างเหมาะสม