ประโยชน์ของน้ำมันปลา คุณค่าต่อสุขภาพที่คุณควรรู้

น้ำมันปลา (Fish Oil) เป็นไขมันหรือน้ำมันที่สกัดได้จากส่วนต่าง ๆ ของปลา ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ หนัง หรือหางของปลา พบได้มากในปลาทะเลหรืออาหารทะเล โดยน้ำมันปลามีส่วนประกอบของกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega 3) ที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งไขมันชนิดนี้มีสรรพคุณที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ อาจช่วยโรคตับ และโรคเรื้อรังอื่น ๆ หากต้องการทราบว่าน้ำมันปลาช่วยได้อย่างไร สามารถศึกษาประโยชน์ของน้ำมันปลาได้จากบทความนี้ 

กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับผู้ที่ต้องการชดเชยกรดไขมันโอเมก้า 3 อาจลองปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานน้ำมันปลาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งน้ำมันปลาบางยี่ห้อยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ เป็นส่วนประกอบด้วย เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ 

ประโยชน์ของน้ำมันปลา

ประโยชน์ของน้ำมันปลา

น้ำมันปลามีโอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบหลัก โดยโอเมก้า 3 เป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน สามารถแบ่งออกได้เป็นดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid) และอีพีเอ (Eicosapentaenoic acid) กรดไขมันทั้งสองชนิดนี้มีส่วนช่วยต้านการอักเสบ ลดระดับไขมันที่เป็นอันตราย เพิ่มไขมันดีในเลือด อาจช่วยเสริมสร้างเซลล์สมองและดวงตา จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

1. ป้องกันโรคหัวใจ

มีงานวิจัยพบว่า การรับประทานน้ำมันปลาสัปดาห์ละสองครั้ง นานติดต่อกัน 6 เดือน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจอย่างโรคหัวใจขาดเลือด อีกทั้งในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจสูงเสียชีวิตลดลง และยังพบว่าในผู้ที่มีระดับโอเมก้า 3 ชนิดอีพีเอในเลือดสูงจะมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายน้อยกว่าอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าการรับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) 

นอกจากนี้ อาหารเสริมน้ำมันปลาบางยี่ห้อยังมีส่วนผสมที่อาจช่วยเสริมสรรพคุณในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจของน้ำมันปลาได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น

  • วิตามินอี
    วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยลดความเสียหายของเซลล์ที่เกิดจากการอักเสบที่มีสาเหตุจากสารอนุมูลอิสระ การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าการบริโภควิตามินอีเป็นประจำทุกวันอาจช่วยลดการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้
  • สารแอสตาแซนธิน (Astaxanthin)
    สารแอสตาแซนธินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) มีสรรพคุณต้านการอักเสบของร่างกาย และจากการศึกษาพบว่าสารชนิดนี้อาจช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดหัวใจและช่วยให้ผนังหลอดเลือดแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ แอสตาแซนธินยังอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองในผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุงได้เช่นกัน แต่สรรพคุณเหล่านี้ยังต้องการงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคต

ดังนั้น การได้รับน้ำมันปลาร่วมกับวิตามินอีและสารแอสตาแซนธินเป็นประจำจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้เพิ่มมากขึ้น

2. ลดไตรกลีเซอไรด์และเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี

หากระดับไตรกลีเซอไรด์และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีหรือ LDL สูงขึ้นก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคที่เป็นอันตราย อย่างโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง 

มีหลักฐานยืนยันว่า น้ำมันปลาที่มีกรดไขมันดีเอชเอและอีพีเอมีสรรพคุณในการลดระดับของไตรกลีเซอไรด์ และอาจช่วยเพิ่มระดับไขมันดี ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยปกป้องกันร่างกายจากโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง แต่ในขณะเดียวกันการบริโภคน้ำมันปลาอาจส่งผลให้ระดับไขมันชนิดไม่ดีเพิ่มขึ้นได้ด้วย ผู้ป่วยไขมันสูงหรือมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน

3. ลดปริมาณไขมันในโรคไขมันพอกตับ

ตับเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่ไขมันอาจเข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อจนทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับขึ้น ภาวะนี้อาจทำให้เนื้อเยื่อภายในตับเกิดการอักเสบ และหากมีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ก็อาจนำไปสู่โรคตับแข็งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

มีการศึกษาส่วนหนึ่งพบว่า น้ำมันปลาอาจช่วยลดการอักเสบ ทำให้ตับทำงานได้ดีขึ้น และอาจลดระดับของไขมันที่เข้าไปสะสมภายในตับของผู้ป่วยไขมันพอกตับได้อีกด้วย 

4. ช่วยบำรุงสมอง

สมองประกอบไปด้วยไขมันประมาณร้อยละ 60 และในจำนวนนี้เป็นกรดไขมันที่หลายคนคุ้นหู คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 จากการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 จำเป็นต่อการทำงานของสมองไม่ว่าจะคนในช่วงวัยใดก็ตาม โดยกรดไขมันชนิดนี้มีช่วยพัฒนาการทำงานของสมอง หากได้รับอย่างเพียงพออาจช่วยชะลอความจำเสื่อม นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ากรดไขมันชนิดนี้อาจช่วยบรรเทาความผิดปกติจิตและทางอารมณ์ อย่างภาวะซึมเศร้า และโรคจิตบางชนิดได้ด้วย

ประโยชน์ของน้ำมันปลาในบทความนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านี้ ซึ่งน้ำมันปลายังอาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่น ๆ เช่น ปกป้องจอประสาทตาจากความเสื่อม บำรุงผิวและลดการอักเสบของผิว และบรรเทาการอักเสบจากโรครูมาตอยด์ เป็นต้น

ทั้งนี้ สรรพคุณในบางด้านของน้ำมันปลาอาจยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด จึงควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพในป้องกันและบรรเทาอาการจากโรค อีกทั้งความปลอดภัยในการใช้ในระยะยาว 

น้ำมันปลาหาได้จากไหนบ้าง ?

โดยปกติแล้ว น้ำมันปลานั้นได้จากการรับประทานปลาทะเล ไม่ว่าจะเป็นปลาแซลมอน ปลาทู ปลาอินทรี  ขณะเดียวกันก็พบได้ในปลาน้ำจืด อย่างปลาดุก ปลาช่อน และปลาสวาย แต่อาจมีปริมาณโอเมก้า 3 ที่ต่ำกว่า อีกทั้ง ชนิดของเนื้อปลาจะมีปริมาณไขมันดีเอชเอและอีพีเอแตกต่างกันไป

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น รับประทานอาหารไขมันสูง มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่  มีความเครียดสูง หรือต้องการบำรุงสุขภาพ หากไม่สามารถรับประทานปลาได้เพียงพออาจลองปรึกษาแพทย์ถึงการรับประทานน้ำมันปลาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยน้ำมันปลาบางยี่ห้ออาจมีการเพิ่มสารอาหารอื่นลงไปเพื่อเสริมสุขภาพในด้านอื่น ๆ อย่างวิตามินอี หรือแอสตาแซนธินที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีคุณสมบัติในการช่วยต้านการอักเสบของอวัยวะและหลอดเลือด จึงอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกทางหนึ่ง 

รับประทานน้ำมันปลาอย่างไรให้ปลอดภัย ?

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ คนทั่วไปให้รับประทานปลาประมาณ 1-2 หน่วยบริโภคต่อสัปดาห์ เนื่องจากมีความกังวลว่าอาจได้รับสารพิษปนเปื้อนอย่างสารปรอทจากปลาบางชนิด แต่น้ำมันปลาในรูปแบบอาหารเสริมนั้นทำให้หมดห่วงในเรื่องนี้ได้ ในกรณีต้องการรับประทานน้ำมันปลาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรรับประทานในปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ เนื่องจากหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงได้น้อยมากและค่อนข้างปลอดภัย แต่บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ ถ่ายเหลว หรือแสบร้อนกลางอกได้ และหากรับประทานมากเกินไป จะทำให้เกิดเลือดออกได้ง่าย นอกจากนี้ ยังควรเลือกซื้อน้ำมันปลาและรับประทานอย่างเหมาะสม เช่น

  • แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร หากมีโรคประจำตัว ตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างการใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพร
  • เลือกน้ำมันปลาที่มีดีเอชเอและอีพีเอรวมกันราว 200-500 มิลลิกรัมต่อวัน
  • หากใช้น้ำมันปลาเป็นการรักษาเสริมหรือใช้ในการบำรุงครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมก่อนเสมอ
  • พิจารณาเลือกซื้อน้ำมันปลาที่มีสารอาหารอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะสารอาหารที่อาจช่วยเสริมสุขภาพหรือบรรเทาอาการของโรคได้
  • ควรเลือกน้ำมันปลาที่สกัดมาจากปลาทะเลน้ำลึกที่มีคุณภาพ
  • เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือและมีเภสัชกรให้คำแนะนำ

เพียงเท่านี้ ร่างกายก็จะได้รับกรดไขมันดีในปริมาณที่เพียงพอ นอกจากน้ำมันปลาแล้ว ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่น ออกกำลังอย่างเหมาะสม งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง