เครื่องเทศเป็นวัตถุดิบสำคัญในการปรุงรสอาหาร แต่นอกจากจะเพิ่มรสชาติและกลิ่น เครื่องเทศยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยและบำรุงสุขภาพอีกด้วย โดยแต่ละชนิดจะมีสรรพคุณที่แตกต่างกัน
เครื่องเทศ คือ วัตถุดิบที่ได้จากการนำส่วนต่าง ๆ ของพืชสมุนไพร เช่น เมล็ด ใบ ลำต้น ราก ดอก ผล หรือส่วนอื่น ๆ ไปตากแห้ง แม้จะผ่านกระบวนการตากแห้งเพื่อยืดอายุ เครื่องเทศก็ยังคงอุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย
ประโยชน์จากเครื่องเทศ
นอกจากรสชาติและกลิ่นที่มีเอกลักษณ์ เครื่องเทศแต่ละชนิดก็มีสรรพคุณที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความหลากหลายของเครื่องเทศ บทความนี้จึงได้ยกตัวอย่าง 5 เครื่องเทศที่มักนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารที่หลายคนบริโภคกันในชีวิตประจำวันพร้อมกับประโยชน์ต่อสุขภาพ
1. ยี่หร่า
ยี่หร่า (Cumin) รู้จักกันในชื่อไทย ๆ ว่า กะเพราควายและโหระพาช้าง เมล็ดและใบของพืชชนิดนี้สามารถนำมาเป็นเครื่องเทศได้ จากข้อมูลวิทยาศาสตร์โดยรวม พบว่า ยี่หร่ามีสรรพคุณเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด บรรเทาอาการอาหารเป็นพิษ และยังเป็นแหล่งของธาตุเหล็กช่วยในการบำรุงเลือดและเสริมการเจริญเติบโตในเด็ก
สรรพคุณในการลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดของยี่หร่าอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคอ้วน เพราะการศึกษาชิ้นหนึ่งแบ่งผู้ป่วยโรคอ้วนออกเป็นสองกลุ่ม โดยให้กลุ่มหนึ่งรับประทานโยเกิร์ตผสมผงยี่หร่าเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนอีกกลุ่มบริโภคโยเกิร์ตเพียงอย่างเดียว ผลการศึกษาชี้ว่ากลุ่มที่บริโภคผงยี่หร่าร่วมด้วยมีปริมาณไขมันในร่างกาย น้ำหนัก และสัดส่วนที่ต่ำกว่าอีกกลุ่ม และยังบอกด้วยว่าปริมาณไขมันดีในกลุ่มที่บริโภคผงยี่หร่าสูงขึ้น ขณะที่ไขมันไม่ดีลดลง
ดังนั้นการบริโภคอาหารที่มีเครื่องเทศอย่างยี่หร่าเป็นส่วนประกอบก็อาจช่วยบรรเทาอาการและเสริมสุขภาพผู้ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักและไขมัน หรืออาการเจ็บป่วยในข้างต้นได้
2. ขมิ้น
รากของต้นขมิ้น (Turmeric) เป็นส่วนที่นำมาทำอาหารและเครื่องเทศ ขมิ้นขึ้นชื่อในเรื่องการบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับท้องไส้ อย่างอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องผูก โดยขมิ้นยังมีสรรพคุณต้านการอักเสบของร่างกาย ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในผู้ที่มีอาการอักเสบหรือปวดบวม เช่น ปวดกล้ามเนื้อ โรคลำไส้อักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคข้ออักเสบ หรือโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบเรื้อรังอื่น ๆ การบริโภคขมิ้นและการได้รับสารเคอร์คิวมินที่อยู่ในขมิ้นอาจช่วยบรรเทาภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) น้ำตาลในเลือดสูง และไขมันในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวานได้อีกด้วย
ไม่เพียงสรรพคุณต่อร่างกายเท่านั้น สารเคอร์คิวมินในขมิ้นอาจลดความเสี่ยงของความผิดปกติเกี่ยวกับสมอง งานวิจัยหนึ่งพบว่าคุณสมบัติต้านการอักเสบและเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของเคอร์คิวมินอาจลดความเสียหายของเซลล์สมองจากการอักเสบ และช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์สมองได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดโรคสมอง อย่างโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม
3. กระวาน
กระวาน (Cardamom) เป็นเครื่องเทศที่นำมาใช้ทั้งใบและเมล็ด มีฤทธิ์ขับลม บำรุงเลือด ช่วยบรรเทาอาการแผลในกระเพาะอาหารและอาการทางลำไส้อื่น ๆ และเชื่อกันว่ามีฤทธิ์ต้านการเติบโตของเชื้อโรคบางชนิดที่เป็นสาเหตุของกลิ่นปาก โดยกระวานมีสารต้านอนุมูลอิสระเป็นส่วนประกอบ จึงช่วยลดการอักเสบและเสียหายของเซลล์ที่เกิดจากโรคเรื้อรังชนิดต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง
กระวานยังอาจมีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease: NAFLD) ไขมันพอกตับเป็นภาวะที่มีไขมันสะสมภายในตับมากเกิน ส่งผลให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการเผาผลาญและทำให้ตับอักเสบ เสียหาย มีอาการตับแข็ง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
โดยการศึกษาได้ทดลองให้ผู้ป่วย NAFLD แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งรับประทานสารสกัดจากกระวานเขียว ( Green cardamom) 500 มิลลิกรัมพร้อมอาหาร 3 มื้อ ติดต่อกัน 3 เดือน ส่วนอีกกลุ่มรับประทานยาหลอก ภายหลังพบว่ากลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากกระวานเขียวมีระดับของสารที่ทำให้เกิดการอักเสบลดลง และสารที่มีฤทธิ์ชะลอการเสื่อมของเซลล์เพิ่มสูงขึ้น แม้การศึกษานี้อาจบ่งบอกว่าการบริโภคกระวานเขียวเป็นประจำอาจช่วยบรรเทาการอักเสบและชะลอการเสื่อมของเซลล์ภายในร่างกาย แต่ในการทดลองผู้ป่วย NAFLD ไม่ได้ใช้เพียงสารสกัดจากกระวานเท่านั้น แต่ยังปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เหมาะกับการเจ็บป่วยด้วย จึงไม่อาจสรุปแน่ชัดได้ว่าการบริโภคกระวานเพียงอย่างเดียวสามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคดังกล่าวหรือไม่
4. อบเชย
อบเชย (Cinnamon) เป็นเปลือกไม้ชนิดหนึ่ง มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะสารโพลีฟีนอล (Polyphenol) ที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบและชะลอการเสื่อมของเซลล์ ซึ่งอาจลดความเสี่ยงของโรคได้หลายชนิด สารอาหารในอบเชยยังมีสรรพคุณต้านและบรรเทาโรคเบาหวานด้วยการลดน้ำตาลในเลือดและกระตุ้นการตอบสนองต่ออินซูลิน นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ เช่น ลดความเสี่ยงของโรคระบบประสาท ขับลม แก้จุกเสียด ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่อาจเป็นสาเหตุของกลิ่นปากและฟันผุ
จากการศึกษาพบว่า การได้รับสารอาหารในอบเชยติดต่อกันหลายสัปดาห์อาจลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการบริโภคอาหารไขมันสูงได้ เนื่องจากอบเชยมีสารที่มีคุณสมบัติช่วยลดปริมาณของคอเลสเตอรอล (Cholesterol) และไขมันชนิดไม่ดี หรือ LDL (Low-Density Lipoprotein) ในเลือด และอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาคุณสมบัติดังกล่าวในมนุษย์ยังค่อนข้างจำกัด
5. ชะเอมเทศ
หลายคนอาจรู้จักชะเอมเทศ (Licorice) จากผลิตภัณฑ์ยาอมแก้ไอและเจ็บคอ เพราะชะเอมเทศมีสรรพคุณทางยาคือ ลดการระคายเคืองจากการอักเสบ เพิ่มความชุ่มชื่นในลำคอ ลดความข้นหนืดของน้ำลายจึงอาจบรรเทาอาการเสมหะเหนียวข้นได้ รากของชะเอมเทศยังอาจช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นปัจจัยของแผลในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก กรดไหลย้อนจากอาการอาหารไม่ย่อย และด้วยฤทธิ์ต้านเชื้อโรค ชะเอมเทศยังอาจลดการเกิดของฟันผุได้อีกด้วย
เครื่องเทศข้างต้นนั้นมีสรรพคุณที่หลากหลาย มีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน โดยอาจแบ่งตามสรรพคุณได้ดังนี้
- ต้านการอักเสบ
- ต้านเชื้อโรค
- ลดน้ำตาลในเลือด
- ลดไขมันในเลือด
- ลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังบางชนิด
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของสุขภาพเหล่านี้เป็นเพียงผลลัพธ์จากการศึกษาทดลองที่มีความแตกต่างกันในหลายด้าน เช่น รูปแบบการทดลอง กลุ่มตัวอย่าง ปริมาณ ชนิดของสารอาหาร และผลการทดลองในแต่ละคน อีกทั้งบางการศึกษามีผลข้างเคียงในการทดลองจึงไม่สามารถยืนยันสรรพคุณและความปลอดภัยที่แน่ชัดได้
การบริโภคเครื่องเทศชนิดใดชนิดหนึ่งในปริมาณมากติดต่อกันนานอาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงได้ ดังนั้นควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและหลากหลายประเภท แทนการรับประทานที่เน้นปริมาณเพื่อหวังผลการรักษาเพราะอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสุขภาพ เช่น คนท้อง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่ต้องใช้ยาเป็นประจำ หากเป็นโรคหรือเจ็บป่วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม
เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น อาจเพิ่มเครื่องเทศลงไปในมื้ออาหารหรืออาจใช้แทนเครื่องปรุงเพื่อรสชาติและกลิ่นของอาหารได้