ปวดท้องใต้สะดือ รู้จัก 12 สาเหตุและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

ปวดท้องใต้สะดือ เป็นอาการปวดบริเวณท้องน้อยหรือบริเวณใต้สะดือจนถึงกระดูกหัวหน่าว โดยบริเวณดังกล่าวมีอวัยวะที่สำคัญ เช่น ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่ง รังไข่ มดลูก ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และเยื่อบุช่องท้อง อาการปวดท้องใต้สะดืออาจเกิดจากหลากหลายสาเหตุ เช่น อาหารไม่ย่อย ปวดประจำเดือน ไส้ติ่งอักเสบ และการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

ปวดท้องใต้สะดืออาจรู้สึกปวดเกร็ง ปวดตื้อ หรือรู้สึกเจ็บ โดยอาการปวดอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันหรือค่อย ๆ ปวดมากขึ้น ซึ่งอาการปวดทั้ง 2 รูปแบบอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น การรู้จักสาเหตุของอาการปวดท้องใต้สะดืออาจช่วยให้สามารถหารับมือและวิธีการจัดการอาการปวดได้อย่างเหมาะสม

Pain under belly button

สาเหตุของปวดท้องใต้สะดือ

อาการปวดท้องใต้สะดืออาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย ก๊าซหรือลมในลำไส้เยอะ ท้องเสียและท้องผูก นอกจากนี้ปวดท้องใต้สะดืออาจเกิดจากโรคหรืออาการต่าง ๆ เช่น

1. ไส้ติ่งอักเสบ

ไส้ติ่งคืออวัยวะที่อยู่บริเวณล่างด้านขวาของช่องท้อง มีลักษณะเป็นท่องอกออกมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนต้น เมื่อมีเศษอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดตันอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและอักเสบได้ โดยไส้ติ่งอักเสบอาจก่อให้เกิดอาการปวดท้องรอบสะดือหรือปวดท้องใต้สะดือฝั่งขวา มีไข้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องเสียหรือท้องผูก

หากไส้ติ่งแตก เชื้อโรคอาจแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้อง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไส้ติ่งอักเสบอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

2. ลำไส้แปรปรวน (IBS)

โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่อาจส่งผลให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องใต้สะดือ ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืดและมีมูกในอุจจาระ โดยลำไส้แปรปรวนเป็นอาการเรื้อรัง อาจเกิดขึ้นนานหลายวัน หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และอาจดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ โรคลำไส้แปรปรวนยังไม่มีวิธีรักษา แต่การกินยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้

3. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD)

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเป็นโรคทางเดินอาหารชนิดร้ายแรงที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการที่ผนังลำไส้ได้รับความเสียหายและเกิดการอักเสบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดท้องด้านล่างหรือปวดท้องใต้สะดือฝั่งขวา น้ำหนักลดลง ท้องเสียและอุจจาระปนเลือด

4. ลำไส้บิดเกลียว (Volvulus)

ปวดท้องใต้สะดืออาจเป็นอาการเริ่มแรกของโรคลำไส้บิดเกลียว โดยลำไส้บิดเกลียวเกิดขึ้นเมื่อส่วนหนึ่งของลำไส้เกิดการบิดหมุนรอบตัวเอง ก่อให้เกิดลำไส้อุดตันและลำไส้ขาดเลือดได้ นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นเพิ่มเติม เช่น คลื่นไส้ อาเจียนเป็นสีเหลืองหรือเขียวเนื่องจากมีน้ำดีปนอยู่ ท้องบวม ท้องอืด และอุจจาระปนเลือด

5. นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะเกิดจากการสะสมของแร่ธาตุต่าง ๆ จนกลายเป็นก้อนแข็งหรือก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ปัสสาวะค้าง ปัสสาวะเข้มข้มเนื่องจากดื่มน้ำน้อยเกินไป ทางเดินปัสสาวะอุดกั้น หรือต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

โดยอาการมักเกิดขึ้นเมื่อนิ่วขัดขวางการไหลของปัสสาวะ อาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น ปวดท้องใต้สะดือ เจ็บแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะมีสีขุ่นหรือมีสีเข้ม และปัสสาวะปนเลือด

6. ทางเดินปัสสาวะอักเสบ

ทางเดินปัสสาวะอักเสบเกิดขึ้นเมื่ออวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรีย โดยอวัยวะที่มักเกิดการติดเชื้อ เช่น ไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อไต โดยการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ และกรวยไตอักเสบ

ทางเดินปัสสาวะอักเสบอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดท้องใต้สะดือหรือปวดท้องน้อย ปวดเอวหรือหลังส่วนล่าง ปัสสาวะมีสีขุ่นและมีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะบ่อย เจ็บแสบขณะปัสสาวะ และปัสสาวะมีเลือดปน

7. โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis)

ถุงผนังลำไส้คือถุงหรือกระเปาะขนาดเล็กที่อยู่บริเวณเยื่อบุลำไส้ใหญ่ เมื่อถุงผนังลำไส้อักเสบอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดท้องใต้สะดือฝั่งซ้ายนานหลายวัน กดท้องแล้วเจ็บ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้และท้องผูก

8. ปวดประจำเดือน

ปวดท้องใต้สะดือหรือปวดท้องน้อยอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการมีประจำเดือน โดยอาการปวดเกิดจากการบีบตัวของมดลูก นอกจากนี้อาจเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหลังส่วนล่าง อ่อนเพลีย ท้องเสีย คลื่นไส้และอาเจียน

ทั้งนี้ อาการปวดท้องประจำเดือนอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ (PID) เนื้องอกในมดลูก และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ซึ่งอาการปวดประจำเดือนชนิดนี้มักเกิดก่อนมีประจำเดือน หรือปวดยาวนานกว่าอาการปวดประจำเดือนจากการบีบตัวของมดลูก

9. การตั้งครรภ์นอกมดลูก

อาการปวดท้องใต้สะดืออาจมีสาเหตุจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วฝังตัวนอกมดลูก นอกจากอาการปวดท้องใต้สะดือหรือปวดท้องน้อยแล้ว อาจเกิดอาการอื่นเพิ่มเติม เช่น ปวดบริเวณไหล่หรือคอ มีเลือดออกทางช่องคลอด ตกขาวสีน้ำตาล เจ็บขณะปัสสาวะ วิงเวียนศีรษะและหมดสติ

10. ต่อมลูกหมากอักเสบ

อาการปวดท้องใต้สะดือในผู้ชายอาจเกิดจากต่อมลูกหมากอักเสบ โดยต่อมลูกหมากจะอยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะและมีหน้าที่สร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ หากเกิดการอักเสบอาจก่อให้เกิดอาการปวดท้องใต้สะดือ ขาหนีบ อวัยวะเพศ หรือต้นขา มีไข้ รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะมีเลือดปนและมีสีขุ่น

11. ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal hernia)

ปวดท้องใต้สะดืออาจเกิดจากไส้เลื่อนขาหนีบ ซึ่งเป็นอาการที่มักพบบ่อยในผู้ชาย โดยลำไส้เล็กอาจเคลื่อนผ่านช่องท้องส่วนล่างและติดอยู่บริเวณขาหนีบ ทำให้เกิดก้อนหรือรอยนูนบริเวณขาหนีบ สะโพก และท้องส่วนล่างหรือใต้สะดือ ซึ่งก้อนหรือรอยนูนเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกปวดและแสบร้อน โดยอาการอาจรุนแรงขึ้นเมื่อยกของ ไอ หรือยืน

12. มะเร็ง

มะเร็งลำไส้ (Colorectal cancer) หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดท้องใต้สะดือ ถึงแม้ในระยะแรกของมะเร็งลำไส้อาจยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่ออาการรุนแรงขึ้น อาจมีอาการดังนี้ ปวดท้องใต้สะดือเรื้อรัง ท้องเสีย ท้องผูก หรือรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด และน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

นอกจากนี้ ปวดท้องใต้สะดืออาจเกิดจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ  (Bladder cancer) โดยอาจมีอาการต่าง ๆ ปัสสาวะปนเลือดหรือปัสสาวะมีสีแดงหรือน้ำตาล ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเจ็บแสบ ปวดท้องน้อยหรือปวดท้องใต้สะดือ เจ็บกระดูก น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ และขาบวม

ปวดท้องใต้สะดือกับสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการปวดท้องใต้สะดือและกำลังตั้งครรภ์ กำลังรักษามะเร็ง หรือเพิ่งได้รับบาดเจ็บบริเวณท้อง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที หากอาการปวดท้องใต้สะดือไม่ดีขึ้นและรุนแรงขึ้น มีสัญญาณของอาการผิดปกติหรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • มีไข้สูง คลื่นไส้และอาเจียนอย่างต่อเนื่อง
  • ท้องบวมและเจ็บเมื่อกด
  • เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ
  • อุจจาระหรือปัสสาวะมีเลือดปน
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • เบื่ออาหารหรือน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

การรักษาปวดท้องใต้สะดืออาจขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงอาจรักษาได้ด้วยตัวเอง เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารหากมีลมในลำไส้หรืออาหารไม่ย่อย หากมีอาการปวดประจำเดือน อาจกินยาแก้ปวดหรือประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการปวด หากอาการปวดท้องใต้สะดือเกิดจากปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง แพทย์อาจใช้ยาหรือการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหรืออาการที่เป็นสาเหตุ