ปวดสะโพก เป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เริ่มมีอายุมากขึ้น โดยปัญหานี้อาจเกี่ยวข้องได้กับอวัยวะหลายส่วน ตั้งแต่ข้อต่อสะโพก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เนื้อเยื่ออ่อนบริเวณข้อต่อสะโพก ไปจนถึงบางกรณีที่อาจเป็นผลมาจากโรคหรือภาวะผิดปกติจากอวัยวะบริเวณอื่นของร่างกาย
อาการปวดสะโพกเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยแต่ละสาเหตุก็จะส่งผลให้เกิดอาการร่วมอื่น ๆ และมีวิธีรับมือที่แตกต่างกันไป ซึ่งบางสาเหตุก็อาจหายได้เอง ในขณะที่บางสาเหตุก็ควรรีบได้รับการดูแลจากแพทย์ ในบทความนี้จึงได้รวบรวมสาเหตุที่มักพบได้ของอาการปวดสะโพก และวิธีการรับมือกับอาการปวดสะโพกมาให้ทุกคนได้ศึกษากัน
สาเหตุของอาการปวดสะโพกที่พบบ่อย
อาการปวดสะโพกสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างของสาเหตุที่พบได้บ่อยมีดังต่อไปนี้
1. การอักเสบ
การใช้งานสะโพกที่หนักเกินไป การออกกำลังกายด้วยท่าทางซ้ำ ๆ หรือการเกิดอุบัติเหตุบริเวณสะโพกอาจสร้างความเสียหายให้กล้ามเนื้อ กระดูก หรือเส้นเอ็นบริเวณนี้ได้ โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจพบอาการบวม หรือมีรอยฟกช้ำบริเวณสะโพกร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักพบว่าอาการปวดสะโพกมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน
2. ข้อเสื่อม (Osteoarthritis)
ข้อเสื่อมเป็นภาวะที่กระดูกอ่อนที่อยู่บริเวณส่วนปลายของกระดูกหรือบริเวณข้อเสื่อมสภาพลง โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิงและผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่มีภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
นอกจากอาการปวดสะโพกแล้ว ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักพบอาการตึงบริเวณข้อ โดยเฉพาะหลังตื่นนอนหรือหลังจากที่ไม่ได้ขยับร่างกายเป็นระยะเวลานาน สูญเสียความยืดหยุ่นของร่างกาย และรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงกระดูกเสียดสีกัน
3. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไป โดยการไปทำลายเนื้อเยื่อและข้อต่อให้เกิดความเสียหาย โดยโรคนี้สามารถเกิดได้ในทุกช่วงวัย แต่อาจจะพบได้มากในช่วงวัยกลางคน โดยเฉพาะผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้ ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่มีภาะอ้วน
โดยโรคนี้มักส่งผลให้เกิดอาการหลายอย่างนอกจากปวดสะโพก เช่น รู้สึกร้อนบริเวณข้อต่อ ข้อต่อบวม หรือรู้สึกตึงบริเวณข้อต่อผิดปกติหลังจากตื่นนอนหรือหลังจากที่ไม่ได้ขยับตัวเป็นระยะเวลานาน
4. ข้ออักเสบจากการติดเชื้อ (Infectious Arthritis)
ภาวะข้ออักเสบจากการติดเชื้อเป็นภาวะที่ส่งผลให้กระดูกอ่อนถูกทำลาย โดยเชื้ออาจเข้าสู่ร่างกายและข้อต่อได้หลายทาง เช่น รอยแผล การถูกสัตว์ต่าง ๆ กัด การเกิดอุบัติเหตุ
ภาวะนี้มักพบได้ในทารกและผู้สูงวัย โดยอาการอื่นนอกจากปวดสะโพกที่มักพบก็เช่น รู้สึกร้อนบริเวณสะโพก สะโพกบวม มีไข้สูง และหนาวสั่น
5. กระดูกสะโพกหัก
ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักเป็นผู้สูงวัยและผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน โดยผู้ที่มีสะโพกหักจะพบว่าไม่สามารถลงน้ำหนักที่สะโพกหรือไม่สามารถเดินได้ร่วมด้วย ซึ่งควรรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันทีหากมีความเป็นไปได้ว่าสะโพกจะหัก เนื่องจากผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขาตามมาได้
6. ถุงของเหลวบริเวณข้อต่ออักเสบ (Bursitis)
โดยปกติแล้ว ข้อต่อในร่างกายจะมีถุงของเหลวที่ช่วยลดการเสียดสีของกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งหากถุงของเหลวดังกล่าวเกิดการอักเสบ อาจเกิดอาการปวดสะโพกตามมาได้ โดยภาวะนี้มักพบได้ในผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการเกิดอุบัติเหตุบริเวณสะโพก ผู้ที่ใช้งานสะโพกหนักเกินไป และผู้ที่มีภาวะข้ออักเสบ
ทั้งนี้ นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปในข้างต้นแล้ว อาการปวดสะโพกยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นเช่นกัน เช่น มะเร็งกระดูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว และภาวะกระดูกตาย (Osteonecrosis)
แนวทางการรับมือกับอาการปวดสะโพก
สำหรับผู้ที่อาการปวดสะโพกไม่รุนแรง อาจดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้นด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- ประคบเย็นบริเวณที่ปวดเป็นระยะเวลาประมาณ 20 นาที โดยให้ประคบทุก ๆ 2–3 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้เตี้ย เนื่องจากการนั่งในลักษณะนี้อาจส่งผลให้สะโพกรับแรงกดมากเกินไปได้
- เลือกสวมรองเท้าที่ช่วยรองรับน้ำหนักตัวหรือแรงกระแทกได้
- รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด
- พยายามควบคุมน้ำหนักตัว หากมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน
หากลองทำตามวิธีในข้างต้นไปแล้วประมาณ 2–3 วัน แต่อาการปวดสะโพกยังไม่ดีขึ้น อาการปวดสะโพกกลับมาเกิดซ้ำ ๆ อาการปวดหรือตึงสะโพกมักเกิดขึ้นหลังจากนอนหลับ หรือพบว่าอาการปวดสะโพกเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและการนอน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ
แต่สำหรับผู้ที่พบว่าอาการปวดสะโพกรุนแรงจนไม่สามารถเดินได้ อาการปวดสะโพกเกิดขึ้นหลังจากได้รับอุบัติเหตุ กระดูกสะโพกผิดรูป ได้ยินเสียงกระดูกเสียดสีกันบริเวณสะโพก สะโพกบวมฉับพลัน หรือมีอาการในลักษณะไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น รู้สึกร้อนสะโพก สะโพกแดง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจเสี่ยงเกิดภาวะรุนแรงได้