ปวดหัวเป็นอาการที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยพบเจอ อาการปวดหัวนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ อีกทั้งยังแบ่งได้หลายรูปแบบ อาการปวดหัวข้างเดียว (Hemicranial Headache) เป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อย หลายคนมักคิดว่าอาการนี้เป็นสัญญาณของโรคไมเกรน (Migrain) แต่อาจไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป
อาการปวดหัวข้างเดียวอาจเกิดจากความเครียด นอนน้อย ผลข้างเคียงจากยา โรค และอุบัติเหตุไม่ต่างจากการปวดหัวปกติ โดยอาจเกิดขึ้นและหายได้เอง บางครั้งก็อาจเป็นเรื้อรังได้ แต่ไม่ว่าจะแบบไหนก็ไม่ควรปล่อยอาการปวดหัวข้างเดียวไว้โดยไม่ไปตรวจและรักษา เพราะบางทีอาการนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงได้
ปวดหัวข้างเดียวมีกี่แบบ
อย่างที่ได้บอกไปว่า อาการปวดหัวข้างเดียวไม่จำเป็นต้องเป็นอาการของไมเกรนเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงอาการปวดหัวแบ่งออกได้หลายชนิดมาก ๆ แต่ส่วนใหญ่ที่พบมี 3 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้
ปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว (Tension Headaches)
อาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวพบได้บ่อยที่สุด ลักษณะการปวดจะรู้สึกปวดตื้อ ๆ หน่วง ๆ หรือรู้สึกเหมือนศีรษะถูกบีบรัด สาเหตุมักเกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวและใกล้เคียง ส่วนใหญ่มักปวดหัวทั้งสองข้าง แต่ก็อาจปวดข้างเดียวได้เหมือนกัน
อาการปวดจากการเกร็งของกล้ามเนื้ออาจเริ่มจากบริเวณคอ บ่า และไหล่ ลามมายังบริเวณศีรษะและขมับ บางครั้งอาจมีอาการกดเจ็บบริเวณหนังศีรษะด้วย หากปวดเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ นานหลายวัน รู้สึกปวดมากขึ้น หรือพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้ การปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวที่รุนแรงอาจทำให้ไวต่อเสียงและแสงคล้ายกับไมเกรนได้ด้วย
ไมเกรน
ไมเกรนพบได้บ่อยรองลงมาจากอาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวและมักรุนแรงมากกว่า สาเหตุของไมเกรนมาจากเส้นประสาทในผนังหลอดเลือดภายในศีรษะบางส่วนทำงานผิดปกติ อาการปวดไมเกรนอาจปวดได้ทั้งสองข้าง เพียงแต่ส่วนใหญ่มักพบอาการปวดข้างเดียวมากกว่า
บางครั้งอาจปวดที่ข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงลามไปอีกข้าง หรือปวดสองข้างสลับกัน มักเริ่มปวดบริเวณกระบอกตา จากนั้นค่อยลามไปยังศีรษะและใบหน้า โดยจะรู้สึกปวดตุบ ๆ (Throbbing Pain) อย่างรุนแรงหรือรู้สึกถึงอาการปวดตามจังหวะการเต้นของชีพจร (Pulsating Sensation) อาการปวดอาจอยู่ได้นานราว 4–72 ชั่วโมง
อีกทั้งยังอาจพบอาการอื่น ๆ เช่น น้ำตาไหล คัดจมูก ไวต่อแสงและเสียงมากขึ้น ตาพร่า เห็นแสงวูบวาบ ได้ยินเสียงในหู และภาวะพาเรสทีเชีย (Paresthesia) ที่อาจส่งผลให้รู้สึกชา คัน หรือแสบร้อนจากความผิดปกติของเส้นประสาท
บางคนอาจพบอาการเหล่านี้ก่อนที่จะเกิดอาการปวดหัวแบบไมเกรนตามมา ซึ่งสัญญาณเตือนนี้เรียกว่า ออร่า (Auras) แต่บางคนอาการปวดไมเกรนอาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสัญญาณเตือน หากรู้สึกปวดจนทนไม่ไหวหรือเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษา
ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headaches)
อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์พบได้น้อย แต่ทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างเดียวอย่างรุนแรง ร่วมกับปวดใบหน้าโดยเฉพาะบริเวณกระบอกตา คอ และหัวไหล่
อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์อาจสังเกตได้จากความถี่ในการเกิด เพราะอาการปวดหัวข้างเดียวชนิดนี้มักเกิดเป็นระยะ 1–8 รอบ/วัน ปวดนานรอบละ 30–60 นาที อาจหายได้ในวันเดียวหรือเป็นต่อเนื่องกันตั้งแต่ 1 วันไปจนถึง 3 เดือน หากเป็นต่อเนื่องจะพบว่าอาการปวดมักเกิดในเวลาเดียวกันของทุกวัน บางคนอาจพบอาการปวดหัวนี้เป็นประจำในช่วงเวลาเดียวกันทุก 1–2 ปี แต่บางช่วงอาจไม่พบอาการปวดหัวได้เช่นกัน
นอกจากนี้อาจพบอาการอื่น อย่างผื่นขึ้น ตาแดง น้ำมูกไหล ตาแดง น้ำตาไหล หนังตาตก อยู่ไม่นิ่ง กระสับกระส่าย (Restlessness) คลื่นไส้อาเจียน ไวต่อแสง เสียง และกลิ่น
ปวดหัวข้างซ้ายและข้างขวาต่างกันไหม และเกิดจากอะไร ?
หลายคนอาจพบกับอาการปวดหัวข้างเดิมซ้ำ ๆ ส่วนบางคนอาจพบว่ามีอาการปวดแบบซ้ายทีขวาที โดยในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่บ่งบอกถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งได้อย่างชัดเจน ซึ่งสาเหตุของอาการปวดหัวข้างเดียวนั้นอาจเกิดได้จากการบาดเจ็บบริเวณศีรษะและสมอง รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
การใช้ชีวิต
พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์บางอย่างอาจกระตุ้นให้กล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือระบบภายในร่างกายบางระบบให้ทำงานผิดปกติจนทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างเดียวได้ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ กินอาหารไม่ตรงเวลา นอนน้อย เกิดความเครียด ได้รับคาเฟอีน กินอาหารสำเร็จรูป ออกกำลังกายหนักเกินไป ใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป นอกจากนี้ บางคนอาจปวดหัวจากการมีเซ็กส์ได้ด้วย
ปัญหาสุขภาพ
อาการปวดหัวข้างเดียวหรือสองข้างเป็นสัญญาณทั่วไปของการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยทั่วไปหรือว่าโรคร้ายแรง เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคไซนัสอักเสบ ภาวะติดเชื้อ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคสมองและระบบประสาท เนื้องอกในสมอง และโรคมะเร็ง เป็นต้น
ปวดหัวข้างเดียวแบบไหนเป็นอันตราย?
หากการปวดหัวของคุณมีลักษณะต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างเหมาะสม เพราะอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยร้ายแรงได้
- ปวดหัวหลังศีรษะกระแทกหรือบาดเจ็บ
- รุนแรงหรือเรื้อรังจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน
- ลักษณะการปวดหัวเปลี่ยนไปจากปกติในคนที่ปวดหัวเรื้อรัง
- เกิดร่วมกับอาการอื่น เช่น เป็นไข้ คอแข็งหรือไม่สามารถก้มเงยคอได้ (Stiff Neck) ไอ แน่นหน้าอก ปวดตาอย่างรุนแรง และมีอาการกดเจ็บบริเวณขมับ
- เกิดร่วมกับอาการทางประสาท เช่น สับสน ความจำเสื่อม สูญเสียการมองเห็น พูดไม่ชัด กล้ามเนื้ออ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ ชาตามร่างกาย ชัก หรือมีบุคลิกเปลี่ยนไป
- เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและรุนแรง โดยเฉพาะอาการปวดที่ทำให้ตื่นขณะนอนหลับ
- มีอายุมากกว่า 50 ปี และเกิดอาการปวดหัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ที่อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงได้เช่นกัน หากปวดหัวมากกว่าปกติควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว กำลังตั้งครรภ์ อยู่ระหว่างการรักษาโรคอื่น เด็ก และผู้สูงอายุ
การดูแลตนเองหากมีอาการปวดหัวข้างเดียว
ในเบื้องต้นอาการปวดหัวข้างเดียวอาจบรรเทาได้ด้วยการนอนพักในห้องที่มืด เย็น และเงียบเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น โดยเฉพาะแสง เสียง และความร้อน งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
หากไม่มีโรคประจำตัวที่ห้ามใช้ยา สามารถใช้ยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาปวดได้ เช่น ยาไอบูโพรเฟ่น (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) หรือกลุ่มยาลดไข้ลดปวด อย่างพาราเซตามอล (Acetaminophen)
สำหรับใครที่เป็นไมเกรน หากเกิดออร่าหรือสัญญาณการปวดไมเกรน ควรใช้ยาแก้ปวดไมเกรนทันทีเพราะจะช่วยบรรเทาอาการได้ดีกว่าตอนที่เกิดอาการปวดแล้ว หากอาการไม่ดีขึ้น แย่ลง และเป็นติดต่อกันหลายวัน ควรไปพบแพทย์
เพื่อป้องกันอาการปวดหัวข้างเดียว ควรพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบทุกมื้อและตรงเวลา หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น แสงแดด แสงหน้าจอ เสียงดัง ความร้อน ความเครียด แอลกอฮอล์ คาเฟอีน และบุหรี่ นอกจากนี้ การรักษาสุขภาพด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมก็อาจช่วยรักษาสุขภาพโดยรวมได้ด้วย