ปวดหัวคิ้ว รู้จักสาเหตุและวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม

ปวดหัวคิ้ว คืออาการปวดบริเวณหัวคิ้วข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น ไมเกรน ไซนัสอักเสบ โดยอาการปวดหัวคิ้วอาจมีลักษณะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยบางรายอาจมีอาการปวดหัวคิ้วเพียงชั่วคราว แต่บางรายอาจมีอาการเกิดขึ้นนานอย่างต่อเนื่อง

ปวดหัวคิ้วมักเป็นอาการที่ไม่อันตราย แต่ในบางครั้งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยอาการปวดหัวคิ้วที่เกิดจากสาเหตุบางประการอาจดีขึ้นได้ด้วยการดูแลตัวเอง และไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยตรง แต่หากอาการปวดหัวคิ้วเกิดขึ้นบ่อยหรือเกิดพร้อมกับอาการผิดปกติบางอย่าง ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

ปวดหัวคิ้ว

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวคิ้ว

ปวดหัวคิ้วเป็นอาการที่มักเกิดจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น 

1. ปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว (Tension Headaches)

ปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวเป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นเมื่อรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ซึ่งอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า คอ และหนังศีรษะตึงตัว โดยผู้ที่มีอาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัวอาจรู้สึกปวดหัวคิ้ว หน้าผาก ขมับ หรือท้ายทอย 

โดยอาการปวดหัวคิ้วลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ และอาจดีขึ้นเมื่อได้พักผ่อน หรืออาจเกิดขึ้นนานประมาณ 30 นาทีหรือต่อเนื่องนานกว่านั้น  

2. ไมเกรน

ไมเกรนเป็นภาวะที่ทำให้มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงบริเวณศีรษะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอาจทำให้รู้สึกปวดหัวคิ้วได้เช่นกัน นอกจากอาการปวดหัวแล้ว ยังอาจมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่น โดยไมเกรนมักเกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ร่างกายอ่อนเพลีย การอยู่ในบริเวณที่มีแสงจ้า

3. ตาล้า

อาการตาล้าอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้สายตาจ้องมองคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นเวลานาน การทำงานในบริเวณที่มีแสงจ้าหรือมีแสงน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้ตาแห้ง และมีอาการตาล้าอื่น ๆ เช่น ปวดหัวคิ้ว ปวดตา ตามัว มีน้ำตาไหล

4. ไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดหัวคิ้ว โดยสาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ภูมิแพ้ ไข้หวัด ซึ่งอาจส่งผลให้ภายในไซนัสบวม และอาจทำให้รู้สึกปวดบริเวณต่าง ๆ เช่น หน้าผาก ระหว่างคิ้ว รอบดวงตา โหนกแก้ม

5. ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache)

ปวดหัวแบบคลัสเตอร์เป็นอาการปวดหัวข้างเดียวอย่างฉับพลัน อีกทั้งยังอาจทำให้รู้สึกปวดบริเวณอื่น ๆ เช่น หัวคิ้ว หน้าผาก หรือรอบดวงตา โดยอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์อาจเกิดขึ้นประมาณ 15 นาที หรืออาจนานถึง 3 ชั่วโมง 

โดยอาการปวดแต่ละครั้งอาจเกิดขึ้นติดต่อกันทุกวันหรือติดต่อกันหลายสัปดาห์ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น อากาศร้อน การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ 

6. ต้อหิน 

ต้อหินเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นเมื่อความดันภายในตาสูงขึ้น และทำให้เส้นประสาทตาเสียหาย ซึ่งอาจนำมาสู่อาการต่าง ๆ เช่น ปวดหัวคิ้ว ปวดหัว ปวดตา ปวดหน้าผาก ตามัว คลื่นไส้ อาเจียน หากมีอาการของต้อหิน ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ต้อหินอาจนำไปสู่อาการตาบอดได้ 

7. หลอดเลือดแดงขมับอักเสบ 

หลอดเลือดแดงขมับอักเสบเป็นภาวะที่ผนังหลอดเลือดแดงบริเวณศีรษะเกิดการอักเสบ ซึ่งการอักเสบอาจทำให้เส้นเลือดแดงบวมและตีบตัน จึงอาจทำให้เลือดไหลผ่านบริเวณดังกล่าวลดลง โดยอาจสังเกตภาวะหลอดเลือดแดงขมับอักเสบได้จากอาการต่าง ๆ เช่น ปวดหัวคิ้ว ปวดขมับ ปวดกราม มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น เจ็บบริเวณหนังศีรษะ 

ควรรีบไปพบแพทย์ หากมีอาการหลอดเลือดแดงขมับอักเสบเกิดขึ้น เพราะภาวะนี้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตราย เช่น ตาบอด โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 

วิธีการรักษาอาการปวดหัวคิ้วอย่างเหมาะสม

อาการปวดหัวคิ้วสามารถรักษาเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ด้วยการพักผ่อน และกินยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยาแอสไพริน นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดหัวคิ้วยังสามารถดูแลตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดหัวคิ้วรุนแรงขึ้น เช่น 

  • ใช้นิ้วมือนวดเบา ๆ เป็นวงกลมบริเวณใบหน้า หัวคิ้ว รอบดวงตา หรือขมับ 
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนหรือครอบครัว
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ รวมไปถึงมลภาวะต่าง ๆ และฝุ่นควัน ซึ่งอาจทำให้อาการไซนัสอักเสบรุนแรงขึ้น
  • นอนหลับภายในห้องที่มืด ไม่มีเสียงรบกวน และอาจประคบเย็นบริเวณหน้าผากหรือดวงตา เพื่อบรรเทาอาการปวดหัวคิ้วหรือปวดหัวที่เกิดจากไมเกรน
  • งดสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์

หากอาการปวดหัวคิ้วไม่ดีขึ้น อาการปวดหัวคิ้วมีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรืออาการปวดหัวคิ้วเกิดขึ้นร่วมกับปัญหาในการมองเห็น ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม โดยแพทย์อาจทำการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาตามสาเหตุของอาการปวดหัวคิ้วต่อไป